น้ำตาลแว่นหรือน้ำผึ้งแว่นจากตาลโตนด
                                                                                            ที่มา : ใต้ หรอย มีลุย. 2547,189

ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งทะเลตะวันออก  ตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงจังหวัดปัตตานี
             ต้นตาลขึ้นได้ดีตามท้องทุ่งทั่วไป  โดยชาวบ้านนิยมปลูกกันตามคันนาเป็นส่วนใหญ่  ในท้องที่บางแห่งมีต้นตาลมากเป็นพิเศษและกระจายทั่วไป  โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ  จังหวัดสงขลาทำให้ชาวบ้านรู้จักนำส่วนต่าง ๆ  ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์  เช่นลำต้นใช้ในการก่อสร้างเครื่องเรือน  ทางตาลใช้ทำรั้ว  เชื้อเพลิง  ใบตาลใช้มุงหลังคา  ทำแว่น  (วง  อัน  ชิ้น)  สำหรับทำน้ำตาลแว่น  ใยตาลใช้ทำเป็นเครื่องจักสาน  น้ำหวาน  (น้ำตาลสด)  ใช้เป็นเครื่องดื่มเคี่ยวเป็นน้ำผึ้ง  (นำน้ำตาลสดมาเคี่ยวจนเป็นสีน้ำตาล)  ใช้ทำน้ำตาลปีบและน้ำตาลแว่น  จนกลายเป็นวิถีของวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง
             ผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดที่ขึ้นชื่อของภาคใต้  คือ  น้ำตาลแว่นหรือน้ำผึ้งแว่น  ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลชุมพล  อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา

        ที่มา : ใต้ หรอย มีลุย. 2547,189

ในการทำน้ำตาลนั้น  คนจะขึ้นตาลเพื่อปาดงวงตาลเอาน้ำหวาน  โดยงวงจะตก  (ออก  เกิดขึ้น)  ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์  สามารถปาดเอาน้ำตาลได้  2  เวลา  คือ  ขึ้นปาดตอนเย็นเก็บน้ำตาลตอนเช้า  และปาดตอนเช้าเก็บน้ำตาลตอนเย็น  โดยเฉลี่ยขึ้นต้นตาลได้  20  ต้นต่อวันต่อคน  ได้น้ำหวานประมาณ  180  ลิตร  เมื่อได้น้ำหวานนำมาเคี่ยวเป็น  “น้ำผึ้ง)  (น้ำตาลเหลว)  ได้ประมาณ  20 – 25  ลิตร  สำหรับราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำผึ้ง
             ส่วนการทำน้ำตาลแว่นนั้น  นำน้ำผึ้ง  6 – 7  ลิตรมากรองใส่กระทะ  เติมน้ำมันมะพร้าว  2 – 3  หยดเพื่อไม่ให้เกิดฟองเวลาเคี่ยว  ตั้งไฟเคี่ยวประมาณ  10  นาที  จากนั้นกวนโดยใช้ไม้พายประมาณ  10  นาทีจนเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้ม  แล้วใช้ไม้กวนตีประมาณ  5  นาที  นำมาตักหยอดลงในแว่นที่เตรียมไว้  ทิ้งไว้จนแห้งจึงเก็บใส่ถุงเพื่อจำหน่าย

<<< PREVIOUS      NEXT >>>