ความหมาย

พจนะสารานุกรมของเปลื้อง  ณ นคร  ให้ความหมายของคำว่า  “ตะลุง”  ไว้ว่า  “ตะลุง”  น. 
เสาประโคม,  เสาสำหรับผูกช้าง, การมหรสพอย่างหนึ่ง  ใช้หนังสลักเป็นรูปภาพเล็ก ๆ  เรียกว่าหนังตะลุง  ถต, น.  หนังควน”
          หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้  มีทั้งบทพากษ์และบทเจรจา  ผิดกันกับพากย์โขนหรือละคร  ส่วนมากใช้กลอนตลาด  เดิมทีเดียวเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น  ครั้นต่อมานายหนังเลือกเรื่องอื่น ๆ  ในวรรณคดีไทยบ้าง  ชาดกบ้าง  แล้วแต่จะเห็นสมควร  เช่นเรื่องไกรทอง  ไชยเชษฐ์  แก้วหน้าม้า  เป็นต้น  การทำรูปหนังตะลุงจะต้องวาดรูปสมมติลงในแผ่นหนังสัตว์ต่าง ๆ  เช่น  หนังวัว  หนังควาย  หนังเก้ง  หรือกะจง  เป็นต้น โดยเอาหนังมาแช่ในน้ำสัม  แล้วเอามาขูดให้บางใสแล้วขึงให้ตึง  วาดรูปพระ  รูปนาง  รูปยักษ์  ตามที่ต้องการ  ต่อจากนั้นก็ตัดออกมาเป็นรูปและระบายสี  แล้วใช้ตับคีบสำหรับถือ  หรือปักที่หน้าจอ  ใส่มือและไม้ผูกติดกับมือสำหรับเชิดก็เป็นอันเสร็จ  ถ้าเป็นรูปตัวตลกไม่จำเป็นจะต้องพิถีพิถันมากนัก  แต่ตัวพระตัวนางจะต้องประณีตเป็นพิเศษ

หนังตะลุงมีประวัติความเป็นมาอย่างไรยังถือเป็นข้อยุติไม่ได้  ชาติก่อนแก่คืออียิปต์  กรีด  โรมัน
จีนและอินเดีย  มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับการแสดงหนังและหุ่นมาแล้ว  ตัวหนังนั้นทำด้วยกระดาษแข็ง ๆ  บ้าง  แผ่นดีบุกบ้าง  ส่วนทางเอเชียนิยมทำด้วยหนังสัตว์  ทางชวามี  วายังกุลิต  (วายัง  แปลว่า  การแสดง,  กุลิต  แปลว่าหนัง)  อินเดียเริ่มมีการแสดงหนังหลังพุทธกาลเล็กน้อย  ไทยและชวาอาจจะรับต้นเค้ามาจากอินเดียก็ได้
          มหรสพของไทยเราที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่โบราณก็คือหนังใหญ่  หนังใหญ่นั้นมีหลักฐานที่ปรากฏว่าเล่นกันมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ในวรรณคดีเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ได้กล่าวว่า  แต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นหนังในพระราชพิธี  ซึ่งน่าจะหมายถึงหนังใหญ่นั่นเองมีผู้เชื่อว่าหนังใหญ่น่าจะมีมาก่อนหนังตะลุง
                สุนันทา  โสรรัจจ์  สันนิษฐานไว้ใน  “โขน  ละคร  ฟ้อนรำ  และการละเล่นพื้นเมือง”  ว่า  “หนังตะลุงคงเป็นมหรสพอย่างหนึ่งซึ่งมีราราว ๆ  สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  หรือก่อนจากนั้นและประการหนึ่ง  การเล่นหนังตะลุงคงมีมาแต่สมัยที่ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลเหนือศาสนาพุทธเพราะจะเห็นว่าฤาษีและพระอิศวรนั้นเป็นแบบพราหมณ์โดยแท้”
                ชาวภาคใต้เรียกหนังตะลุงว่า  “หนัง”  เฉย ๆ  ก็มมี  บางทีเรียกว่า  “หนังลุง”  หรือ  “หนังควน”  ก็มี  ส่วนชื่อเรียกว่า  “หนังตะลุง”  นั้นมีผู้สันนิษฐานว่า  การมหรสพที่เรียกว่าหนังตะลุงได้มีแพร่หลายขึ้นที่เมืองพัทลุงก่อนที่อื่น  คนทั่วไปจึงเรียกหนังที่มาจากจังหวัดพัทลุงว่า  “หนังพัทลุง”  หรือ  “หนังพัดลุง”  จนเป็นหนังลุง  ในภาษาปักษ์ใต้และเป็น  “หนังตะลุง”  ในภาษากลาง  เพราะอาจจะกร่อนมาจาก  “หนังพัทลุง”  ก็ได้
                จังหวัดนครศรีธรรมราชดูเหมือนจะเป็นจังหวัดหนี่งที่มีคณะหนังตะลุงมากที่สุดกล่าวคือมีคณะหนังตะลุงอยู่ทั่วไปเกือบทุกอำเภอ  คณะที่มีชื่อเสียงได่งดังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมักตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นส่วนใหญ่  ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า  หนังตะลุงที่มีชื่อเสียงนั้นมีหนังตะลุงของนครศรีธรรมราชรวมอยู่ด้วยเป็นส่วนมากหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในอดีตได้แก่หนังดำวิน  หนังเอียดนุ้ย  หนังเรื้อย  หนังตุด  หนังสังข์ และหนังจันทร์แก้ว  เป็นต้น  ส่วนหนังตะลุงที่ยังมีชีวิตอยู่และมีชื่อเสียงมากในปัจจุบันมีอยู่หลายคณะ  เช่น  หนังประทิน  หนังปรีชา  หนังเคล้าน้อย  เป็นต้น ( ชวน เพชรแก้ว หนังตะลุง  :  มหรสพพื้นบ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช )
ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง
                                                                                               
