เครื่องดนตรี
                ดนตรี   ดนตรีประกอบการแสดงมะโย่งมีดังนี้
                ๑.  รือบับ  คล้ายซอทางภาคเหนือ
                ๒.  คานดัง  เป็นชื่อกลองยาวตีได้  ๒  หน้าทีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก

                ๓.  ทาวัค  เป็นชื่อฆ้องมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก  โยงแขวนติด ๆ  กันคล้ายฆ้องวง  ตรงใต้ฆ้องเขาหยอดน้ำไว้นิดหนึ่ง  เพื่อปรับเสียงให้ชัดเจน  และป้องกันไม่ให้ฆ้องร้าว  อีกประการหนึ่งมีเคล็ดว่า  ก่อนเออกเวที  ผู้แสดงจะใช้นิ้วมือขวาจุ่มน้ำที่ฆ้องแล้วหยอดเข้าปากเพื่อทำให้สุ้มเสียงดีตลอดการแสดง  นอกจากนั้นที่เชื่อกแขวนฆ้องเขาผูกด้ายดิบ  ธงชายเล็ก ๆ  ๓  ผืน  และดอกไม้เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
                ๔.  จือแร็ค  เป็นไม้ไผ่  ๓-๔  ท่อน  ความยาวท่อนละ  ๑๘  นิ้ว  คนดีจือแร็คมักนั่งติดกับคนตีฆ้อง
                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ซอนับว่าเป็นเครื่องดนตรีเอก  ที่นำเสียงดนตรีชนิดอื่น ๆ  และนำเสียงผู้ร้องด้วย  ผู้สีซอนั่งกลางวงหน้าเวที  (หันหลังให้ผู้ชม)  ส่วนนักดนตรีอื่น ๆ  นั่งล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลม

นักบรรเลงเครื่องดนตรีประกอบมะโย่ง ที่มา : เมาะโย่ง  ศิลปะการแสดงมลายูในแดนใต้ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=100872

เครื่องดนตรีที่ใช้แสดงมะโย่งในสี่จังหวัดภาคใต้  ไม่แตกต่างกับข้างต้นมากนักผิดกับที่สำเนียงภาษาที่เรียกดังนี้
                ๑.  กือแน  (กลอง)  จำนวน  ๒  ใบ
                ๒.  กือบ๊ะ  (ซอ)  ๒  สาย
                ๓.  ฆ้อง  ๒  วง
                ๔.  จือเระ  (แกระ)  ๒  คู่
                ๕.  กอเลาะ  (กรับ)  ๑  คู่
                เพลงร้อง    เพลงมะโย่งมีลีลาทอดเสียงยาวคล้ายเพลงเปอร์เชียร์  ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัตตานีนานแล้ว  ขอยกตัวอย่างชื่อทำนองเพลงดังนี้
                ๑.  ลาฆู  บารัต  อันโยร์  เพลงสำหรับประกาศข่าว
                ๒.  ลาฆู  มืองัมโบร์  เพลงโศก
                ๓.  ลาฆู  มืองูเล็ด  เพลงกล่อมเด็ก  บางครั้งใช้แสดงความรัก  ความฝัน
                ๔.  ลาฆู  ยูร์  เพลงแสดงความเหน็ดเหนื่อย  หรือเบื่อหน่าย
                ๕.  ลาฆู  กีซังอามัส  เพลงร้องหมู่ขณะทำงานร่วมกัน
                ๖.  ลาฆูตีมัง – ตีมังวือลู,  ลาฆูจาเฆาะมานัส,  ลาฆูปานังงาวี  ทั้ง  ๓  เพลงใช้สำหรับบทรักระหว่างหนุ่มสาวโดยเฉพาะ
                เพลงดังกล่าวนี้ผู้แสดงหญิงเป็นผู้ร้อง  และมีเพลงเพียง  ๒ – ๓  เพลงเท่านั้นร้องโดยตัวตลก  อนึ่งผู้ร้องต้องเปล่งเสียงออกมาอย่างเต็มที่  ดนตรีเพียงแต่คลอตามหลังจากร้องเพลงจบไปวรรคหนึ่งแล้ว  ผู้แสดงอื่น ๆ  จะรับพร้อมกัน
                เกี่ยวกับเพลงร้องของมะโย่งในสี่จังหวัดภาคใต้  ผู้เขียนได้รับความรู้จากนายเจ๊ะมูดอเจ๊ะแว  กำนันตำบลสะเร็จ  อำเภอบันนังสตา  จังหวัดยะลา  อดีตมะโย่งมีชื่อท่านเล่าถึงเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง  เช่น  เพลงกะลาแต  เพลงบารัค  เพลงกือเดาะ  เพลงร็องเง็ง  เพลงลากูซาแซ  เพลงลากูโย่ง  และเพลงลากูอาเนาะขอยกตัวอย่างเนื้อเพลงมะโย่ง  ทำนองเพลงกล่อมเด็กหรือลากูอาเนาะ
                                                “  ปีแกดาแลอาตี
                                                กาเมาะดาแลดาตอ
                                                ซูเกาะดาแลฮีตี
                                                แฮมะยาลา  เนาะจารี
                                                อาแวมีโนง  ปือฮาโซ๊ะ
                                                ราเฮะกีมานอ
                                                ตาเดอะ  ซามออามอ
                                                “  เนาะปา  ซะกาลีลาลู ”
ถอดเป็นกลอนได้ความว่า
                                                รำพึงฝันใฝ่ในจิต
                                                ครวญคิดในอกวิตกเอ๋ย
                                                คงปลื้มชื่นใจ  กระไรเลย
                                                ลูกเอ๋ยแม่เจ้าจะมา
                                                นิจจาเงียบหายไปไหน
                                                ทรามวัยไม่อยู่กับข้า
                                                ร้องเรียกนงลักษณ์  สักครา
                                                กลับมาลูกน้อยคอยเอย.

 
PREVIOUS