ขนบนิยมในการเล่น
โรงหนัง  จอหนัง  และรูปหนัง
   
โรงหนังตะลุงใช้เนื้อที่ราว  2x3  เมตร  ปลูกแบบยกพื้นสูงกว่าระดับศรีษะผู้ใหญ่เล็กน้อย  หลักคาเพิงเหมาแหงน  หลังคาส่วนหน้าสูงจากพื้นโรงพอยืนได้สบายแล้วค่อยลาดลงจนต่ำสุดที่ท้ายโรงมาเป็นกันสาด  ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอในโรงมีตะเกียงน้ำมันไขสัตว์หรือตะเกียงน้ำมันมะพร้าว  หรือดวงไฟแขวนไว้ใกล้จอสูงจากพื้นราวหนึ่งฟุตเศษ  จอกว้างและยาวประมาณ  5x10  ฟุตติดกับจอผ้ามีต้นกล้วยยาวเกือบเท่ากับความยาวของจอ  นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วยวางไว้ข้างฝาทั้งสองข้างของโรง  เพื่อไว้ปักพักรูปหนัง  ส่วนด้านข้างทั้งสองด้านกั้นด้วยทางมะพร้าวหรือจาก  บนหลังคาจะมีเชือกผูก 2-3 เส้นเพื่อไว้แขวนรูปหนังสำหรับรูปหนังตะลุงขอกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ว่า  มีขนาดหลายขนาด  คือเล็กใหญ่แตกต่างกันรูปยักษ์  รูปเจ้าเมือง  และรูปฤาษี  จะใหญ่กว่ารูปอื่น ๆ  รูปหนังประเภทตัวตลกเกือบทุกตัวถ่ายทอดไปจากบุคคลจริง ๆ  หนังตะลุงคณะหนึ่งจะมีตัวตลกเอกอยู่  1-2  ตัว  และเปรียบเสมือนตัวแทนของนายหนังเอง  หนังตะลุงแต่ละคณะมีรูปหนังไม่เท่ากัน  มีประมาณ  150  ถึง300 ตัวตามความจำเป็นที่ต้องใช้  มีที่เก็บเรียกวา  “แผง”  เมื่อไปแสดง  ณ  ที่ใดจะต้องนำรูปหนังออกมาจากแผงให้หมดแล้วจัดเรียงไว้ตามลำดับการใช้  และเมื่องแสดงแล้วต้องจัดเก็บใส่แผงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดังเดิม
ที่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้. 2544,7
การเล่นหรือแสดงหนังตะลุง

