แหล่งท่องเที่ยว(ต่อ) |
|
วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) |
วัดมัชฌิมาวาส
วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ที่ถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา อายุ 400 ปี สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า “วัดกลาง” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมัชฌิมาวาส” โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2431 ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ “ภัทรศิลป” เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00-
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. 2496
ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตรงดงามยังความสมบูรณ์อยู่มาก โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียงและกาญจนบุรี เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 7431 1728 |
|
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อ.เมืองสงขลา |
|
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา |
เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุวัดชัยมงคล
อยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟสงขลา มีเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งได้มาจากศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2435 ปัจจุบันเป็นวัดหลวง มีอุโบสถและศาลาการเปรียญที่สวยงามมาก
พิพิธภัณฑ์พะทำมะรง
ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะ ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำ สงขลา “พะทำมะรง” เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดีปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น.
บ้านศรัทธา
เป็นบ้านที่ชาวสงขลาพร้อมใจกันสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญทางประวัติศาสตร์มอบให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ต่อมาท่านได้มอบบ้านศรัทธานี้คืนให้กับชาวสงขลาเมื่อปี พ.ศ. 2539 พร้อมกันนี้ชาวจังหวัดสงขลาได้จัดสร้างอาคารหอสมุดกาญจนาภิเษกขึ้น ตรงเชิงเขาใกล้กับบ้านศรัทธาและเปิดเป็นที่ศึกษาค้นคว้า บ้านศรัทธาตั้งอยู่บนเนินเขา ใกล้กับบ้านศรัทธา และเปิดเป็นที่ศึกษาค้นคว้าและท่องเที่ยว บ้านศรัทธานี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาที่ชาวสงขลามีต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-สถาบันทักษิณคดีศึกษา
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณใกล้เชิงสะพานติณฯ ตอนเหนือ และอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4146 มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ 1 งาน 39.9 ตารางวา พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้าน เป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก
สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้เป็นที่น่าสนใจมาก เช่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจิตรกรรมฝาผนัง เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่าง ๆ สถาบันทักษิณคดีศึกษาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วนคือ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา อุทยานวัฒนธรรม ศูนย์วิทยบริการด้านวัฒนธรรม งานส่งเสริมและเผยแพร่ และหมู่บ้านวัฒนธรรมสาธิต สถาบันเปิดให้ผู้สนใจชมในเวลาราชการทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 5 บาท |
|
เกาะยอ |
เกาะยอ
เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบสงขลา เดินทางโดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ทางไปอำเภอสิงหนคร เกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะรับประทานสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย นอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีกด้วย |
|
สถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลา ตั้งอยู่บริเวณ ปลายแหลมสนอ่อน เป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา เกี่ยวกับระบบนิเวศทางน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีเนื้อที่รวม ประมาณ 7.5 ไร่ ตัวอาคารมีเนื้อที่ 2 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนน้ำจืด เป็นการจำลองน้ำตกที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ และการแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ส่วนน้ำกร่อย เป็นการจำลองระบบนิเวศของน้ำ เช่น ป่าชายเลน พืช และสัตว์ที่อาศัยบริเวณป่าชายเลน ส่วนทะเล มีสัตว์ทะเลและพันธุ์ปลาหลากหลาย ชนิดสามารถชมผ่านจอแก้วพานอรามาที่มีขนาดสูง 3 เมตร ยาว 7 เมตร สามารถชมปลาได้ในมุมกว้าง
ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ
เป็นโครงการที่เทศบาลนครสงขลาสรรค์ สร้างขึ้นเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณชายหาดสมิหลาให้เป็นสถานที่พักผ่อน ของนักท่องเที่ยวและชาวสงขลา โดยนำเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่ เชื่อว่า พญานาค ป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ชาวใต้จึงนับถือพญานาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริ มงคลแก่ชีวิต นับเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นของชาวสงขลา
ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดสงขลา มีลักษณะแบบลอยตัว สามารถมองเห็นได้รอบด้าน เนื้อวัตถุเป็นโลหะทองเหลืองรมสนิมเขียว ออกแบบโดยอาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ (รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณคนปัจจุบัน) มีการสร้างขึ้นเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง หัวพญานาค ตั้งอยู่บริเวณสวนสองทะเล ปลายแหลมสนอ่อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัว 1.20 เมตร ความสูงจากฐานลำตัวจนถึงปลายยอดสุดประมาณ 9 เมตร พ่นน้ำลงสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ส่วนที่สอง สะดือพญานาค ตั้งอยู่บริเวณลานชมดาวสนามสระบัว แหลมสมิหลา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัว 1.20 เมตร ความยาว 5.00 เมตร ความสูง 2.50 เมตร ลักษณะลำตัวโค้งครึ่งวงกลม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลอดใต้สะดือพญานาคให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนที่สาม หางพญานาค ตั้งอยู่บริเวณชายหาดสมิหลา ริมถนนสะเดา (หลังสนามกอล์ฟ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ความยาว 4.00 เมตร ความสูง 4.50 เมตร ปัจจุบันประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยือนจังหวัดสงขลา
สะพานติณสูลานนท์
สะพานติณสูลานนท์ (สะพานติณหรือสะพานป๋า) เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงที่เชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 สายสงขลา-ระโนด โดยสะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมืองสงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจายกับเกาะยอตอน ใต้ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งทั้งสิ้น 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2529 สะพานแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องเดินทางแวะชมควบคู่ไปกับการมาท่องเที่ยวและรับประทานอาหารที่เกาะยอ |
|
ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ สวนสองทะเล กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ |
|
สะพานติณสูลานนท์ หาดสมิหลา |
|
|
|