ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้
   ในช่วง50ปีที่ผ่านมาก่อนทีวัฒนธรรมจากเมืองหลวงมีอิทธิพลเหนือ วัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นในชนบทภาคใต้
จะมีกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม  ความเชื่อและทัศนะในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
อยู่4 กลุ่มคือ  พระภิกษุสูงอายุที่ชาวบ้านเรียกว่า  พ่อหลวง ครูประถมศึกษา  กำนันผู้ใหญ่บ้าน  และนายหนังตะลุง

        ทั้ง  4  กลุ่มที่กล่าวมานั้น นายหนังตะลุงจะมีลักษณะพิเศษกว่ากลุ่มอื่น ๆ  กล่าวคือมีความเป็นอิสระในการนำสาระต่าง ๆ  มาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านโดยไม่มีพันธะใด ๆ  มาเป็นเครื่องจำกัด นายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงจะได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านทั่วไปยิ่งกว่าคนของทางราชการที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “นาย”  หนังตะลุงจะเป็นขวัญใจของชาวบ้านอย่างแท้จริงไม่แพ้นักร้องนักแสดงที่เป็นขวัญใจของวัยรุ่นในสมัยนี้
                การที่หนังตะลุงคณะหนึ่งคณะใดจะเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านได้นั้น จะต้องมีมุขตลกที่ชาวบ้านชื่นชอบ  หนังตะลุงแต่ละคณะจะมีตัวตลกเอกประจำคณะของตนเอง  เช่น  หนังจันทร์แก้ว  จะมีอ้ายเมืองเป็นตัวชูโรง  หนังพร้อมน้อย  ตะลุงสากุล  จะมีอ้ายหลำ  หนังปฐม  จะมีอ้ายลูกหมีเป็นตัวตลกเอก  เป็นต้น
                ตัวตลกในหนังตะลุงมีหลายตัว  แต่ที่เป็นตลกสากลที่ต้องมีทุกคณะคือ  อ้ายเท่ง และอ้ายหนูนุ้ย  นอกจากนั้นแล้วแต่คณะใดจะใช้ตัวตลกใดก็ได้  เช่น  อ้ายแก้ว  อ้ายพูน  อ้ายปราบ  อ้ายเมือง  อ้ายยอดทอง  อ้ายดิก  เป็นต้น
                ตัวตลกทุกตัวในหนังตะลุงจะมีนิสัย  สำเนียงการพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  เช่น  อ้ายเท่ง  ไม่ว่านายหนังคนไหนจะเชิดรูปอ้ายเท่ง  ก็ต้องพากย์เสียงของอ้ายเท่งให้เหมือนจริง  จะพากย์ตามใจชอบไม่ได้
                นอกจากนี้ตัวตลกในหนังตะลุงนั้น  เชื่อกันว่ามีประวัติความเป็นมาจากคนที่มีชีวิตอยู่จริงทั้งสิ้น  เช่น

1.อ้ายเท่ง เอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อเท่ง อยู่บ้านคูขุด อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา หนังจวนบ้านคูขุดนำมาตัดรูปตลกเป็นครั้งแรก หนังคณะอื่นๆ นำไปเลียนแบบ รูปร่างผอมบางสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย นิ้งชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าขะม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก (มีดปลายแหลมด้านงอโค้งมีฝัก) ชอบพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ขู่สำทับผู้อื่น ล้อเลียนเก่ง เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย



2.อ้ายหนูนุ้ย นำเค้ามาจากคนซื่อๆ แกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงยานโย้คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นออกไป คล้ายกับปากวัว มีเครายาวคล้ายหนวดแพะ ใครพูดเรื่องวัวเป็นไม่พอใจ นุ่งผ้าโสร่งแต่ไม่มีลวดลาย ไม่สวมเสื้อ ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือดันขึ้นนาสิก ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม แสดงความซื่อออกมาเสมอ
3.นายยอดทอง เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนจริงชาวจังหวัดพัทลุง รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อยก้นงอนขึ้นบนผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ โครพูดถึงเรื่องจระเข้ไม่พอใจ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ปากพูดจาโอ้อวด ใจเสาะ ขี้ขลาด ชอบขู่หลอก พูดจาเหลวไหล ยกย่องตนเอง บ้ายอ ชอบอยู่กับนายสาว ที่มีสำนวนชาวบ้านว่า "ยอดทองบ้านาย"
     นายยอดทอง แสดงคู่กับตัวตลกอื่นๆ ได้หลายตัว เช่น คู่กับอ้ายหลำ คู่กับอ้ายขวัญเมือง คู่กับอ้ายพูนแก้ว คู่กับอ้ายดำบ้า คู่กับอ้ายลูกหมี คู่กับอ้ายเสมียน เป็นต้น
           
4.นายสีแก้ว เชื่อกันว่าเอาเค้ามาจากคนที่ชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนมีตะบะ มือหนักโกรธใครตบด้วยมือหรือชนด้วยศรีษะ เป็นคนพูดจริง ทำจริง สู้คน ชอบอาสาเจ้านายด้วยจริงใจ ตักเตือนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศรีษะล้าน นุ่งผ้าโจงกระเบนลายตาหมากรุก ไม่สวมเสื้อ ไม่ถืออาวุธใดๆ ใครพูดล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องร้อน เรื่องจำนวนเงินมากๆ จะโกรธทันที พูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ เพื่อนคู่หูคือนายยอดทอง
            
5.อ้ายสะหม้อ หนังกั้น ทองหล่อ นำมาจากคนจริง โดยได้รับอนุญาตจากชาวอิสลามชื่อสะหม้อ อยู่บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หนังตะลุงอื่นๆ ที่นำไปเลียนแบบ พูดกินรูปสู้หนังกั้น ทองหล่อไม่ได้ รูปร่างอ้ายสะหม้อ หลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ พูดล้อเลียนผู้อื่นได้เก่ง ค่อนข้างอวดดี นับถือศาสนาอิสลามแต่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น
6.อ้ายขวัญเมือง ไม่มีประวัติความเป็นมา เป็นตัวตลกเอกของหนังจันทร์แก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช คนในถิ่นนั้น เขาไม่เรียกว่าอ้ายเมือง แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" แสดงว่าได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นอย่างสูงเหมือนกับเป็นคนสำคัญผู้หนึ่ง ใบหน้าของขวัญเมืองคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด ปลายนิ้งชี้คล้ายนิ้วมืออ้ายเท่ง นุ่งผ้าพื้นดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ บางครั้งแฝงไว้ซึ่งความฉลาด ชอบสงสัยเรื่องของผู้อื่น พูดจาเสียงหวาน หนังจังหวัดสงขลาแสดงคู่กับอ้ายสะหม้อ หนังจังหวัดนครศรีธรรมราชแถวอำเภอเชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ให้แสดงคู่กับนายยอดทอง หนังพัทลุง ตรัง นิยมให้เป็นตัวบอกเรื่อง เฝ้าประตูเมือง ออกตีฆ้องร้องป่าว
                    
7.ผู้ใหญ่พูน น่าจะเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศรีษะล้าน มีผมเป็นกระจุกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางกลวงอยู่ กลางพุงโย้ย้อยยาน ตะโพกใหญ่ขวิดขึ้นบน เพื่อนมักจะล้อเลียนว่า บนหัวติดงวงถังตักน้ำ สันหลังเหมือนเขาพับผ้า (อยู่ระหว่างพัทลุง-ตรัง) นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่มีลวดลาย ชอบยุยง โม้โอ้อวด เห่อยศ ขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว ธาตุิแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ชอบแสแสร้งปั้นเรื่องฟ้องเจ้านาย ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์หรือกับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ
8.อ้ายโถ เอาเค้ามาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา รูปร่าง มีศรีษะค่อนข้างเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าใน ส่วนท้องตึง อกใหญ่เป็นรูปโค้ง สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ ชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น ถือเอาเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม อ้ายโถจะชักเรื่องที่พูดวกเข้าหาเรื่องกินเสมอ เป็นตัวตลกประกอบ
9.อ้ายแก้วกบ อ้ายลูกหมีก็เรียก เป็นตัวตลกเอกของหนังจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อคู่หูคือนายยอดทอง