โอกาสที่หนังตะลุงจะแสดง  คืองานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลอง  ส่วนงานมงคลนั้นแต่เดิมจะไม่
นิยม  แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าคลายความเคร่งครัดลงไปแล้ว  สำหรับงานศพถ้าเป็นงานศพสดจะไม่นิยมเพราะเจ้าของงานกำลังอยู่ในอารมณ์เศร้า  แต่ถ้าเป็นงานศพกระดูกก็มีในบางท้องถิ่นเท่านั้นที่นิยมกัน  ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าการแสดงหนังตะลุงมักอยู่ในรูปการจัดหารายได้เป็นส่วนใหญ่  อาจจะหารายได้บำรุงวัด  หรือไม่ก็เป็นธุรกิจการค้าไปก็มี
                การแสดงหนังตะลุงอาจจะแสดงเพียงครึ่งคืนหรือตลอดคืนก็มี  มักเริ่มแสดงในเวลาประมาณ  20.30-21.30  น.   ถ้าแสดงตลอดคืนจะมีพักตอนเที่ยงคืนไม่เกินหนึ่งชั่วโมง  การคิดค่าจ้างขึ้นอยู่กับหนังว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่  ถ้าเป็นคณะที่มีชื่อเสียงราคาค่าจ้างอาจจะถึง  2,000  บาทต่อคืนก็ได้
                ก่อนลงมือแสดงจะมีโหมโรงก่อน  หรือ  “ลงโรง”  หรือ  “ตีเครื่อง”  เพื่อเริ่มเรียกคนดู  แล้วเอารูปปักหน้าจอ  อาจจะเป็นรูปปราสาท  ก่อนออกรูปหนังนายหนังจะไหว้ครูสวดมนต์คาถาคุ้มครองป้องกันตัว  เสร็จแล้วเอารูปปราสาทออกเอารูปฤาษีออกเชิด  ตั้งนโมสวดบทสัคเค  ชุมนุมเทวดา  ต่อจากนี้ก็ออกรูปลิงขาวให้มารบกัน*  ฤาษีจะออกมาห้ามปรามสั่งสอน
*มาในระยะหลังมักไม่ค่อยมีการออกรูปลิงขาวลิงดำ แต่จะออกรูปฤาษีมาเป็นรูปแรกเลย
  ต่อไปจะออกรูปพระอิศวร  หรือรูปโค  หนังจากนั้นก็ออกรูปหน้าบท  ออกมาขับบทไหว้ครูอาจารย์  บิดามารดา  ผู้ที่เคารพนับถือ  ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาคุ้มครองป้องกัน  ต่อจากนั้นก็ออกรูปตัวตลกมาบอกเรื่องที่จะแสดงในคืนนั้น  แล้วก็เริ่มแสดงเรื่อง  โดยออกรูปเจ้าเมือง  นางเมือง  เรื่องที่แสดงถ้าเป็นในสมัยก่อนมักแสดงเรื่องรามเกียรติ์  แต่ในปัจจุบันนี้  เนื้อเรื่องมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับนวนิยานสมัยใหม่ที่มีครบทุกรส
                ถ้าการแสดงนั้นเจ้าภาพต้องการแก้บนด้วย  หลังจากออกรูปหน้าบทแล้วจะเริ่มเล่นเรื่องรามเกียรติ์  ตอนเจ้าบุตร  เจ้าลบ  หรืออาจจะเป็นตอนอื่นก็ได้  เพื่อถวายเจ้าพ่อหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บนบานไว้  จะเล่นอยู่ประมาณ  5-7  นาที  คือถ้าเป็นตอนเจ้าบุตร  เจ้าลบ  พอศรที่แผลงถูกต้นรังขาดก็เป็นการประกาศว่า  คำบนบานของเจ้าภาพสิ้นสุดลงแล้ว  ต่อจากนั้นก็มีตัวตลกออกมาบอกเรื่องที่แสดง  แล้วดำเนินเรื่องไปตามธรรมดา (ชวน  เพชรแก้ว. 2532,6 – 7)

 

 

ที่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้. 2544,15

หนังตะลุงทุกคณะยึดขนบในการเล่นแบบเดียวกัน  โดยลำดับการเล่นดังนี้
1.  ตั้งเครื่องเบิกโรง  เป็นการทำพิธีเอาฤกษ์  รูปคู่บรรเลงเพลงเชิด  ชั้นนี้เรียกว่า  “ตั้งเครื่อง” 
จากนั้นนายแผงจะแก้รูปออกจัดปักวางรูปให้เป็นระเบียบ  ฝ่ายนายหนังจะทำพิธีเบิกโรง  โดยเอาเครื่องเบิกโรงที่เจ้าภาพจัดให้คือถ้าเป็นงานทั่ว ๆ  ไปใช้หมากพลู  9  คำ  เทียน  1  เล่ม  ถ้าเป็นงานอัปมงคล  เพิ่มเสื่อ  1 ผืน  หมอน  1  ใบ  หม้อน้ำมนต์  1  ใบ  ถ้าเป็นงานแก้บนใช้เทียน  9  เล่ม  และเพิ่มดอกไม้  ข้าวสาร  และด้ายดิบ  และทุกงานต้องมีเงินค่าเบิกโรงจำนวนหนึ่ง  แล้วแต่หนังจะกำหนด  เช่น  3  บาทบ้าง  12  บาทบ้าง  มาวางไว้หน้าหยวก  ร้องชุมนุมครูเสร็จแล้วเอารูปฤาษี  รูปปรายหน้าบท  รูปเจ้าเมือง  ปักหยวกร้องเชิญครูหมอหนังให้มาคุ้มครอง  ขอที่ตั้งโรงจากพระภูมิและนางธรณีแล้วเสกหมาก  3  คำ  ซัดทับ  1  คำ  เหน็บไว้ที่ตะเกียงหรือดวงไฟ  1  คำ  และเหน็บไว้บนหลังคาโรงเหนือศีรษะ  1  คำ  เป็นการกันเสนียดจัญไร  จบแล้วลูกคู่บรรเลงเพลงโหมโรง

