การสร้างรูปหนัง
                ผู้สร้างหรือศิลปินจะต้องมีพื้นความรู้  มีความคิด  มีจินตนาการ  ประสบการณ์เมื่อสร้างออกมาแล้วต้องสอดคล้องกับประเพณี  ความเชื่อ  ศาสนาการแต่งกาย ฯลฯ  ของท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ

  1. รูปหนังชวา  (Wayang  Jawa)

รูปหนังชวาหน้าไม่เหมือนคนเพราะเขาถือเรื่องที่เล่นเป็นของสูง  เป็นเทวดา  เช่นเรื่อง
มหาภารตะและรามายณะ  เรื่องที่ในบ้านเมืองเองก็มีเรื่องอิเหนา  เรื่องที่เล่นเป็นของสูง  ตัวละครเป็นเทวดา  ฉะนั้นเทวดาจะทำรูปร่างหน้าตาให้เหมือนคนไม่ได้  ศิลปะก็ใช้ศิลปะพื้นถิ่นนั้น

ที่มา : ใต้ หรอย มีลุย. 2547,55

2. รูปหนังใหญ่ของไทย

รูปหนังใหญ่ของไทย  เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากอินเดีย  แต่ความคิดและจินตนาการก็
แบบไทย  เพราะเราได้แต่วิธีการและเรื่องมา  รูปหนังเป็นแผ่นใหญ่มีเรื่องราวเป็นฉาก ๆ  แบบเดียวกับของอินเดีย  เช่นมีประสาท  เรือน  รูปหนังทำด้วยหนังทั้งผืน  ใช้ไม้ตับ  2  ตับสำหรับมือเชิด  ส่วนศิลปะหน้าตาและอื่น ๆ  ก็เป็นแบบของไทยเอง  เรื่องที่เล่นก็เป็นเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนใหญ่

ที่มา : สมุดภาพเรื่องหนังใหญ่หรือหนังไทยสมัยก่อน. 2526, 60 - 61

3.รูปหนังวายังเสียม  (Wayang  siam)

วายังเสียม  คือหนังไทย  มีเล่นอยู่ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้และตอนเหนือของ
มาเลเซียเป็นหนังผสมกันระหว่าง  Wayang Jawa  กับหนังตะลุงของไทย  แต่ก็ยังมีรูปหนังที่คล้าย ๆ  หนังชวาบ้าง  เช่น  แดหวอ  (เทวดา)  เป็นต้น  ศิลปะมีทั้งของไทยและศิลปะพื้นถิ่นแถวจังหวัดที่เล่นนั้น

ที่มา : ชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา. 2532, 90

การสร้างรูปหนังของไทย

จากการสืบค้น  สืบถามได้ความว่าหนังของไทยมีมาแล้วแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตามที่
ปรากฏในสมุดโฆษคำฉันท์  ลักษณะของรูปหนังเป็นลักษณะแบบหนังใหญ่  ต่อมาจะด้วยเห็นว่าหนังใหญ่รูปใหญ่มาก  ทำด้วยหนังทั้งผืน  รูปมาก ๆ  ก็ขนย้ายไปเล่นไกล ๆ  ไม่ได้  การขนย้ายลำบากมาก  จึงค่อย ๆ  ลดรูปให้เล็กลง  จากหนังใหญ่มาเป็นหนังตามรูปข้างล่างนี้
จากรูปลักษณะนี้ก็ลดลวดลายลงอีก  โดยเฉพาะลายที่อยู่รอบ ๆ  รูป  คงเหลือแต่รูปเหยียบ
นาคมือข้างหนึ่งเคลื่อนไหวได้  อีกข้างหนึ่งคงที่  (ตามรูป)