          หนังตะลุงมีประวัติความเป็นมาอย่างไรนั้น  ยังยุติไม่ได้  เพราะมีผู้สันนิษฐานขัดแย้งกันเป็นหลายทาง  ยังไม่มีฝ่ายใดนำหลักฐานมาอ้างให้ปักใจเชื่อได้  นายธนิต  อยู่โพธิ์  ได้เขียนไว้ในหนังสือ  “โขน”  ว่า  “มหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวไทยในสมัยโบราณอีกอย่างหนึ่งก็คือหนัง  ซึ่งเราเรียกกันในภายหลังว่า  หนังใหญ่  เพราะมีหนังตะลุง  ซึ่งเป็นหนังตัวเล็กเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง  จึงเติมคำเรียกให้แตกต่างกันออกไป”(๑)    ถ้าตีความตามนี้ก็แสดงว่าหนังตะลุงเกิดหลังหนังใหญ่ของภาคกลาง  หนังใหญ่นั้นมีหลักฐานปรากฏว่าเล่นกันมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ดังเช่นในวรรณคดีเรื่องสมุทรโฆษ  ก็บอกไว้ว่าผู้ประพันธ์  ประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นโดยพระบรมราชโองการเพื่อใช้เล่นหนังในงานพระราชพิธี  ดังความว่า
                                พระให้กล่าวกาพย์นิพนธ์                  จำลองโดยดล
                ตระการเพรงยศพระ
                                ให้ฉลักแสบภาพอันชระ                   เป็นบรรพ์บุรณะ
                นเรนทรราชบรรหาร         
                                ให้ทวยนักคนะผู้ชาญ                         กลเล่นโดยการ
                ยะเป็นบำเทิงธรณี
               
