สุนทรภู่กวีเอกแห่งโลก
                สุนทรภู่เป็นมหากวีที่มีผู้รู้จักมากที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดมีชื่อเสียงในด้นสำนวนกลอนเป็นที่เลื่องลือ 
จนได้รับการยกย่องว่าเป็น  “บรมครูทางกลอนแปด”  และเป็น  “กวีเอกของไทย”  คนหนึ่ง  นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องว่า
เป็นกวีที่มีจินตนาการกว้างไกล  สร้างโครงเรื่องและเนื้อหาของนิทานได้อย่างน่าสนใจ  ชวนแก่การติดตาม      
                ในปี  พ.ศ.  ๒๕๒๗  คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เสนอต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
แห่งสหประชาชาติ  (ยูเนสโก)  ให้ประกาศเกียรติคุณว่าสุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทย  มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่น
และเป็นกวีของประชาชนรวมทั้งให้องค์การแห่งนี้ช่วยเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของสุนทรภู่
ไปยังสมาชิกทั่วโลกเนื่องในวาระครบรอบ  ๒๐๐  ปีเกิด  ของสุนทรภู่ในปี  พ.ศ.  ๒๕๒๙
                สุนทรภู่เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๑-๔  มีปฏิภาณในการคิดแต่งคำ
ประพันธ์และพูดอะไรเป็นคำคล้องจองมาตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มมีอาชีพเป็นครูสอน
เสมือนบอกดอกสร้อยสักวาและบอกบทละครต่อมาได้มีโอกาสเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบดีสามารถต่อบทกลอนได้เป็นที่ถูกพระทัย  จึงได้เป็นกวีที่ทรงปรึกษา  ได้รับใช้
้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและเป็นกวีที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง  ในสมัยนั้น  สุนทรภู่ได้รับพระมหา
กรุณาธิคุณให้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วย 
เมื่อสิ้นรัชกาล  ชะตาชีวิตของสุนทรภู่ก็เริ่มผันผวน  ตกอับถึงกับต้องออกบวช  แต่ยังมีเจ้านายทรงรับอุปการะเป็นระยะ ๆ  ไป 
ต่อมาสุนทรภู่ได้สึกจากพระ  แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็ได้บวชใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ในช่วงนี้สุนทรภู่มีความทุกข์ยาก  บางขณะ
ถึงกับต้องแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพ  ด้วยสุนทรภู่มีฝีปากในการแต่งกลอนได้ดีเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่รู้จักจึงมีผู้ว่าจ้างให้สุนทรภ
ู่แต่งกลอนเพลงยาวให้ปรากฏว่าแต่งให้ทั้งสำนวนชายและสำนวนหญิง  นอกจากนั้นในช่วงนี้สุนทรภู่ยังมีอาชีพสอนหนังสือ
หรืออาชีพครูอีกอย่างหนึ่ง  เมื่อสุนทรภู่สึกจากพระครั้งที่สองก็ได้พึ่งพระบารมีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  เมื่อเปลี่ยนรัชกาล
ก็ได้เป็นอาลักษณ์แบบเดียวกับที่เคยเป็นในสมัยรัชกาลที่  ๒  เพียงแต่ในสมัยนี้  เป็นอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวังไม่ใช่ฝ่าย
พระบรมมหาราชวัง  ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งถึงแก่กรรม
                สุนทรภู่มีชีวิตครอบครัวไม่ราบรื่นนัก  บิดามารดาหย่าร้างกันตั้งแต่ตนเองยังเป็นเด็กทำให้สุนทรภู่ขาดความรัก