2.โหมโรง  การโหมโรงเป็นการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ  เพื่อเรียกคนดู  และให้นายหนังได้

เตรียมพร้อม  การบรรเลงเพลงโหมโรงเดิมทีเล่ากันว่าใช้  “เพลงทับ”  คือใช้ทับเป็นตัวยืนและเดินจังหวะทำนองต่าง ๆ  กันไป  ดนตรีชิ้นอื่น ๆ  บรรเลงตามทับทั้งสิ้น  เพลงที่บรรเลงมี  12  เพลง  คือ  เพลงเดิน  เพลงถอยหลัยเข้าคลอง  เพลงปักษ์เพลงสามหมู่  เพลงนาดกรายเข้าวัว  เพลงนางเดินป่า  เพลงสรงน้ำ  เพลงเจ้าเมืองออกสั่งราชการ  เพลงชุมพล  เพลงยกพล  เพลงยักษ์จับสัตว์  และเพลงกลับวัง  ครั้นภายหลังหันมานิยมโหมโรงด้วยเพลงปี่  คือใช้ปี่เดินทำนองเป็นหลัก  เพลงที่ใช้เป็นเพลงไทยเดิม  ถ้าบรรเลงให้สมบูรณ์ต้องให้ได้  12  เพลง  ได้แก่  เพลงพัดชา  เพลงลาวสมเด็จ  เพลงเขมรปี่แก้ว  เพลงเขมรปากท่อ  เพลงจีนแส  เพลงลาวดวงเดือน  เพลงชายคลั่ง  เพลงสุดสงวน  เพลงนางครวญ  เพลงสะบัดสะบิ้ง  เพลงเขมรพวง  และเพลงชะนีร้องไห้  หนังบางคณะก็เล่นต่างไปจากนี้บ้าง  แต่ต้องครบ  12  เพลง  สำหรับปัจจุบันการโหมโรงนิยมเริ่มด้วยเพลงปี่  โดยบรรเลงเพลงพัดชา  ซึ่งถือว่าเป็นเพลงครู  ครั้นจบแล้วก็มักเล่นเพลงลูกทุ่งกันเป็นพื้น

3. ออกลิงหัวค่ำ  เป็นธรรมเนียมการเล่นหนังตะลุงสมัยก่อน  ปัจจุบันเลิกเล่นแล้ว  เข้าใจว่า    ได้รับอิทธิพลจากหนังใหญ่  เพราะรูปที่ใช้เชิดส่วนใหญ่เป็นรูปจับ  มีฤาษีอยู่กลาง  ลิงขาวกับลิงดำอยู่คนละข้าง  แต่รูปที่แยกเป็นรูปเดี่ยว ๆ  3  รูปแบบเดียวกับของหนังตะลุงก็มี

4. ออกฤาษี  เป็นการเล่นเพื่อคารวะครู  (ดังกล่าวตอนต้นว่าหนังเริ่มขึ้นโดยพวกฤาษีในลัทธิฮินดู)  และปัดเป่าเสนียดจัญไร  โดยขออำนาจจากพระพรหม  พระอิศวร  พระนารายณ์และเทวะอื่น ๆ  และบางหนังยังขออำนาจจากพระรัตนตรัยด้วย

ฤาษี เป็นรูปครู มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไร และ ภยันตรายทั้งปวง ทั้งช่วยดลบันดาลให้หนังแสดงได้ดี เป็นที่ชื่นชมของคนดู รูปฤาษีรูปแรกออกครั้งเดียว นอกจากประกอบพิธีตัดเหมรยเท่านั้น

