ประเพณีที่เกี่ยวข้อง (ต่อ)

การจ่ายซะกาต

              ซะกาต คือ ทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วน จากจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มา จนครบพิกัดที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ และนำทรัพย์จำนวนนั้น จ่ายออกไปแก่ผู้มีสิทธิ์
              คำว่าซะกาต แปลว่า ความเจริญก้าวหน้า และการขัดเกลาให้สะอาด เนื่องเพราะเมื่อเจ้าของทรัพย์ ได้จ่ายซะกาตออกไป เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาด ปราศจากกิเลสนานาประการ โดยเฉพาะความตระหนี่ ความใจแคบ ซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แน่นอน สังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่นานวิกฤติการณ์ก็จะต้องเกิดแก่สังคมนั้น การแก่งแย่ง ฉกชิง กดขี่ ข่มเหง ขูดรีด ทำลายกัน และอาชญากรรมต่างๆ จะต้องอุบัติขึ้น
             การจ่ายซะกาต จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า คนยากใจมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือ การสังคมสงเคราะห์ จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง สถาบันทางสังคมได้รับการพัฒนา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่หมดทุนในการประกอบอาชีพ หรือ ไม่มีทุนศึกษาต่อ ก็มีโอกาสที่จะใช้ซะกาต เจือจุนสร้างชีวิตใหม่ แก่ผู้ขาดแคลนและผู้ยากไร้เหล่านั้น
ระบบซะกาต หากนำมาดำเนินการอย่างเต็มระบบแล้ว จะมีผลในทางพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ด้านการเมือง และด้านสังคม ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่ขาดแคลนทุนโดยตรง
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สังคมมนุษย์อันประกอบด้วยสมาชิกสังคมเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมต้องมีสมาชิกบางส่วน ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หากซะกาตไม่มีในสังคมนั้น ผู้ประสบปัญหาดังกล่าว ก็จะกลายเป็นสมาชิกส่วนเกินของสังคม อาจจะกลายเป็นอาชญากรหรือเป็นขอทานได้เท่าๆ กัน ซึ่งคนทั้งสองประเภทนี้ เป็นบุคคลที่สังคมไม่พึงปรารถนา เป็นเศษขยะของสังคม และเป็นผู้บ่อนทำลายความสงบสุขของสังคม
ผู้มีฐานะดีทั้งหลาย เมื่อมีอัตราส่วนที่จะนำออกมาโดยซะกาต ก็ย่อมแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
การจ่ายซะกาตนั้น มิใช่จ่ายแบบ มิใช่แบบ "ให้ทาน" แต่เป็นการจ่ายไปเพื่อให้ผู้รับ ได้นำไปเป็นทุนดำเนินการ ทางด้านอาชีพหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง เป็นลักษณะการจ่ายแบบ "การสังคมสงเคราะห์" ซึ่งระบบซะกาตนี้ เป็นระบบที่สามารถประกันสังคมได้อย่างแน่นอน
ที่มา : บรรจง บินกาซัน. 2542,101

เอกสารอ้างอิง
คำนวณ นวลสนอง. 2541. ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดพัทลุง. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเสสนอผลงานวิจัย ประจำปี 2541 มหาวิทยาลัยทักษิณ รายงาน 5 ส.ค. 2541.
ฉวีวรรณ วรรณประเสริฐ. 2524. ประเพณีที่ช่วยส่งเสริมการผสมผสานทางสังคมระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ: สารมวลชน.
ใต้…หรอย มีลุย: บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. 2547. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ๊นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
บรรจง บินกาซัน. 2542. สารานุกรมอิสลาม: ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ. กรุงเทพฯ: อัล อะมีน.
มุสลิฮุดดีน อะบู มุฮัมมัด อับดุลลอฮ บิน มุสลิฮ์ บิน มุชัรร็อฟ ซีราซี. 2545. ปัญญาซะอุดี
 กุลิสตาน และบุสตาน. กรุงเทพฯ: มุสลิมนิวส์.
สาขาวิชาศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, 2545.เอกสารการสอนชุดวิชาความเชื่อ และศาสนาในสังคมไทย.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์. 2539. รอมฎอนเพื่อชีวิต. กรุงเทพฯ: นัทชาพับลิชชิ่ง.
เสาวนีย์ รุจิระอัมพร-จิตต์หมวด. 2522. วัฒนธรรมอิสลาม. กรุงเทพฯ: เจริญผล.