สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก  ขณะยังทรงพระเยาว์และดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหิตลอดุลเดช  ในรัชกาลที่  ๕  นั้น  ได้ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง  ทรงมีผลการเรียนดีเด่น  แต่ไม่ปรากฏว่าได้ทรงศึกษาด้านศิลปะเป็นพิเศษหรือไม่พุทธศักราช  ๒๔๔๖  เมื่อพระชนมายุได้  ๑๒  พรรษา  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระบรมชนกนาถ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์  รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ  เฉลิมพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช  กรมขุนสงขลานครินทร์  ต่อมาได้เสด็จไปทรงศึกษาในทวีปยุโรป  เมื่อพุทธศักราช  ๒๔๔๘  พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  กรมขุนนครราชสีมา  และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย

                                    ไปรษณียบัตรที่ทรงระบายสีส่งถึงสมเด็จพระราชชนนี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448

“รูปนี้หม่อมฉันรบายเอง  ครูอาจซื้อสมุดมีโป๊สก๊าดที่ไม่มีสีแลมีแบบทาสี
                                ติดอยู่แล้วให้รบายเอาเอง  สนุกดีด้วย  ถูกกว่าซื้อโป๊สก๊าดธรรมดาด้วย”

   ที่มา : ฉวีงาม มาเจริญ. 2552,6      

ระหว่างที่ประทับอยู่ในทวีปยุโรปนั้น  เป็นช่วงที่ทรงมีโอกาสได้สร้างสรรค์งานศิลปะ  เนื่องจากได้ทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ  อันมีความงดงามน่าประทับใจทั้งสภาพทางธรรมชาติ  สถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  จิตรกรรม  และงานประณีตศิลป์ต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบันดาลใจให้ผู้มีใจรักศิลปะทุกคนเกิดความคิดในการสร้างสรรค์  ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก  และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย  ประทับกับครอบครัวนายคอลเชสเตอร์-วีมส์  (Mr. Colchester-Wemyss)  ณ  เมืองเวสต์เบอรี  ประเทศอังกฤษ  เพื่อทรงศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก่อนเข้าศึกษาในโรงเรียนนั้นนายคอลเชสเตอร์วีมส์  ได้จ้างครูพิเศษมาสอนการวาดเขียนถวาย  และได้รายงานมายังประเทศไทยว่า
                “...ทั้งสองพระองค์ทรงวาดรูปเก่ง  แต่สำหรับทูลหม่อมมหิดลนั้นทรงมีพรสวรรค์  ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าถึงขั้นอัจฉริยะ  และเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างมากว่าวันหนึ่งคงจะทรงเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง”

 
PREVIOUS