5. ออกรูปพระอิศวร หรือรูปโค
รูปพระอิศวรของหนังตะลุง ถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง ทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ หนังเรียกรูปพระอิศวรว่ารูปพระโคหรือรูปโค หนังคณะใดสามารถเลือกหนังวัวที่มีเท้าทั้ง 4 สีขาว โหนกสีขาว หน้าผากรูปใบโพธิ์สีขาว ขนหางสีขาว วัวประเภทนี้หายากมาก ถือเป็นมิ่งมงคล ตำราภาคใต้ เรียกว่า "ตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์"
    โคอุสุภราชสีเผือกแต่ช่างแกะรูปให้วัวเป็นสีดำนิลเจาะจงให้สีตัดกับสีรูปพระอิศวรามลัทธิพราหมณ์พระอิศวรมี 4 พระกร ถือตรีศูล ธนู คฑา และ บาศ พระอิศวรรูปหนังตะลุงมีเพียง 2 กร ถือจักร และ พระขรรค์ เพื่อให้รูปกะทัดรัดสวยงาม

.ออกรูปฉะหรือรูปจับ  คำว่า  “ฉะ”  คือสู้รบ  ออกรูปฉะ  เป็นการออกรูปพระรามกับทศกัณฐ์ให้ต่อสู้กัน  วิธีเล่นใช้ทำนองพากย์คล้ายหนังใหญ่การเล่นชุดนี้หนังตะลุงเลิกเล่น ไปพร้อมๆกับลิงหัวค่ำไปนานแล้ว

6.ออกรูปปรายหน้าบท  รูปปรายหน้าบทเป็นรูปผู้ชายถือดอกบัวบ้าง  ธงชาติบ้าง  ถือเป็น   ตัวแทนของนายหนัง เป็นรูปชายหนุ่มแต่งกายโอรสเจ้าเมือง มือหน้าเคลื่อนไหวได้ มือทำเป็นพิเศษให้นิ้วมือทั้ง 4 อ้าออกจากนิ้วหัวแม่มือได้ อีกมือหนึ่งงอเกือบตั้งฉาก ติดกับลำตัวถือดอกบัว หรือช่อดอกไม้ หรือธง ใช้เล่นเพื่อไหว้ครู  ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่หนังเคารพนับถือทั้งหมด  ตลอดทั้งใช้ร้องกลอนปรารภฝากเนื้อฝากตัวกับผู้ชม

7. ออกรูปบอกเรื่อง  รูปบอกเรื่องเป็นรูปตลก บอกคนดูให้ทราบว่า ในคืนนี้หนังแสดงเรื่องอะไร หนังส่วนใหญ่ใช้รูปขวัญเมือง  เล่นเพื่อเป็นตัวแทนของนายหนัง  ไม่มีการร้องกลอน  มีแต่พูด สมัยที่หนังแสดงเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว ก็ต้องบอกให้ผู้ดูทราบว่าแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด บอกคณะบอกเค้าเรื่องย่อๆ เพื่อให้ผู้ดูสนใจติดตามดู

