เมืองเก่าสงขลาบนเส้นทางสายอนุรักษ์และพัฒนาสู่จุดหมาย  “เมืองมรดกโลก”

             
                    กำแพงเมืองเก่าซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

“...ขณะนี้ทางเมืองสงขลาได้เตรียมผลักตันเมืองเก่าสงขลาก้าวขึ้นสู่การเป็นมรดกโลก  กำลังจัดทำแผนผังในการใช้พื้นที่ของเมืองเก่า  เริ่มจากการปรับภูมิทัศน์ด้วยการเก็บสายไฟฟ้าลงไปไว้ใต้ดิน  ไม่ให้รกรุงรัง  รวมทั้งซื้อโรงแรมเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์  คาดว่าคงใช้เวลาอีกระยะ  ซึ่งงานใหญ่แบบนี้ ึี้คงจะในภาครัฐทำแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้  ชุมชนเองคงจะต้องมีความพร้อมและเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย  ช่วยกันคนละไม้ละเมือ...”

   
ป้อมปืน เมืองสงขลาโบราณฝั่งหัวเขาแดง

ความหมายของมรดกโลก  (World Heritage)  นั้นก็คือ  “สถานที่”  อันได้แก่  ป่าไม้  ภูเขา  ทะเลสาบ  ทะเลทราย 
อนุสาวรีย์  สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ  รวมไปถึง  “เมือง”  ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
แห่งสหประชาชาติ  หรือยูเนสโก(UNESCO) ประกาศยกย่องให้มีฐานะพิเศษเพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่ธรรมชาติ  และมนุษยชาติได้สร้างขึ้นมา  อันสมควรได้รับการชื่นชม  ดูแลรักษาและอนุรักษ์เอาไว้  เพื่อให้ตกทอดไปถึงอนาคต  เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลก  ซึ่งองค์การยูเนสโกจัดให้มีขึ้นตั้งแต่ปี  พ.ศ.  ๒๕๑๕
      จากการที่นักวิชาการในหลากหลายสาขาได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่กันเป็นเวลาพอสมควร  เมืองสงขลาเองก็ถือว่าเพียบพร้อมด้วยศักยภาพอันเหมาะสมในหลายด้านที่จะได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อให้กับคณะกรรมการ
มรดกโลกพิจารณา ในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ  เมืองสงขลามีทะเลสาบสงขลา 
     ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  โดยเฉพาะทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ขึ้นและตก  ถือว่างดงามตระการตาไม่เป็นสองรองใคร  และเมื่อพิจารณาในฐานะแหล่งธรรมชาติ  ทะเลสาบสงขลายังมีลักษณะเฉพาะตัว  ทั้งในแง่ของความเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นแบบลากูน  คือเป็นทะเลสาบริมฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นจากการปิดกั้นของสันทรายขนาดใหญ่ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่า  ๕,000  ปี  เป็นผลให้บริเวณปากทะเลสาบมีน้ำเค็ม  ในขณะที่ตอนกลางของทะเลสาบมีน้ำกร่อย  และตอนในสุดของทะเลสาบเป็นน้ำจืดเกิดเป็นระบบนิเวศที่แตกต่างกัน  ๓  แบบ  ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้
                ในส่วนของทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น  ก็คือความเป็นชุมชนของเมืองสงขลาที่สืบเนื่องกันมา  สมัยโบราณ
จนถึงสมัยอยุธยา  บริเวณนี้ยังไม่เป็นทะเลสาบ  แต่เป็นเกาะใหญ่  ด้วยสภาพภูมิประเทศอันเป็นเวิ้งน้ำปลอดจากคลื่นลมเนื่อง  ทำให้กลายเป็นแหล่งที่จอดหลบมรสุมของเรือที่สัญจรไปมาในทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณจนเกิดเป็นชุมชนต่อเนื่องกันหลายยุค
หลายสมัย  ร่องรอยชุมชนและสระน้ำปรากฏให้เห็นตามแนวสันทราย  ประมาณอายุได้อย่างน้อยก็พุทธศตวรรษที่  ๑๓  มีโบราณสถานอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันดีก็คือ  ถ้ำคูหา  ศาสนสถานฮินดูในถ้ำขนาดใหญ่  วัดเขาพะโคะ 
และวัดจะทิ้งพระ
                ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่  ๒๑   ถึงได้มีสร้างเมืองชิงโกรา  หรือเมืองสงขลาขึ้นบริเวณหัวเขาแดง  โดยพัฒนาขึ้นมาจากสถานที่ที่เคยเป็นสถานีพักสินค้าและที่จอดเรือของพ่อค้า  ช่วงแรกเมืองนี้ปกครองโดยชาวมุสลิม  ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าชาวยุโรปสร้างกำแพงเมืองและป้อมปืนเอาไว้อย่างแข็งแรงแน่นหนา  ต่อมาประกาศตั้งตัว
เป็นอิสระ  จึงถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาตีแตกและเผาทำลาย  พ่อค้าชาวจีมาฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงหลัง  ก่อนจะย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งแหลมสน  และย้ายมาฝั่งบ่อยางอันเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาในปัจจุบัน  ปล่อยให้
เมืองสงขลาโบราณบนหัวเขาแดง  อันได้แก่ป้อมปืน  ๑๔  ป้อม  กำแพงเมือง  รวมทั้งสุสานชาวมุสลิมและดัตซ์  กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้ผู้สนใจไปเยี่ยมชมเรียนรู้ถึงความเป็นมา

 
 
PREVIOUS       NEXT