ที่มา : ชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา. 2532,92

รูปหนังจากรูปหนังใหญ่กลายเป็นหนังเล็ก  หรือภายหลังเรียกว่าหนังตะลุง  เท่าที่ปรากฏหลักฐานทางกรุงเทพฯ  เรียกว่าหนังตะลุงในสมัยรัชกาลที่  3  ก่อนนี้เรียกว่าหนัง  คนทางภาคใต้เองก็เรียกว่าหนัง  ไม่มีคำว่าตะลุง  เมื่อมีคำว่าตะลุงเกิดขึ้น  หนังเดิมที่คนบางกอกเคยเห็นเคยรู้จักก็ได้ชื่อว่าหนังใหญ่  คนทางปักษ์ใต้เมื่อประมาณ  40  ปีมาแล้วเรียกหนังตะลุงว่า  หนัง  เช่นไปแลหนัง  หนังไหร  (อะไร)  เล่น  หนังเลิก  ฯลฯ  ภายหลังคนปักษ์ใต้รู้ว่าหนังที่ตนดูอยู่นั้นชาวบางกอกเรียกว่าหนังตะลุง  จึงเรียกด้วยแต่ก็เรียกกันน้อย
        ศิลปะในการสร้างรูปหนังถ่ายทอดมาจากหนังใหญ่  ยึดแบบหนังใหญ่เป็นหลัก  ภายหลังได้ดัดแปลงปรับปรุงไปตามท้องถิ่นตามกาลเวลาวิธีการเล่นอาจนำแบบอย่างหนังชวามาเล่นบ้างแล้วพัฒนาไปตามแบบของตนเอง

ที่มา : ชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา. 2532,93

ศิลปินผู้สร้างรูปหนัง
            ศิลปินต้องเป็นผู้ที่มีความรู้  มีฝีมือทางศิลปะมีพื้นความรู้ทางประเพณีวัฒนธรรมทุกด้าน  มีประสบการณ์  รู้จักใช้จินตนาการรวมทั้งขนบนิยมในการสร้าง  ศิลปิผู้สร้างรูปมี  2  พวกคือ

1.นายหนังเป็นช่างศิลป์เอง  นายหนังมีเรื่องเป็นของตนเอง  หรืออาจได้แนวความคิด 

ความรู้  ประสบการณ์สูงก็สามารถฉลักฉลุหรือแกะรูปหนังได้ตามที่ตนคิด  รูปที่ออกมาจะสมใจนายหนังที่สุด

2. นายช่างแกะรูปหนังโดยเฉพาะ  พวกนี้เป็นช่างเฉพาะเล่นหนังไม่เป็นแต่ดูเป็น  รู้ใจ

นายหนังมีอาชีพอยู่แล้ว  งานแกะรูปหนังเป็นงานอดิเรก  นายหนังจะไปหาซื้อรูปหรือสั่งทำโดยเฉพาะโดยบอกความประสงค์ให้ช่างทราบ  บางครั้งก็สั่งสร้างรูปหนังตามเรื่องที่แสดง  เช่นเมื่อประมาณ  45  ปีมาแล้ว  นายหนังกั้น  ทองหล่อไปเล่นเรื่องพระอภัยมณีที่ตลาดเสรี  หน้าสถานีรถไฟยะยา  ที่นั่นต้องเล่นทุกคนจึงต้องใช้เรื่องยาวเล่นกันเป็นเดือน  นายหนังกั้นจึงสั่งช่างแกะรูปไปอยู่ด้วย  2  คน  ขณะเล่นก็ให้อ่านเรื่องพระอภัยมณีไปพลางเล่นเป็นตอน ๆ  นายช่างก็อ่านเช่นเดียวกัน  ช่างรูปหนัง  2  คนก็สามารถแกะรูปออกมาทันตามความต้องการ

ข้อสังเกตรูปหนังอดีตและปัจจุบัน
                รูปหนังที่เป็นเพศชาย  เช่น  รูปหน้าบท  เทวา  เจ้าเมือง  นางเมือง  กุมารหรือเจ้าชายทั้งหลาย  ยักษ์เมือง  ลูกยักษ์  ฯลฯ  หันหน้าไปทางข้าง  คือเป็นรูปที่มองเห็นไปทางข้างทั้งหมด นอกนั้นยังมีรูปฤาษี  ตา-ยาย  พระ  แม่ชีก็หันหน้าไปทางข้างเช่นเดียวกัน (ชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา. 2532, 89-94)