8.  เกี้ยวจอ  เป็นการร้องกลอนสั้น ๆ  ก่อนตั้งนามเมือง  เพื่อให้เป็นคติสอนใจแก่ผู้ชมหรือเป็นกลอนพรรณนาธรรมชาติและความในใจกลอนที่ร้องนี้  หนังจะแต่งไว้ก่อน  และถือว่ามีความคมคาย
9.  ตั้งนามเมือง  หรือตั้งเมือง  เป็นการออกรูปกษัตริย์โดยสมมุติขึ้นเป็นเมือง ๆ  หนึ่งจากนั้นจึงดำเนินเหตุการณ์ไปตามเรื่องที่กำหนดไว้
เรื่องที่หนังตะลุงใช้เล่น  ตามตำนานหนังตะลุงว่า  เริ่มแรกหนังเล่นเรื่องรามเกียรติ์  ต่อมาเล่นเรื่องจักร ๆ  วงศ์ ๆ  เป็นนิทานประโลมโลก  ซึ่งเอามาจากวรรณคดีบ้าง  ดัดแปลงมาจากชาดกบ้างและผูกเรื่องขึ้นเองบ้าง  เรื่องที่นิยมเล่นเมื่อประมาณ  80  ปีที่แล้ว  ไดแก่  สุวรรณราช  แก้วหน้าม้า  ลักษณาวงศ์  โคบุด  หอยสังข์  หลวิชัยคาวี  นางสิบสอง  พระสุธน  และเต่าทอง  เป็นต้น  ครั้นหนังสือนวนิยายเริ่มแพร่หลาย  หนังบางคณะก็เอานวนิยายมาดัดแปลงเล่นก็มี  เช่น  เรื่องพานทองรองเลือด  เรื่องเสือใบเสือดำ  ของ ป.อินทรปาลิต  และบางเรื่องของพนมเทียน  เป็นต้น  ปัจจุบันนี้หนังบางส่วนยังเล่นแบบจักร ๆ  วงศ์ ๆ  บางส่วนประสมประสานระหว่างแบบเก่ากับแบบใหม่เข้าด้วยกัน  และบางส่วนจะเดินเรื่องแบบนวนิยายทุกประการ  ไม่มีตัวละครประเภทเทวดา  ยักษ์  ผี  ไม่มีการตายแล้วชุบชีวิตได้  และไม่มีเหาะเหินดำดินคงเป็นแบบสัจนิยมอย่างบริสุทธิ์  แม้แต่ฉากก็เป็นสถานที่จริง ๆ
          การเล่นหนังตะลุงที่ให้ความสนุกสนานที่สุดคือ  ตอนประชันที่เรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า  “แข่งหนัง”  เพราะหนังคู่ประชันจะเล่นเอาชนะกันอย่างสุดความสามารถ  สมัยก่อนการแข่งหนังตะลุงมักจะชิงขันน้ำพานรอง  ชิงโหม่ง  ชิงจอ  แต่ระยะหลังมีรางวัลแปลก ๆ  เช่น  พระพิฆเนศวร์ทองคำ  ฤาษีทองคำ  เทวดาทองคำ  เป็นต้น  การเล่นหนังแข่งขัน  มีขนบนิยมเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วแต่มีกติกาที่คู่แข่งขันจะต้องปฏิบัติ  คือเมื่อตีโพนลาแรกประมาณ  2  ทุ่มครึ่ง  หรือ  3  ทุ่ม  หนังจะเริ่มลงโรง  ลาที่  2  ออกฤาษี  ลาที่ 3  หยุดพักเที่ยงคืน  ลาที่ 4  เล่นต่อ  และลาสุดท้ายจะตีราว ๆ  05.00  นาฬิกา  เป็นการบอกสัญญาณจะเริ่มการตัดสินของกรรมการ  ซึ่งการตัดสินจะใช้จำนวนคนดูเป็นเกณฑ์  โรงไหนคนมากกว่าก็ชนะ  ในตอนนี้เองที่หนังแต่ละคณะต้องเล่นอย่างสุดฝีมือ  พยายามเรียกคนดูจากอีกโรงหนึ่งมาให้ได้  ซึ่งเรียกกันว่า  “ชะโรง”  วิธีการเรียกคนดูในตอนนี้มีเทคนิคต่าง ๆ  กัน  เช่น  ตลกจนสุดขีดบ้าง  สร้างความตื่นเต้นโดยให้ตัวละครสู้รบกันบ้าง  แสดงอารมณ์โศกอย่างที่สุดบ้าง  และบ่อยครั้งที่หนังใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วย  โดยทำให้หนังฝ่ายตรงกันข้ามเสียที  อย่างไรก็ตาม  ในการแข่งขันกันหนังจะถือเคล็ดหรือใช้ไสยศาสตร์ทั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว  เช่น  จะเลือกที่ตั้งโรงอันเป็นชัยภูมิที่เหนือกว่าหนังอีกฝ่ายหนึ่ง  ป้องกันตัวไม่ให้ถูกคุณไสยได้  และถ้าทำคุณไสยฝ่ายตรงข้ามได้ก็ทำการแข่งขันหนังตะลุงจึงเป็นเรื่องที่สนุกทั้งหนังและคนดู
ที่มา : หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้. 2544,21

