การสร้างพระเมรุ  ณ  ท้องสนามหลวง

ที่มา : สมภพ ภิรมย์. 2528,336

การสร้างพระเมรุมาศ  พระเมรุ  สำหรับถวายพระเพลิง  จะมี  “ขนาดและรูปแบบ”  งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย  เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง  โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงสันนิษฐานคติการสร้าง ว่า  “พระเมรุ”  ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ  มีโขลนทวาร  (โคบุระ)  ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน  ปักราชวัติเป็นชั้น ๆ  ลักษณะประดุจเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม  จึงเรียกเลียนชื่อว่า  พระเมรุภายหลังเมื่อทำย่อลง  แม้ไม่มีอะไรล้อม  เหลือแต่ยอดแหลม ๆ  ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย  คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล  มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา  อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขาสัตตบริภัณฑ์  ดังนั้น  จึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ถึงภพแห่งความดีงาม  อันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั้นเอง  สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง  จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ  ดังเช่น  โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์  บนหลังตั้งลังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์  เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ

ที่มา : สมภพ ภิรมย์. 2528,350
PREVIOUS    NEXT