ประวัติการประกอบพิธีมาฆบูชา |
ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ดังนี้
การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตนิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้น ประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ พระองค์นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช
การพระราชกุศลนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง ๓๐ รูป
การมาฆบูชานี้เป็นดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกบ้างไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ ถ้าฤดูคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสบางประอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวังฯ
|
|
ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. 2542,36 |
การประกอบพิธีเวียนเทียน ในวันมาฆบูชา |
การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. พิธีหลวง (หรือพระราชพิธี)
๒. พิธีราษฎร์
๓. พิธีสงฆ์ |
การประกอบพระราชพิธี |
สำนักพระราชวัง จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน
การพระราชกุศลมาฆบูชา
การพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ความว่า “เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป”
สำหรับการพระราชกุศลมาฆบูชาในรัชกาลต่อ ๆ มา มีการเปลี่ยนแปลงรายการพระราชกุศลบ้างเล็กน้อย เช่นยกการเลี้ยงพระในตอนเช้า และการจุดเทียนรายรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่มเสีย
ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลตามรายการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ เคยทรงบำเพ็ญ ดังมีรายการต่อไปนี้ คือ
เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จขึ้นสู่พระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนต่าง ๆ
แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับพระราชอาสน์ริมผนังพระอุโบสถด้านใต้ ทรงจุดเทียนชนวนด้วยไฟที่จุดไว้จากดวงอาทิตย์ด้วยพระแว่นสุริยกานต์ แล้วพระราชทานเทียนชนวนนั้นแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธี เพื่อเชิญไปถวายเจ้าอาวาสจุดเทียนรุ่ง ที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานสำหรับจุดบูชาตามพระอารามหลวงที่สำคัญอีกรวม ๕ พระอาราม คือ
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- วัดบวรนิเวศวิหาร
- วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
- วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
การบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ถ้าปีใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระนครก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เป็นผู้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ (สำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. 2524,7-9) |
การประกอบพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา สำหรับประชาชนทั่วไป |
หากเป็นสถานศึกษา ครูอาจารย์จะนำนักเรียนไปประกอบพิธีในวันมาฆบูชาที่วัด โดยบอกกำหนดนัดหมายที่แน่นอน รวมทั้งบอกวัดที่จะไปทำพิธี นักเรียนทุกคนจะต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นำดอกไม้ธูปเทียน ไปยังสถนที่นัดหมาย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีในตอนบ่าย หรือตอนเย็น
สำหรับประชาชนทั่วไป จะจัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปพร้อมกันที่วัด ในเวลาเย็นหรือค่ำ เพื่อประกอบพิธีมาฆบูชา การประกอบพิธีส่วนใหญ่ จะกระทำกันที่โบสถ์ เพราะหลังจากฟังโอวาทและสวดมนต์เสร็จแล้ว จะทำการเวียนเทียนรอบโบสถ์
|
|
ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. 2542,80 |
พิธีสงฆ์ |
ในวันมาฆบูชา พระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี มีการให้โอวาท สวดมนต์ และนำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวสุดแต่เห็นสมควร |
|
|