ี่กล่าวแต่ต้นนี้  เป็นขนบนิยมในการเล่นหนังเพื่อความบันเทิงทั่ว ๆ  ไป  แต่หากเล่นประกอบพิธีกรรมจะมีขนบนิยมเพิ่มขึ้น  การเล่นเพื่อประกอบพิธีการมี  2  อย่าง  คือ  เล่นแก้เหมรยและเล่นในพิธีครอบมือ  การเล่นแก้เหมรยเป็นการเล่นเพื่อบวงสรวงครูหมอหนังหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามพันธะที่บนบานไว้  หนังตะลุงที่จะเล่นแก้เหมรยได้ต้องรอบรู้ในพิธีกรรมอย่างดีและผ่านพิธีครอบมือถูกต้องแล้ว  การเล่นแก้เหมรยจะต้องดูฤกษ์ยามให้เหมาะ  เจ้าภาพต้องเตรียมเครื่องบวงสรวงไว้ให้ครบถ้วนตามที่บนบานไว้ ขนบนิยมในการเล่นทั่ว ๆ  ไปแบบเดียวกับการเล่นเพื่อความบันเทิง  แต่เสริมการแก้บนเข้าไปในช่วงออกรูปปรายหน้าบท  โดยกล่าวขับร้องเชิญครูหมอหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเครื่องบวงสรวง  ยกเรื่องรามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่งที่พอจะแก้เคล็ดว่าตัดเหมรยได้ขึ้นแสดง  เช่น  ตอนเจ้าบุตรเจ้าลบ  เป็นต้น จบแล้วชุมนุมรูปต่าง ๆ  มี  ฤาษี  เจ้าเมือง  พระ  นาง  ยักษ์  ตัวตลก  ฯลฯ  โดยปักรวมกันหน้าจอเป็นทำนองว่าได้ร่วมรู้เห็นเป็นพยานว่าเจ้าภาพได้แก้เหมรยแล้ว  แล้วนายหนังใช้มีดตัดห่อเหมรยขว้างออกนอกโรงเรียกว่า  “ตัดเหมรย”  เป็นเสร็จพิธี  ส่วนการครอบมือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุรพกาล  “ครูต้น”  มีพระอุณรุทธไชยเถร  พระพิราบหน้าทอง  ตาหนุ้ย  ตาทองหนัก  ตาเพชร  เป็นต้น  โดยเชื่อว่าผู้ผ่านพิธีดังกล่าวคือหนังที่ได้มอบตนแก่ครูอย่างถูกต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายหนังตะลุงโดยสมบูรณ์  ทั้งยังเชื่อว่าครูจะให้การคุ้มครองและยังความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพ  การเล่นครอบมือจะเริ่มด้วยการเบิกโรง  เช่นบวงสรวงครู  ไหว้สัดดีเพื่อขอความสวัสดิมงคล  เชื้อ  (เชิญ)  ครูให้มาเข้าทรง  เบิกบายศรี  แล้วให้ผู้เข้าพิธีปิดตาเสี่ยงจับรูปเพื่อทำนายอนาคตของหนังการเสี่ยงทายจะนำเอารูปฤาษี  พระ  นาง  ยักษ์  และเสนา  มาห่อรวมกันให้โผล่แต่ไม้ตับรูป  แล้วให้ผู้เข้าพิธีเสี่ยงจับเอาตัวเดียว  จับได้แล้วนายหนังผู้ประกอบพิธีจะยื่นรูปนั้นให้ผู้เข้าพิธีเชิดออกจอพิธีนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “พิธียื่นรูป” 