ถ้ามองในมุมกลับกัน  หนังใหญ่อาจจะเกิดหลังหนังตะลุงก็ได้  เพราะคำว่าตะลุง  ก็เป็นคำใหม่มาก  เพราะชาวภาคใต้เรียกการละเล่นแบบนี้ของเขาว่า  หนัง  เฉย ๆ  เหมือนกัน  บางทีก็เรียกว่า  หนังควน  ส่วนที่เรียกว่าหนังตะลุงนั้น  สันนิษฐานกันว่า  เป็นคำที่เกิดขึ้นตอนที่หนังควนได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ  มีบางท่านกล่าวว่า  “หนังควนได้เปลี่ยนชื่อเป็นหนังตะลุง  เมื่อสมัยรัชกาลที่  3  สมัยนั้นหนังของเมืองพัทลุง  ได้เข้าไปแสดงในกรุงเทพฯ  ชาวกรุงเทพฯ  ก็เรียกหนังควนว่าหนังพัทลุง  แล้วเป็นทลุง  เป็นตะลุง”(๒)     ชาวใต้รับคำนี้ไปใช้แพร่หลายในตอนที่ทางภาคใต้มีมหรสพแบบใหม่เกิดขึ้นซึ่งชาวใต้เรียกว่า  หนังญี่ปุ่น  (ภาพยนตร์)(๓)      นั่นเอง

ที่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้ 2544

บางท่านว่าหนังตะลุงนั้นเป็นของใหม่  ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่  5  พวกชาวบ้านควนมะพร้าว  แขวงจังหวัดพัทลุง  คิดเอาอย่างหนังแขก  (ชวา)  มาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน  แล้วจึง แพร่หลายไปที่อื่น ๆ  ในมณฑลนั้นเรียกกันว่าหนังควน  เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์  (วร  บุนนาค)  พาเข้ามากรุงเทพฯ  ได้เล่นถวายตัวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ร. 5)  เป็นครั้งแรกที่บางประอิน  เมื่อปีชวด  พ.ศ.  2419(๔)     ทรงถามว่ามาจากไหนก็ได้รับคำตอบจากคนใต้  ซึ่งชอบพูดสั้น ๆ  ว่า  หนังลุง  ซึ่งหมายถึงหนังที่มาจากเมืองพัทลุง  จึงเรียกกันมาว่า  “หนังตะลุง”  จนบัดนี้   อย่างไรก็ตาม  คำหนังตะลุงคงจะใช้กันแพร่หลายแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  5  ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช)  ฉบับที่  1  ลงวันที่  12  เมษายน  รัตนโกสินทร์ศก  128  (พ.ศ.  2452)  ความตอนเสด็จจังหวัดชุมพรมีว่า  “ในตอนค่ำก็มีมหรสพต่าง ๆ  มาเล่นถวายคือเพลง  1  โรง  หนังตะลุง  1  โรง  มโนราห์  1  โรง  คนติดเพลงมากกว่าอย่างอื่น  เห็นจะเป็นเพราะเป็นของแปลก  นาน ๆ  ได้ดูครั้งหนึ่ง  และถ้อยคำที่ใช้โต้ตอบกันก็อยู่ข้างเผ็ดร้อนถึงใจอยู่ด้วย”(๕)      นี่แสดงว่าคำหนังตะลุงใช้กันแพร่หลายแล้ว  และการเล่นหนังตะลุงเป็นมหรสพสามัญสำหรับชาวชุมพร  จึงหันไปสนใจเพลง  (อาจจะเป็นเพลงบอกหรือเพลงเรือ)  และหนังที่ว่า  เล่นถวายนี้  มีผู้อ้างว่า  ชื่อ  หนังนกแก้ว  เป็นหนังจังหวัดชุมพร  แสดงจนเป็นที่พอพระหฤทัยมาก  จนได้รับพระราชทานรางวัล
                ถึงอย่างไรก็ตามการที่จะนำเพียงชื่อ  เถียงกลับว่าหนังตะลุงเกิดก่อนหนังใหญ่ก็นั้นเป็นเพียงสะกิดเล่น ๆ  เท่านั้น  ควรอาศัยเหตุผลด้านอื่น ๆ  ด้วย  ถ้าดูลักษณะรูปหนังตะลุง  ก็เห็นว่าขนาดรูปหนังใหญ่โตกว่ารูปหนังตะลุงหลายเท่า  การวิวัฒนาการของรูปหนัง  น่าจะไปในรูปย่อให้เล็กลงมากกว่าจะขยายให้โตขึ้น  พูดถึงสีของตัวรูปหนังใหญ่  เดิมทีเป็นสีดำล้วน  ส่วนรูปหนังตะลุงตัวสำคัญมักระบายสีและฉลุลายสวยพิสดารกว่า  อันแสดงว่าเป็นรูปที่พัฒนามาในยุคหลัง  ถ้าพิจารณาเนื้อหาและลักษณะคำประพันธ์ของบทพากย์รูปพระอิศวรทรงโค  ของหนังตะลุงหลายสำนวน  มีลักษณะคล้ายบทพากย์หนังใหญ่  และคล้ายกับบทนำในสมุทรโฆษ  ซึ่งแสดงว่าต้องมีความเกี่ยวพันกันแน่  เช่น  (บทพากย์รูปพระอิศวร)
                                ราตรีเอาอัคคีจุดจ่อแจ่มใส  หนังโคส่องแสงไฟ
                แลดูวิจิตรลวดลาย

