What's Hot
ภาพที่ ๖ "หลังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์"ย(พ.ศ.๒๕๒๗)
ทรงวาดภา "หลังตำหนักทักษิณราชนิเวศน์" เมื่อตามเสด็จไปจังหวัดนราธิวาส ทรงวาดภาพนี้ด้วยสีน้ำมัน แต่ใช้เทคนิควิธีการแบบสีน้ำ ทำให้มีอากาศที่อ่อนนุ่มในส่วน Background และมีฝีแปรงที่แจ่มชัดสนุกสนานกับต้นไม้ที่อยู่ Foreground
ทรงวาดโครงสร้างของภาพด้วยต้นหมากที่มีลำต้นสูงทะยานขึ้นไปในแนวดิ่งและขนานเป็นเส้นตรงดูเด็ดเดี่ยว แต่ภาพนี้กลับมีลีลาที่เบิกบานสนุกสนานเมื่อทรงวาดใบและกิ่งของหมากให้สยายออกไปคล้ายลีลาระบำ ลำต้นของหมากที่มีสีแดงตรงดิ่งเป็นคู่สีปรปักษ์กับสีเขียวของป่าโดยรอบ
ทำให้ได้ภาพที่มี Discord สวยงามและแจ่มใส รวมทั้งลำต้นหมากสีอื่นๆ เช่น สีเหลือง สีน้ำตาล และสีเขียว ช่วยตกแต่งให้ภาพดูมีชีวิตชีวา
ตรงกลางของภาพ ทรงวาดเสื้อผ้าที่ตากไว้บนราวผ้า มีรูปทรงและสีสันแปลกออกไป อันเป็นทิวทัศน์ป่าที่อยู่หลังพระตำหนัก เสื้อผ้าบนราวผ้าเป็นของเจ้าหน้าที่พนักงานที่นั่น
ภาพนี้ทรงวาดอย่างมืออาชีพ ไม่มีส่วนไหนของภาพที่ดูเคอะเขิน ฝีแปรงและสีสันดูเลื่อนไหลถ่ายเทอากาศอันร้อนขึ้นไปทั่วภาพ ความสนุกสนานและเด็ดขาดเช่นนี้เคยเห็นในภาพเขียนของอองรี มาตีสส์ จิตรกรฝรั่งเศส เมื่อทรงวาดรูปนี้ ทรงมีพระบุคลิกภาพที่ต่างไปจากที่ทรงวาดภาพจากบทกวีที่ดูเรียบง่าย
ภาพหลังพระตำหนักนีทรงปัดป้ายฝีแปรงไปในทุกที่ของผืนผ้าใบ
ทรงเคยตรัสถามผู้เขียนเมื่อครั้งที่เสด็จไปทรงเปิดนิทรรศการแห่งหนึ่งว่า ทำไมศิลปินไทยจึงชอบเขียนรูปอย่างที่ไม่เว้นช่องว่างเลย ใส่รายละเอียดไปทุกตารางนิ้ว ผู้เขียนกราบทูลว่าอาจเป็นเพราะศิลปะดั้งเดิมในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเขมร พม่า อินโดนีเซียและไทย ต่างก็คำนึงถึงรายละเอียด
และภาพ "หลังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์" นี้ก็เช่นกัน ที่ทรงใส่รายละเอียดเต็มไปทั้งภาพ ดูคล้ายว่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะประเพณีของเรา
ภาพนี้ภายหลังเมื่อทรงวาดเสร็จแล้ว ทรงมีปัญหากับบรรดาเจ้าของเสื้อผ้าบนราวตากผ้า เนื่องด้วยพวกเขาไม่เห็นด้วยที่ทรงวาดเสื้อผ้าที่ตากระเกะระกะไว้ จึงไม่เห็นด้วยว่าจะสวยงามอย่างไร แต่การที่มีสายพระเนตรที่เป็นศิลปินจึงทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่ธรรมดาๆ ว่าสวยงาม
ทัศนะความงามของศิลปินจึงแตกต่างไปจากคนธรรมดา ดังนี้