และความอบอุ่น  สุนทรภู่จึงแสวงสิ่งนี้ด้วยการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากมายหลายคนโดยได้กล่าวถึงผู้หญิงเหล่านี้ใน
นิราศหลายเรื่อง  อย่างไรก็ตามสุนทรภู่มีภรรยาที่อยู่ด้วยกันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน  ๓  คน  คือ  แม่จัน  แม่นิ่ม  และแม่ม่วง 
แต่การครองรักครองเรือนกับภรรยาทั้งสามไม่ประสบกับความราบรื่นนัก  ต้องมีอันให้พลัดพรากจากกันด้วยเหตุจำเป็น
อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ  ในบรรดาภรรยาเหล่านี้  แม่จันเป็นผู้ที่ทำให้สุนทรภู่เจ็บช้ำและสะเทือนใจมากที่สุด  เพราะเป็น
ฝ่ายทิ้งสุนทรภู่ไป  แม้สุนทรภู่จะทราบดีว่าที่แม่จันจากไปก็เพราะความเจ้าชู้ของตนเองก็ยังอดน้อยใจและอดตัดพ้อแม่จัน
  ดังที่ปรากฏในผลงานของสุนทรภู่หลายเรื่องไม่ได้

สุนทรภู่มีความสามารถทั้งในการแต่งกลอน  โคลง  และกาพย์  แต่ถนัดด้านการแต่งกลอนและแต่งได้ดีกว่าคำประพันธ์ประเภทอื่น  สุนทรภู่ได้คิดแบบแผนของการแต่งกลอนแปดหรือกลอนสุภาพขึ้นโดยมีวิวัฒนาการมาจากกลอนกลบทมธุรสวาทีของหลวงศรีปรีชา  (เช่ง)  และกลอนเพลงยาวของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร  กลอนของสุนทรภู่มีลักษณะเด่นและมีความไพเราะเป็นอย่างยิ่ง  จึงปรากฏว่ามีผู้พยายามแต่งเลียนแบบหรือแต่งตามกันอย่างแพร่หลาย
                อย่างไรก็ดี  เมื่อได้ศึกษาเรื่องโคลงนิราศสุพรรณ  ก็สามารถมองเห็นความสามารถในการแต่งโคลงสี่สุภาพของสุนทรภู่ได้ดี  เพราะมีบทที่แต่งได้อย่างไพเราะมากหลายบท  ที่แต่งเป็นทำนองกลบทก็มีอยู่ไม่น้อย
                คำประพันธ์ของสุนทรภู่ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดสังเกตได้ว่าเน้นที่การใช้สัมผัสในทั้งสิ้น
                สุนทรภู่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ในวงการวรรณกรรมหรือวรรณคดีตั้งแต่ก่อนเข้ารับราชการ  คือ  แต่งมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่  ๑  ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่  ๔  มีผลงานทั้งหมดถึง  ๒๓  เรื่อง  แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท  มีทั้งที่เป็นกลอนนิราศ  กลอนนิทาน  กลอนเสภา  กลอนบทละคร  บทแห่กล่อม  พระบรรทม  โคลงนิราศ  และกาพย์ที่แต่งเป็นนิทาน  ผลงานเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับชีวประวัติของสุนทรภู่อย่างแนบแน่น  สุนทรภู่นำเอาเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวแทรกเข้าไว้ในบทประพันธ์ได้อย่างแนบเนียน  งานของสุนทรภู่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ  มีเรื่องราวแปลก ๆ  ใหม่ ๆ  มีทั้งเรื่องที่สุนทรภู่พบเห็นระหว่างการเดินทางและเรื่องที่สุนทรภู่สร้างสรรค์ขึ้นจากจินตนาการของตนเอง  รวมทั้งที่เกิดจากการคลุกเคล้ากันอย่างกลมกลืนระหว่างเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมากับจินตนาการที่คิดฝันเอา  นอกจากนี้เมื่อประสานกับคำประพันธ์ที่แต่งไว้อย่างลื่นไหล  ก็ทำให้อ่านหรือฟังได้อย่างเพลิดเพลิน  เป็นที่ติดใจและมีการเผยแพร่กันต่อ ๆ  มาทุกยุคทุกสมัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

<< PREVIOUS    NEXT >>