โอมพร้อมมหาพร้อมไปด้วยเครื่องประโคมทั้งหลาย  ชูเชิดเฉิดฉายยักย้ายอรชรอ่อนออ
ตัดไม้ไผ่มาสี่ลำ                                    เอามาทำเป็นหน้าจอ
                สี่มุมหุ้มห่อ                                                           ด้านหนึ่งลาดด้วยผ้าขาว

เอาหนังโคมาวาดเป็นพระอิศวรนารายณ์ดาว  ชักรถกลางหาวพระอาทิตย์จะเลื่อนลับแสง(๖)
การเล่นหนังใหญ่  แตกต่างกับหนังตะลุงที่เครื่องดนตรีอีกประการหนึ่ง  คือ  หนังใหญ่  มีพิณพาทย์  ระนาด  ตะโพน  ส่วนหนังตะลุงมี  กลอง  ทับ  ปี่  โหม่ง  ฉิ่ง  ส่วนวิธีการแสดงก็ดำเนินไปคล้ายกัน  หนังใหญ่จะเริ่มดวยพิณพาทย์  ทำเพลงโหมโรง  เริ่มด้วยเพลงสาธุการ  เพลงตระแล้วคนพากย์ก็เชิดรูป  พระอิศวร  พระนารายณ์  และรูปพระฤาษี  ออกตามลำดับ  เมื่อพิณพาทย์หยุดคนพากย์ก็จะเริ่มพากย์  ไหว้พระ  ไหว้ครู  และสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า  เรียกว่าพากย์สามตระดังนี้
                ข้าไหว้พระเสร็จเรืองฤทธา               ทศรถมหา
เป็นเจ้าสำหรับพระธรณี
                ไหว้บาทวรนาถจักรี                            ในพื้นปัถพี
ผู้ใดจะเปรียบปานปูน
                ชาวพ่อไพร่ฟ้านาขุน                          เล็งแลใครจะปูน
ทุกท้าวพระยาย่อมรักษา                                   
                มีเมียคนหนึ่งเล่า                                 เมื่อจะขึ้นเฝ้าย่อมเล่าลา
เลื่องลือแต่ก่อนมา                                               เสร็จแล้วจะไหว้ครูเรียน
                ครูข้าบ่ายหน้าเข้าจับเอาบังเหียน     แต่แล้วคงกะเรียน
ก็จับระบำอยู่เป็นกง
                อุ้มครกยกสากวางลง                          เท้าถีบศรก่ง
ปากก็คาบเอาถ่านเพลิงแดง
                เยื้องเท้าเธอเหยียบทาบ                      ปากก็คาบเอาโคมแวง
มีดตรีกระบี่แทง                                                   พระแผลงเอาไส้ออกเรี่ยราย
                มัดใจเท้าจะแผลงให้ล้มตาย              อาเพศกลับกลาย
ก็กลายเป็นพลของท้าวไท

