ตำนาน
ตำนานที่ 1
          ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เซ็งฮีไต๋ตี๋ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานที่ 2
          มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
          ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
          เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ท้าวมัจจุราช) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
          แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้
          นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน

ถือคติจากลัทธิพราหมณ์
          ประชาชนพลเมืองในทวีปเอเชีย  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  แต่ศาสนาพราหมณ์เกิดก่อนเป็นศาสนาโบราณกว่า  แหล่งกำเนิดอยู่ในชมพูทวีป
               
                นักปราชญ์ผู้รู้ได้เล่าว่า  เนื่องจากเดือน  9  ต่อเดือน  10  ของทุก ๆ  ปีจะเป็นเดือนที่ชาวนาที่เราเรียกอย่างโก้หรูว่า  เกษตรกร  ได้ทำไร่ทำนากันเป็นอาชีพหลัก  แม้ในชมพูทวีป  คือประเทศอินเดียปัจจุบัน  ถ้าผู้อ่านเป็นชาวพุทธ  หรือ  พุทธศาสนิกชน  เมื่ออ่านพุทธประวัติจะพบเห็นชื่อ  (พระนาม)  พระบิดามารดา  และชื่อเครือญาติของพระพุทธองค์  ล้วนแต่ลงท้ายชื่อเกี่ยวกับโธทนะทั้งสิ้น  เช่น
                1.  พระเจ้าสุทโธทนะ  พระราชบิดาพระพุทธองค์
                2.  พระเจ้าสุกโกทนะ  พระบิดาของพระอานนท์
                3.  พระอมิโตทนะ       พระบิดาของพระอนุรุทธะ
                     เมื่อพิจารณาและสังเกตจากคำท้ายชื่อ  จะลงท้ายว่า  โอทนะ  ซึ่งมีความหมายแปลว่า  ข้าวสุก  หรือ  ข้าวสวย  อยู่ด้วยหลายพระองค์
                ทั้งนี้เพราะราชสกุลของพระพุทธเจ้าของเรา  มีอาชีพเป็นชาวนามาแต่พรรพบุรุษ  แม้จะเป็นคนในวรรณะกษัตริย์ก็ตาม  ก็ยังทำนาด้วย
                นอกจากนี้  คนในวรรณะพราหมณ์ในสมัยก่อนหรือหลังพุทธกาลก็มีคนทำนากันมาก่อน
                ดังนั้น  ในฤดูกาลเดือน  9  ต่อเดือน  10  ของทุกปี  ท้องนาท้องไร่ของเกษตกรจะมองไปทั่วสารทิศใดก็จะเห็นรวงข้าว  ข้าวฟ่างที่เคยเขียวชอุ่มกลายเป็นสีเหลืองอร่าม  คือข้าวกำลังออกรวง  ตั้งรวงและเริ่มสุกนั่นเอง
                ตามคติพราหมณ์หรือชาวฮินดู (ที่สืบมาจากศาสนาพราหมณ์)  พอเมื่อเห็นรวงข้าวสุกเหลืองอร่ามในระยะนี้  ก็จะทำการเก็บเกี่ยวเอามาทำมธุปายาส  หรือ  ข้าวยาคู  นำมาเลี้ยงเพื่อนพราหมณ์ด้วยกัน  เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนาของตน
                พร้อมกันนั้น  ก็ถือโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้  สร้างบุญกุศลอุทิศแด่บรรพบุรุษเปรตชน  คือบรรดาประยูรญาติพี่น้องผู้ที่ตนเคารพนับถือ  ซึ่งได้ล่วงลับไปสู่ปรโลกแล้ว
                ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงนับว่าเป็นพิธีการที่ดีมาก  เราชาวพุทธจึงได้นำเอาพิธีการดังกล่าว  มาดัดแปลงให้เข้ากับคติทางพระพุทธศาสนา  เป็นการสร้างบุญทำกุศล  ซึ่งมีเพียงปีละครั้ง  เพื่อตักตวงบุญไว้ในภพชาตินี้  เพราะทุก ๆ  คนต่างจะต้องเดินทางไปสู่วัฏสงสาร  (เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย)  เสมือนเป็นการสะสมเสบียง  (คือบุญกุศล)  ไว้สำหรับตนในชาติหน้านั่นเอง

                            

 
<<< Previous    Next >>>