ประวัติความเป็นมา
มะโย่ง
มะโย่งเป็นศิลปะการแสดงละครอย่างหนึ่งของไทยมุสลิม กล่าวกันว่าเริ่มแรกมีขึ้นในรั้วในวังเมืองปัตตานี
เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว จากนั้นแพร่หลายไปทางกลันตัน
เกี่ยวกับคำว่า “มะโย่ง” ยังไม่มีใครทราบความหมายทางภาษา หรือรากคำที่แน่ชัดบางคนสันนิษฐานมาจากคำว่า
“มัคฮียัง” (Mak-Hiang) แปลว่าเจ้าแม่โพสพเพราะพิธีทำขวัญข้าวในนาของชาวมลายูสมัยนั้นมีหมอผีทรงวิญญาณเจ้าแม่ เพื่อขอความสวัสดิมงคลมาสู่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันมีการร้องรำบวงสรวง ซึ่งภายหลังกลายเป็นละครประเภทหนึ่ง
ก่อนการแสดงมะโย่งทุกครั้งจะมีบอมอร์ (Bormor) คือผู้แสดงเป็นคนทรงหรือคนกลาง ระหว่างเดวามูดอ
(เทพบุตร) กับเปาะโย่ง (พระเอก) มีที่น่าสังเกตอีกอย่างคือผู้แสดงมะโย่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงยกเว้นตัวตลกชาย ลักษณะคล้ายละครในครั้งอยูธยาซึ่งเริ่มต้นจากในวังเช่นเดียวกัน
เมื่อปี ๒๑๕๕ ชาวยุโรปคนหนึ่งชื่อปีเตอร์ ฟลอเรส ได้รับเชิญจากนางพญาตานี หรือเจ้าเมืองปัตตานีสมัยนั้น ให้ไปร่วมเป็นเกียรติในงานเลี้ยงต้อนรับสุลต่านรัฐปาหัง งานดังกล่าว ปีเตอร์เล่าว่ามีการละเล่นอย่างหนึ่ง ผู้แสดงเป็นหญิง
ลักษณะการแสดงคล้าย ๆ นาฏศิลปะชวา ผู้แสดงแต่งกายแปลกและน่าดูมาก ศิลปะดังกล่าวนี้คงหมายถึงมะโย่ง ซึ่งส่วนใหญ่จัดแสดงในงานเพื่อให้อาคันตุกะได้ชื่นชม
โรงหรือเวทีแสดง
สมัยโบราณมะโย่งเป็นที่นิยมในชนชั้นสูงของมลายู การแสดงครั้งหนึ่ง ๆ ใช้เวลาระหว่าง ๔ – ๗ คืน ใช้สถานที่ในวังหรือในบ้านขุนนางโดยเฉพาะ ห้องโถงที่แสดงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีฝาเพียง ๓ ด้าน อีกด้านหนึ่ง
เปิดโล่ง ตรงฝาด้านหนึ่งทำเป็นประตูเข้าออกของรายา หรือขุนนางตลอดจนผู้ติดตาม อีกด้านหนึ่งเป็นทางเข้าออกของนักแสดงและนักดนตรีศิลปินต่างนั่งตรงกลางพื้นห้องซึ่งทำด้วยไม้ขัดเรียบ ผู้ชมนั่งล้อม
รอบ ๓ ด้าน ทุกคนมีหมอนอิง ส่วนสาวสนม และคนรับใช้นั่งดูด้านที่เปิดโล่งและนั่งต่ำกว่าที่รายาประทับ
การแสดงมะโย่งดังกล่าวนี้ไม่มีฉากและม่าน มะโย่งจะแสดงไปเรื่อย ๆ ไม่มีการหยุดจนกว่ารายาจะบอกให้ยุติ เพราะพระองค์จะเสด็จกลับไปพักผ่อน
ปรกติโรงแสดงมะโย่งเรียก ปากง (Pagong) โดยปลูกกลางลานอย่างง่าย ๆ ไม่ยกพื้นแต่อย่างใด ผู้แสดง
นั่งบนเสื่อ ถ้าเป็นที่นั่งเปาะโย่ง หรือมะโย่ง เรียกว่าบาไล (Balai) สมัยโบราณมักมีมะโย่งแข่งประชันกันปีละครั้ง โดยมีกติกาว่าฝ่ายชนะต้องร้องและรำยอดเยี่ยม และตลกจี้เส้นได้ถึงใจ คณะมะโย่งชนะเลิศได้สมญาว่า “มะโย่งรายา”
คือ มะโย่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าเมือง (ประพนธ์ เรืองณรงค์. 2519,67-68)
|