กลอนและลีลากลอน
                การเล่นหนงตะลุงคล้ายกับละคร  คือมีบทร้อง  บทเจรจา  และออกท่าทางประกอบ  ผิดกัน  แต่การออกท่าทางใช้ตัวหนังแทนคนจริง ๆ  บทกลอนที่หนังตะลุงใช้ร้องส่วนใหญ่นิยมกลอนสดเรียกว่า  “มุดโต”  โดยใช้กลอนแปดหรือกลอนตลาดเป็นพื้นเว้นแต่ตอนที่ต้องการเน้นท่องทำนองลีลาให้สอดคล้องกับลักษณตัวละครและเหตุการณ์ของเรื่องจึงใช้รูปแบบอื่น ๆ  แทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ  เช่นใช้กลอนสี่หรือกลอนสามห้าในตอนชมโฉม  ตอนบรรยายหรือพรรณนาที่ให้อารมณ์หรรษา  คึกคะนอง  และตอนที่ใช้ตัวละครอาวุโส  เช่น  บิดามารดา  ฤาษี  กล่าวสอนศิษย์หรือบุตรธิดา  ใช้กลอนลอดโหม่งในการพรรณนาคร่ำครวญแสดงความทุกข์โศก  การเดินทางติดตามด้วยอาลัยรัก  ใช้กลอนหก  หรือกลบทคำตายในบทโกรธและบทยักษ์เพื่อให้เกิดความขึงขังเอาจริงเอาจัง  ใช้กลอนบทสะบัดสะบิ้งตอนออกรูปพระอินทร์  ใช้กาพย์ฉบัง  16  ตอนออกพระอิศวร  ใช้ร่ายโบราณตอนออกฤาษี  ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประพันธ์ประเภทกลบทนั้นนับว่าหนังตะลุงได้ศึกษากันพิเศษ  หนังสือที่หนังตะลุงจะเรียนเพื่อเอาเป็นแบบอย่างด้านกาพย์กลอนคือ  กลบทสิริวิบุลกิต  หรือที่ภาคใต้  เรียกว่า  “ยศกิต”
                ในด้านการขับร้องกลอนจะมีทำนองร้องต่าง ๆ  หลายทำนอง  สำหรับกลอนแปดจะใช้ทำนองสงขลาซึ่งมีลีลาเนิบช้าทำนองหนึ่ง  หนังตะลุงทางสงขลานิยมเล่นทำนองนี้  และจะใช้ทำนองสงขลากลาย  ซึ่งมีลีลาเร่งเร็วอีกทำนองหนึ่ง  ซึ่งนิยมกันในหมู่หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราชส่วนกลอนชนิดอื่น ๆ  ก็เรียกทำนองตามกลอนหรือคำประพันธ์ชนิดนั้น  เช่น  ถ้าใช้กลอนลอดโหม่งก็เรียก  “ทำนองลอดโหม่ง”  เว้นแต่กลอนสี่และกลอนสามห้า  ที่นิยมกันมากในหมู่หนังจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งจะเรียกชื่อเฉพาะว่า  “ทำนองคอน”  หรือ  “คำคอน”
                แม้หนังตะลุงจะเล่นกลอนมุดโตเป็นพื้นแต่กลอนที่แต่งไว้ก่อนก็มีไม่น้อย  โดยเฉพาะกลอนที่ใช้ว่าในบทหลัก ๆ  เช่น  กลอนออกรูปปรายหน้าทบ  บทเกี่ยวจอ  บทตั้งนามเมือง  บทชมธรรมชาติ  บทสอนใจ  บทสมห้อง  (บทสังวาส)  กลอนยักษ์  กลอนเทวดา  และบทโกรธ  เป็นต้น
                 ด้วยเหตุที่หนังตะลุงมีกลอนหลายรูปแบบและมีทำนองลีลาการร้องกลอนที่แตกต่างกันทำให้กลอนหนังตะลุงมีเสน่ห์  ยิ่งดนตรีที่บรรเลงประกอบการขับกลอนแต่ละอย่างต่างแปลกกันไปทั้งลีลาและท่วงทำนองแล้ว  ยิ่งเพิ่มความไพเราะและมนต์ขลังยิ่งขึ้น  อนึ่งการร้องกลอนของหนังตะลุงนั้น  นายหนังจะขึ้นเสียงให้ได้ระดับเสียงโหม่งและทอดใยเสียงให้กลมกลืนกับเสียงโหม่ง  เรียกว่า  ”เสียงเข้าโหม่ง”  ทำให้เสียงไพเราะชวนฟังยิ่งนัก ( หนังตะลุง  :  อัจฉริยะลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้ 2544,8-15 ) *รปหนังตะลุง ที่มา : ขั้นตอนและโอกาสในการแดงหนังตะลุง
http://www.nangtalung.com/nangtalung05.htm

 
PREVIOUS