เครื่องแต่งกายของมะโย่งและปูตรีมะโย่ง  สวมเสื้อผ้าตามแบบอย่างสตรีมลายู  คือสวมเสื้อกือบายา  (Baju Kebaya)  นุ่งผ้าถุงที่เป็นผ้าทอมือดิ้นเงินหรือดิ้นทองที่เรียกว่าผ้าซงกิตซึ่งมีราคาแพง  สวมเครื่องประดับสตรีครบชุดทั้งสร้อยคอ  ต่างหู  แหวน  และกำไล  ทรงผมมักเป็นแบบเกล้ามวยมีปิ่นปักผมที่เป็นดอกไม้ไหวเสียบไว้สวยงาม  หรืออาจเป็นมาลัยดอกไม้สดแทนมีผ้าสไบพาดไหล่
                ส่วนเครื่องแต่งกายของนักแสดงประกอบฝ่ายหญิง  พวกดายัง-ดายัง  หรืออีนัง-อีนัง  แต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามแบบอย่างสตรีมลายูทั่วไป  คือนุ่งผ้าถุงลวดลายบาติก  สวมเสื้อกือบายา  มีเครื่องประดับน้อยชิ้นกว่ามะโย่งและปูตรีมะโย่ง  ทรงผมเกล้ามวย  ส่วนตัวประกอบฝ่ายชาย  เช่น  ตัวตลกหรือพรานอาจจะนุ่งกางเกงหรือโสร่งลายตาอย่างผู้ชายมลายูทั่วไป  มีผ้าคาดเอวเหน็บมีดโกลกที่เอว  สมัยก่อนจะสวมหน้ากาก  ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว


ที่มา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.2540, 101

นักแสดงทุกคนจะไม่สวมรองเท้าในการแสดง (๘)   เพราะธรรมเนียมโบราณนั้นแสดงหน้าพระที่นั่ง  ถือว่าไม่สุภาพ  และถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่สวมรองเท้า  คงเป็นเพราะโดยมารยาทแล้วคนมลายูจะไม่สวมรองเท้าเข้าบ้านหรือเหยียบบนพรมและเสื่อ  ซึ่งใช้เป็นที่รองนั่ง  เพราะจะทำให้ที่นั่งสกปรกได้
                ๖.  นิทานที่ใช้แสดง  นิทานต้นตำรับที่ใช้แสดงมะโย่งคือเรื่องราฌามูดา  (๙)     (Raja  Muda)  ต่อมามีนิทานอื่น ๆ  อีกมากมาย  นิทานที่เป็นที่นิยมมากคือเรื่อง  ฆนดัง  อึมมัส  (Gondang Emas)  หรือสังข์ทอง  ปูตรี  ตีมุน  (Puteri Timun Muda)  หรือเจ้าหญิงแตงอ่อน  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนิทานประเภทจักร ๆ  วงศ์ ๆ  สาเหตุที่นำนิทานจักร ๆ  วงศ์ ๆ  มาแสดงคงเป็นเพราะมะโย่งเป็นละครรำในราชสำนักมาก่อน  และแสดงให้สุลต่านและชนชั้นสูงในสังคมชมกัน  การใช้นิทาน
จักร ๆ  วงศ์ ๆ  ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในบุญบารมีของสุลต่าน  และเมื่อมะโย่งได้กลายเป็นการละเล่นของชาวบ้านความนิยมในนิทานดังกล่าวก็ไม่หมดไป  เพราะเป็นเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม  ถึงแม้นิทานบางเรื่องจะใช้เวลาในการแสดงนาน  3  วัน  3  คืนติดต่อกันกว่าจะจบเรื่อง  ผู้ชมก็ยังติดตามยอมอดหลับอดนอน
___________________________

                (๘)   Kementeria Kebudayaan, Belia dan Sukan, Malaysia Mak Yong (Kuala Lumpur : Ukusas Printcorp, 1981),   p. 2.
                (๙)  อ่านเพิ่มเติมได้ใน  ประพนธ์  เรืองณรงค์  สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้ : การศึกษาคติชาวบ้านไทยมุสลิม                  จังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส.  หน้า  ๙๓-๙๕

ที่มา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.2540, 98
 
 
PREVIOUS