อีกนัยหนึ่ง  “สัมพุทธ”  เป็นการใช้คำเพื่อบ่งชี้ชัดถึงความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า  ความหมายของคำว่า  “พุทธะ”  ในพระพุทธศาสนา  ภาษาบาลี  แปลว่า  ผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้แล้ว  อรรถกถาในพระไตรปิฎก  จำแนกความเป็นพุทธะไว้  ๓  จำพวก  ได้แก่  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม  พระปัจเจกพุทธเจ้า  คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเอง  แต่มิได้สอนให้ผู้อื่นรู้ตาม  และ  อนุพุทธะ  คือบุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ผู้ที่ตรัสรู้ได้ด้วยเหตุนี้เรียกว่า  พระสาวก

                การฉลองพุทธชยันตีในประเทศไทย  มิได้เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้  หากเมื่อครั้งครบ  ๒๕  พุทธศตวรรษ  หรือกึ่งพุทธกาล  ในปีพุทธศักราช  ๒๕๐๐  ก็ได้จัดในมีการฉลองพุทธชยันตีไปครั้งหนึ่งแล้ว  ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  โดยใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า  “งานฉลอง  ๒๕  พุทธศตวรรษ”


 

งานฉลองพุทธชยันตีเนื่องในโอกาสกึ่งพุทธศตวรรษ  ยังมีอีกหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาได้จัดงานฉลองในครั้งนั้นเช่นกัน  เช่น  ประเทศอินเดีย  มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  โดยมีชาวอินเดียราวสองแสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ  สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีเป็นอนุสารณการฉลองพุทธชยันตีที่กรุงนิวเดลี  และ  ฯพณฯ  ชวาหระลาล  เนห์รู  นายกรัฐมนตรี  ยังได้เชิญชวนให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างัดในดินแดนแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                นอกจากนี้  ประเทศศรีลังกา  ซึ่งนับปีพุทธศักราชที่  ๑  ก่อนประเทศไทย  ก็ได้จัดงานพุทธชยันตีฉลองกึ่งพุทธกาลในปี  พ.ศ.  ๒๔๙๑  หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ  และประเทศพม่า  ได้เป็นเจ้าภาพในการ  “ฉัฏฐสังคีติ”  หรือสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ระดับนานาชาติและจัดพิมพ์  นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่  ๖  ของพม่า
การฉลองพุทธชยันตีอีกครั้งของประเทศไทย  ในโอกาสครบ  ๒,๖๐๐  ปี  แห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชาปีนี้  เป็นงานใหญ่ของประเทศและงานสำคัญในพระพุทธศาสนา  รัฐบาลโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน  เช่น  มหาเถรสมาคม  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  หอจดหมายเหตุพุทธทาส  อินทปัญโญ  เป็นต้น  ได้กำหนดจัดงานขึ้นโดยใช้ชื่องานว่า  “งานฉลองพุทธชยันตี  ๒๖๐๐  ปี  แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”  ด้วยการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดทั้งปี

                                       ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. 2542,34 
PREVIOUS      NEXT