เครื่องดนตรีของหนังตะลุง

เครื่องตะลุงคณะหนึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบการเล่น  ประมาณ  6  อย่าง  คือ  โปม่ง  1  คู่  ทับ
หรือโทน  1  คู่  ฉิ่ง  1  คู่  กลองชาตรี  1  ใบ  ปีชวา  1 เลา  และกรับหรือแกระ  1  คู่  ในปัจจุบันนี้มีหนังตะลุงไม่น้อยที่นำเครื่องดนตรีสากลเข้าประสม  เช่นกลองจะไม่ค่อยใช้  แต่กลับใช้กลองของเครื่องดนตรีสากล  ปี่ชวาก็ใช้ไวโอลินแทน หรือไม่ก็ใช้ซอแทนปี่   หรือควบคู่ไปด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซอด้วงมากซออู้เพราะเสียงเข้ากับเสียงปี่ได้สนิท

ที่ี่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้. 2544

หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่าหนึ่งโรง  คณะหนึ่งมีประมาณ  6-8  คน  คือมีนายโรงหรือนายหนังหนึ่ง
คน  นายหนังเป็นคนที่มีความสำคัญที่สุดในคณะ  ชื่อของคณะส่วนมากเป็นชื่อของนายหนังนั่นเอง  นายหนังต้องเหน็ดเหนื่อยมากทั้งทางกายและสมอง  เพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวหนังทุกตัว  คือทั้งทำหน้าที่พากย์คือว่ากลอนสดและเจรจา  รวมทั้งเชิด  ผู้เป็นนายหนังส่วนใหญ่จึงมักเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบดี  แสดงได้ทุกบทบาท  พูดได้หลายเสียง  มีความรอบรู้มีอารมณ์ขัน  นายหนังจึงเป็นแกนสำคัญของคณะหนังตะลุง
          ส่วนลูกคู่ก็มีครบชุดตามเครื่องดนตรีคือ  คนตีทับหนึ่งคน  ทับจะวางคู่กันโดยกลับหัวกลับหาง  คนเป่าปี่หนึ่งคน  คนตีโหม่งและฉิ่งหนึ่งคน  คนตีกลองชาตรีหนึ่งคน  คนเคาะกรับหนึ่งคน  ถ้ามีซอด้วงด้วย  ก็มีคนสีซอด้วงอีกหนึ่งคน
           นอกจากนี้หนังตะลุงบางคณะยังมีหมอไสยศาสตร์ประจำอยู่อีกโรงละหนึ่งคน  หมดไสยศาสตร์มีไว้เพื่อทำพิธีเมื่อมีการแข่งขันกันหรือมีไว้เพื่อป้องกันการถูกกระทำด้วยไสยศาสตร์ในบางครั้ง
     

ลูกคู่ของหนังตะลุงนอกจากมีหน้าที่เล่นดนตรีแล้ว  ยังต้องขนย้ายดนตรีในการเดินทางไปแสดงอีกด้วย  ซึ่งนับเป็นงานหนักไม่น้อย  และในบรรดาลูกคู่ทั้งหลายบางทีก็มีเด็กที่จะฝึกหัดเพื่อเป็นหนังตะลุงอยู่ด้วย  ลูกคู่ประเภทนี้มักจะทำงานทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก  และมักจะไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ  ทั้งสิ้น  เพราะถือว่าได้รับความรู้จากนายหนังตะลุงผู้เป็นอาจารย์เป็นสิ่งตอบแทนอยู่แล้ว  และยังถือว่าการรับค่าตอบแทนจากอาจารย์ทำให้ไม่เป็นสิริมงคลแก่ตัวอีกด้วย

                 คลิก..ชมหนังตะลุง"ผดุงภูมิปัญญาไทย" (หนังนครินทร์ ชาทอง)