การประโคมย่ำยาม เป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และการประโคมย่ำยามเวลามีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่
เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างหอนาฬิกาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหน้าพระคลังแสง ชั้นล่างแขวนระฆังหล่อเป็นโลหะสีแดง มีพนักงานตีระฆังบอกเวลาเมื่อพนักงานตีระฆังจบ พนักงานประโคมนุ่งกางเกงมัสรู่เสื้อเข้มขาบ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุกเป่าแตรงอน ๒ นาย แตรฝรั่ง ๒ นาย ย่ำมโหระทึก ๑ นาย ประโคมย่ำยาม
สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รื้อหอนาฬิกาและพระคลังแสงเพื่อใช้พื้นที่สร้างพระที่นั่งบรมพิมาน ได้ย้ายระฆังมาแขวนที่ซุ้มป้อมยามประตูเหล็กเพชร ประตูทางเข้าพระที่นั่งบรมพิมาน กำหนดให้ทหารรักษาวังเป็นผู้ตีระฆัง และพนักงานเครื่องสูงทำหน้าที่ประโคมย้ำยามตามราชประเพณี
ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ประทับรักษาพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสนาบดีวังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ระงับการตีระฆังและการประโคมย่ำยาม เพื่อมิให้เสียงดังอันจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท จึงเว้นการปฏิบัติแต่นั้นมา ยังมีแต่ราชประเพณีประโคมย้ำยามพระบรมศพและพระศพ |