อ้ายหลำ  เป็นตัวตลกที่มีชื่อเสียงมากในสมัยที่หนังพร้อยน้อย  ตะลุงสากลมีชื่อเสียง
                อ้ายหลำเป็นตลกเอกคู่บารมีหนังพร้อมโดยแท้  กล่าวว่าหนังพร้อมดังได้ก็เพราะอ้ายหลำ  ภายหลังต่อมาหนังพร้อมได้เป็นถึง  ส.ส.ของจังหวัดพัทลุงถึง  3  สมัยติดต่อกัน  คณะหนังตะลุงที่จะใช้อ้ายหลำเป็นตัวตลกได้มีเฉพาะหนังพร้อมและลูกศิษย์ของหนังพร้อมเท่านั้น
                ปัจจุบันนี้วงการหนังตะลุงได้มีตัวตลกเพิ่มมาอีกตัวหนึ่งคือ  บักหำศิลปิน  เป็นคนภาคอีสานที่มาขายแรงงานภาคใต้  ไม่ยอมกลับบ้านหนังที่นำบักหำมาเป็นตัวตลกเอกคือ  หนังอาจารย์ณรงค์  ตะลุงบัณฑิต  จากจังหวัดตรังและตอนนี้บักหำได้เป็นตัวตลกที่กำลังเนื้อหอม  เพราะมีหนังหลายคณะนำบักหำไปเป็นตัวตลกเอกแล้ว
                ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ถือว่าเป็นขวัญใจของชาวภาคใต้โดยแท้  เพราะการแต่งเนื้อแต่งตัว  สำเนียงการพูดนิสัยใจคอต่าง ๆ  ถอดมาจากชีวิตจริงของชาวบ้านแท้ ๆ  แม้ปัจจุบันนี้หนังตะลุงจะไม่เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อน  แต่ใช่ว่าหนังตะลุงจะหมดไปเสียทีเดียว  ยังคงได้รับความนิยมอยู่พอสมควร  ยิ่งปัจจุบันนี้  นายหนังตะลุงส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี  บางคนเป็นถึงมหาบัณฑิตปริญญาโทเสียด้วยซ้ำไป

( วิยุทธ์ กาญจนกำเนิด โรงเรียนบ้านควนมิตร อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช )

* รูปหนัง ตัวตลก ที่มา : ความรู้เรื่องหนังตะลุง อาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ 2541 http://www.nangtalung.com

 

เอกสารอ้างอิง
ชวน  เพชรแก้ว. 2523. ชีวิตไทยปักษ์ใต้ ชุดที่ 3. กรุงเทพฯ: กรุงสยาม.
ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้.  2547. 
กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 
พ่วง  บุษรารัตน์. 2541. ความรู้เรื่องหนังตะลุง.  http://www.nangtalung.com   ( ถึง 21 เมษายน 2551 )
มานิสา  ปิยะสิงห์, บังอร  ทองมาก. 2539. ฉิ้น  อรมุต ( ธรรมโฆษณ์ )  ศรัทธและความเชื่อแห่งศิลปะหนังตะลุง. กินรี. 13 ( 11 ): 46-50.
สุทธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์. 2527. เชิดชูเกียรติ  นายอิ่ม  จันทร์ชุม. กรุงเทฯ: คุรุสภา.
สมุดภาพเรื่องหนังใหญ่หรือหนังไทยสมัยก่อน. 2526. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ
หนังตะลุงจังหวัดสงขลา,ชมรม. 2532. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายหนังกั้น  ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ( หนังตะลุง ) 2529  จังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2549. หนังตะลุง ผดุงภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ : ว็อชด็อก
หนังตะลุง : อัจฉริยลักษณ์การละเล่นแห่งเมืองใต้ : 2544. กรุงเทพฯ: อลีน เพลส.

 
PREVIOUS