ยกบุญยอคุณพระสิไสย                      พิณพาทย์ปางไฉน
เสร็จแล้วจะไหว้ท้าวลา
                ท้าวเธอยกหัตถ์ขึ้นวันทา                    จึงจะเริ่มให้หา
เอาหนังพระโคมาดัดแปลง
                จำหลักรูปพระรามา                            นางสีดาเข้าแอบแฝง
พระลักขมณ์ผู้ทรงแรง                                       จะเริ่มเล่นให้อุ่นวัน

เบื้องซ้ายข้าจะไหว้ทศกรรฐ์             เบื้องขวาอภิวันท์
                สมเด็จพระรามจักรี
               (คนพากย์หยุด  พิณพาทย์ทำเพลงเชิด  คนพากย์เริ่มพากย์ต่อไป  ดังนี้)
                                โอฤาษีสิทธิฤทธิเดโชไชย เดชพระเลิศไกล
                ประสิทธิ์พรมงคล
                                ศรีศรีสวัสดิอำพล                                สุขเกษมสถาผล
                ขอเกิดสวัสดีมีไชย
                                ข้าไหว้คุณพระพุทธสมสมัย             โปรดสัตว์อสงไขย
                ให้ลุถึงหัวงนฤพาน
                                ข้าไหว้พระอนิรุทธเริ่มการ               โป่งป่าท่าธาร
                ทุกห้วยละเมาะเซาะเขา
                                ข้าไหว้เทพอยู่ในน้ำ                            ทุกเถื่อนถ้ำแลลำเนา
                ไหว้ครูประสิทธิ์เรา                                             ครูผู้เฒ่าสถิตเสถียร
                                ข้าจะขอเล่าเรื่องรามเกียรติ์                สอนวาดฉลาดเขียน
                สอนเรียนฉลุฉลักเฉลา
                                พากย์พอส่งเสียงให้ล้ำเลิศ ทั้งคนเชิดให้เพริศเพรา
                เล่นล้วนแต่ชาวเรา                                              ให้สรรเสริญเยินยอ
                                ตัดไม้มาสี่ลำ                                         ปักทำขึ้นเป็นจอ
                สี่มุมแดงยอ                                                          กลางก็คาดด้วยผ้าขาว
                                วาดรูปพระอิศวรรายดาว                    เทียมรถบนกลางหาว
                อาทิตย์ก็เลื่อนอยู่เห็นแสง                                 
                                ลงการากษสสำแดง                             อยุธยากล้าแข็ง
                จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู
                                ไชยศรีโขลนทวารเบิกบานประตู     ฆ้องกลองตะโพนครู
                ดูเล่นให้สุขสำราญ
                                หนังเราใช่ชั่วช้าสามานย์                  เล่นมาแต่ก่อนกาล
                บ่ห่อนจะมีใครไยไพ
                                ยอกันสารพัด                                        อุบาทว์เสนียดแลจัยไร
                ไว้แก่ผู้ไยไพ                                                         ติหนังที่ดีว่าบมิงาม
                                ข้าขอคุณพระลักษณ์พระราม            เทพเจ้าผู้ทรงนาม
สถิตอยูทั่วทุกตัวหนัง
(คนพากย์หยุดพากย์  พิณพาทย์ทำเพลงเชิด  คนพากย์เริ่มพากย์ต่อ)
                                สำเร็จสนทนานนท์สำแดง                เขียนแล้วดัดแปลง
                เป็นเกียรติยศพระรามา
                                เอาหนังพระโคมาจำหลัก                  ให้เห็นประจักษ์อยู่กับตา
                เชิญท่านทั้งหลายมา                                           ชมแต่รูปเงาแทน
                                งามเกลี้ยงเพียงจงกลหัวแหวน         ท่านผู้เฒ่าท่านกล่าวแทน
                ว่าหนังนี้เกิดสถาพร
                                อุปเท่ห์ท่านบอกให้                             ครูผู้ใหญ่ย่อมสั่งสอน
                ขอเชิญพระภูธร                                                  อย่าให้พ่ายแพ้อดสู
                                ที่ใครแพ้ก็ว่าแพ้                                   อย่าท้อแท้ทำอ่อนหู
                ใครชนะเอาเป็นครู                                             พาท่านผู้รู้มาให้หนัง
                                เร่งเร็วเถิดนายไต้                                 เอาเพลิงใส่เข้าหนหลัง
                ส่องแสงอย่าให้บัง                                              จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู
                จบบทพากย์นี้แล้ว  คนเชิดก็เชิดรูปหนังกลับเข้าโรง  แล้วก็ดำเนินการแสดงเป็นเรื่องรามเกียรติ์ต่อไป
                (สมุทรโฆษ – ไหว้ครูเล่นหนัง)
                                “ไหว้เทพดาอา-                                  รักษ์ทั่วทิศาดร
                ขอสวัสดิขอพร                                                     ลุแก่ใจดั่งใจหวัง
                                ทนายผู้คอยความ                 เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง
                จงเรืองจำรัสทัง                                                    ทิศาภาคทุกภาย
                                จงแจ้งจำหลักภาพ                               อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
                ให้เห็นแก่ทั้งหลาย                                              ทวยจะดูจงดูดี”(๗)

