ตามรอยอารยธรรมอิสลาม

                                          
                                                          ความสวยงามภายนอกของมัสยิดรายาสลินดงมายู อำเภอสายบุรี    ที่มา : อภินันท์ บัวหภักดี. 2554,43

และไม่เพียงแต่วัดในพุทธศาสนา  ในยามนี้  แม้แต่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  อันเนื่องมาแต่ความเป็นไทยมุสลิมก็มีสภาพที่ไม่แตกต่างกัน  มัสยิดกรือเซะที่แต่เดิมเคยคึกคักด้วยนักท่องเที่ยว  ร้านค้าของชาวไทยมุสลิมในบริเวณนั้นที่เคยคึกคัก  มาวันนี้ก็เงียบเหงา  การค้าร่วงโรย  ชาวมุสลิมหลายคนที่ได้ลงทุนไปเพราะเห็นความเจริญรุ่งเรืองทางการท่องเที่ยวในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ความไม่สงบ  ถึงวันนี้ก็ไม่อาจจะถอนทุน  เงินทีลงทุนไปกลายเป็นเงินจม  ชาวไทยมุสลิมเหล่านี้ยังมีความหวังถึงชาวมุสลิมจากต่างภูมิภาคจะช่วยเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวแนวหน้า  จะหวังได้หรือไม่  นี่ยังเป็นปัญหา
                นอกจากมัสยิดกรือเซะ  แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นการตามรอยอารยธรรมอิสลามก็มีอยู่มากแห่งในเมืองปัตตานี  อย่างเช่น  มัสยิดนัจมุดดิน  หรือควนลังงา  หรือสุเหร่าบาโงยลางา  มัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ในตำบลทรายขาว  ตำบลที่ชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอยู่กันอย่างสงบสันติ  ตัวมัสยิดแห่งนี้มีหลังเก่าและหลังใหม่  มัสยิดหลังเก่าดูหน้าตาคล้ายคลึงกับศาลาการเปรียญของวัดในพุทธศาสนา  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น  อาจเพราะเป็นมัสยิดสร้างด้วยไม้รุ่นราวคราวเดียวกับมัสยิดตาโละมาเนาะ  จึงมีลักษณะของศิลปกรรมการก่อสร้างที่คล้ายคลึงกับบ้านเรือนของชาวไทยมุสลิมทั่วไป  ที่ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเรือนของชาวไทยพุทะสักเท่าไหร่  กระนั้นก็ยังมีเรื่องเล่าว่า  มัสยิดแห่งนี้เป็นความร่วมมือกันของเพื่อนชาวไทยพุทธและมุสลิมที่ต่างก็เป็นผู้นำศาสนาในหมู่บ้านของตนมาร่วมด้วยช่วยกันจัดสร้างขึ้น

       
                               
                        มัสยิดกรือเซะเมืองปัตตานี  และ ศิลาจำหลักเหนือสุสานพญาอินทิรา ราชาคนสำคัญแห่งปตานีดารุสลาม     ที่มา : อภินันท์ บัวหภักดี. 2554,43

มัสยิดอาวร์  หรือสุเหร่าอาโห  อำเภอยะหริ่ง  ก็เป็นมัสยิดไม้โบราณที่สร้างมามากกว่า  ๓๐๐  ปี  เช่นเดียวกัน  น่าชื่นชมชุมชนไทยมุสลิมมะนังยงที่ได้ช่วยกันดูแล  บูรณะ  และเก็บรักษามัสยิดแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดร่องรอยของบรรพบุรุษ  มัสยิดรายาสลินดงบายูก็เป็นมีสยิดสวยงามอีกแห่งหนึ่ง  ตั้งอยู่ที่อำเภอสายบุรี  ได้ไปชื่นชมความสวยงาม  และสวยงามจริง ๆ  ดังคำร่ำลือ
                แหล่งท่องเที่ยวประเภทอารยธรรมอิสลาม  นอกจากบรรดามัสยิดที่ได้กล่าวถึงแล้ว  ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทสุสาน  อย่างสุสานของพญาอินทิรา  ผู้สร้างเมืองปัตตานีใหม่และเปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นอิสลาม  ที่นี่ก็ปรากฏหลักหินเหนือหลุมศพจารึกเป็นหลักฐานชัดเจน  สุสานราชินีฮีเยา  เจ้าเมืองปัตตานีหญิงที่กล่าวว่าในยุคของพระนางเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของปตานีดารุสลาม  การหล่อปืนใหญ่ประจำเมือง  คือปืนพญาตานี  ปืนศรีนครา  และมหาเลลา  ก็หล่อขึ้นในสมัยของพระองค์ในภาพยนตร์ไทยยิ่งใหญ่เรื่องปืนใหญ่จอมสลัด  พระราชินีลังกาสุกะหญิงในเรื่องที่นำแสดงโดยจารุณี  สุขสวัสดิ์  นั้นก็หมายถึงราชินีพระองค์นี้นั่นเอง

ทว่าบรรดาสุสานของพระราชาและพระราชินีของปตานีดารุสลามเท่าที่เห็นในวันนี้นั้น  ดูเสมือนซากโบราณที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง  ร้างเสียยิ่งกว่าวัดไทยที่เกือบจะร้างในวันนี้เสียอีก  ดังนั้น  จึงควรเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบต่อไปที่จะมาช่วยกันปรับปรุงสถานที่สำคัญอันได้กล่าวถึงเหล่านี้ให้หวนกลับคืนสู่ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ที่ควรจะเป็น  ไม่แน่นัก  ความเปลี่ยนร้างรุงรังของสถานที่สำคัญทางอารยธรรมอิสลามเหล่านี้  อาจเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกไม่ดีที่ชาวไทยมุสลิมมีต่อทางราชการไทยก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง
จังหวัดปัตตานี.     http://www.pattani.go.th/   ( เข้าถึง 25 มีนาคม 2555 )
อภินันท์ บัวหภักดี. 2554 . จากลังกาสุกะ ถึงปตานีดารุสลาม ถึง...ปัตตานี นครสามวัฒนธรรม. อนุสาร อสท. 51 (9) : 40-52.

 

PREVIOUS