จบจากบทพากย์และทบไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษที่นำมาเทียบกันนี้  ย่อมแสดงให้เห็นเค้าว่าหนังตะลุงกับหนังใหญ่มีความสัมพันธ์กัน  แต่อันไหนจะเกิดก่อนนั้น  (ไม่หมายถึงชื่อที่เรียก)  ผู้เขียนยังไม่อาจจะสรุปลงไปได้

ที่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้ 2544,2

มีบางท่านเชื่อว่าหนังตะลุงมาจากชวา  ผ่านขึ้นมาทางมาเลเซีย  ปักหลักลงที่ยะโฮร์  มีตานุ้ย 
ตาหนักทอง  นางทองช้างไปได้มาจากที่นั่น  แล้วเอามาแพร่หลายหัดคนไทยให้รู้จักเล่นหนังคำตะลุง  มาจากคำว่า  หลักตะลุง  หรือหลักหลุง  หมายถึงหลักล่ามช้าง  ผู้มีความเชื่อตามแนวนี้มีรวมทั่งบรรดานายโรงหนังตะลุงด้วย  และปรากฏในบทไหว้ครูหนังตะลุงมากแห่ง  เช่น
                “ไหว้ครูหนังครั้งกระโน้นคนโบราณ                     บุรพาจารย์ของหนังครั้งตะลุง
ตะลุงหลายถึงหลักปักล่ามช้าง                                            โบราณอ้างเรียกว่าตะลุงหลุง
ที่ช้างพักหลักตั้งหนังตะลุง                                                   แรกคราวกรุงศรีวิชัยเมืองนคร
ราชธานีนครศรีธรรมราช                                                      ประวัติศาสตร์แห่งธานีมีนุสรณ์
ประเทศไทยปักษ์ใต้ฝ่ายนคร                                                สมัยก่อนขึ้นยะโฮร์  แรกโบราณ
ทางการไทยไปยะโฮร์ต้องขี่ช้าง                                           การเดินทางเป็นกระบวนล้วนทหาร
ถึงที่นั้นต้องรับเป็นทางการ                                                   ต้องมีงานสนุกทุกครั้งไป
เห็นหนังแขกขับขานการละเล่น                                            จำเชิงเช่นชอบจิตติดเลื่อมใส
ตาหนังทองก้อนทองกองช้างไทย                                        ความสนใจลองเล่นเป็นพิธี
เริ่มแรกเล่นเป็นตะลุงช้าง                                                     จะต้องอ้างเอาหลักเป็นสักขี
คำไหว้ครูผู้เฒ่าเข้าพิธี                                                        -ผ้าขาวสี่มุมตึงขึงจอบัง
ใช้ไม้ไผ่สี่ลำทำเป็นจอ                                                       -ขึงสี่มุมห้อมห่อเรียกจอหนัง
ข้างภายในห้อยตะเกียงเหวี่ยงระวัง                                      แล้วใช้หนังโคทำจำลองคน”(๘)
(สุทธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์. 2527, 22-27)
.......................................................

(๑)  ธินิต  อยู่โพธิ์  โขน  2500 หน้า  5
(๒)  ภิญโญ  จิตต์ธรรม  เที่ยวสงขลา  2506  หน้า  258
(๓)  คำภาพยนตร์มีปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช  แต่ไม่หมายถึงภาพยนตร์อย่างปัจจุบัน  หมายถึงหุ่นกลไกทางไสยศาสตร์  เช่นว่า  “ใต้ดินมีภาพยนตร์ผัดอยู่จะเอาขึ้นมามิได้  จึงพญาก็เป็นทุกประหรมนักหนา  จึงพญาก็ให้อำมาตย์  เอาทองเท่าลูกฟักนั้นแขวนคอม้ากล่าวว่าผู้ใดรู้แก้ภาพยนตร์ไสให้ทองแก่ผู้นั้น  จึงอำมาตย์กระทำตามพญาสั่งไส

(๔) ดำรงราชานุภาพ  กรมพระยา  ตำนานละครอิเหนา  เชิงอรรถ  หน้า  99  ในรายการวันชุมนุมหนังตะลุง  วันที่  26  เมษายน  2516

(๕) ดำรงราชานุภาพ  กรมพระยา  ตำนานละครอิเหนา  เชิงอรรถ  หน้า  99  ในรายการวันชุุมนุมหนังตะลุง  วันที่  26  เมษายน  2516

 (๖) มงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้  ร.ศ.  128  หน้า  9

(๗)  สมุทรโฆษคำฉันท์,  องค์การค้าคุรุสภา,  2505  หน้า 8 – 9

(๘)  บทอื่น ๆ  เป็นครูหนักทองกับครูหนุ่ย  หรือหนุ้ย

ที่มา : หนังตะลุง  : อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้ 2544,11

หนังตะลุง เป็นศิลปะการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งในภาคใต้ ไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่นอน เป็นศิลปะการแสดงที่มีทั้งบทพากษ์ และบทเจรจา พบได้บริเวณที่ต่างๆ เช่น อียิปต์ จีน อินเดีย ตุรกี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
   หนังตะลุงไทยมี 2 แบบ คือ หนังใหญ่ และ หนังตะลุง วายังเซียม วายังยาวอ ( ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้พบในภาคใต้ของไทย และบางส่วนของภาคกลางในอดีต ) นิยมกันอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชายฝั่งตะวันออก ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง  ส่วนวายังเซียม และวายังยาวอ มีในบริเวณที่มีคนไทยมุสลิมโดยเฉพาะ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

     ในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช  สงขลา ตรัง พัทลุง และชุมพร จะมีการแสดงหนังตะลุงค่อนข้างบ่อย ด้วยเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ก็มักจะมีหนังตะลุงมาแสดงอยู่ด้วยเสมอ งานหรือกิจกรรมใดๆที่ไม่มีหนังตะลุงแสดง มักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านว่า งานนั้นจืด กร่อย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นอนาคตของหนังตะลุงได้อย่างแจ่มชัดว่า จะยังคงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวบ้านอยู่อย่างกว้างขวางไม่แพ้ยุคสมัยที่ผ่านมา โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดง ที่แตกต่างกันตามพื้นที่ เท่าที่ทราบ ในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ
     1. หนังตะลุงตะวันออก เป็นรูปแบบการแสดงของกลุ่มชนแถบทะเลฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา
     2. หนังตะลุงตะวันตก เป็นภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มชนแถบฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดพังงา ภูเก็ต ( มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกัน ทั้งในการขับร้องบท การเจรจา รูปหนังและธรรมเนียมการเล่น ส่วนองค์ประกอบในการแสดงอื่นๆ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน )
     3. หนังตะลุงมลายู หรือวายังกูลิต ชาวไทยมุสลิมเรียกว่า วอแยกูเละ หรือวายังกูเละ เป็นศิลปะการเล่นเงาที่นิยมแสดงกันมาช้านาน ในพื้นที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ( ใต้...หรอย มีลุย. 2547,55 )