หน้าที่ของมหาดไทยคือการอำนวยความสุขแก่ราษฎร
“หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย พูดอย่างรวบรัดคือการอำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์ และการอำนวยความสุขสวัสดีที่ทำอยู่นั้น อาจจำแนกตามประเภทงานได้เป็น ๔ ด้าน คือ การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุขและความสามัคคีปรองดอง และการให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส งานทั้ง ๔ ด้าน ยังจำแนกเป็นส่วนปลีกย่อยออกไปได้มากมายซึ่งต้องมีกรมกองต่าง ๆ รับผิดชอบไปปฏิบัติ ทั้งต้องพึ่งพิงอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงทบวงกรมอื่นอย่างกว้างขวางและใกล้ชิดด้วย ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกฝ่ายทุกคน จึงทำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักปฏิบัติที่แน่นอนเป็นเครื่องยึดถือ หลักการอย่างแรกก็คือต้องปฏิบัติงานให้ประสานสอดคล้องและดำเนินก้าวหน้าไปด้วยกัน เสมอกัน พร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย โดยมิให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังกว่ากัน อันจะเป็นเหตุให้งานชะงักงันหรือเสียขบวนและเสียผล หลักการอย่างที่สอง คือต้องพยายามประสานงานกับทุกหน่วยงานด้วยความสมัครสมาน และความเข้าใจอันดีต่อกัน ประการสำคัญคือจะต้องระมัดระวังปฏิบัติการทุกอย่างด้วยความสุจริตเที่ยงตรงให้สมควร และถูกต้องด้วยหลักวิชา กฎหมายความชอบธรรม โดยไม่มีอคติ”
พระราชทานแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
ในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยครบรอบ ๑๐๐ ปี
เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕
ผู้พิพากษาเป็นคนสำคัญในแผ่นดิน
“ผูพิพากษาที่จะเข้ารับหน้าที่เป็นครั้งแรกจะต้องกล่าวคำปฏิญาณ ดังที่ได้กล่าวมาสักครู่นี้ มีความสำคัญมาก เพราะว่าผู้พิพากษาเป็นคนสำคัญในแผ่นดินเป็นผู้ที่จะทำให้บ้านเมืองมีความปลอดภัย มีความสงบและมีความเจริญได้ จึงต้องกล่าวคำปฏิญาณ ซึ่งทุกถ้อยทุกคำมีความสำคัญทั้งนั้น
ถ้าจะกล่าวถึงคำแรก ๆ คือจะต้องมีความยุติธรรม ความยุติธรรมนี้ ก็เท่ากับสรุปหน้าที่ของท่านโดยแท้ ถ้าหากรักษาความยุติธรรมได้ในหน้าที่ผู้พิพากษาและในหน้าที่พลเมืองดี ก็เท่ากับท่านได้ช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากภัยอันตรายไปมาก เพราะว่าสมัยนี้ความยุติธรรมไม่ค่อยมี ความยุติธรรมโดยมากไปนึกถึงอาชญากร ให้ความยุติธรรมแก่อาชญากร อาชญากรนั้นเขาทำไม่ดี แล้วผู้พิพากษาให้ความยุติธรรมกับเขาทำไม ก็เพราะว่าเขาทำไม่ดี แต่บางทีก็ไม่มากนัก แล้วก็ขึ้นศาล มีคนที่จะเอาให้ตาย แต่ผู้พิพากษาจะต้องดูว่าเขาทำผิดแค่ไหน ควรจะลงโทษแค่ไหน การลงโทษนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความยุติธรรม เป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ทำไม่ดี เพราะผู้ที่ทำไม่ดีถ้าไม่ได้รับโทษไม่รู้ว่าตัวทำไม่ดียังไง ก็นับว่าเป็นการลงโทษ เพราะว่าต่อไปเขาก็จะทำไม่ดีต่อไป และอาจจะถูกลงโทษหนักยิ่งขึ้นทุกที ฉะนั้น คนที่ทำผิดนั้นถ้ารู้ว่าทำผิด เขาก็จะปลอดภัย อันนี้หลักนี้แต่ละท่านก็อาจจะต้องไปพิจารณาดู อาจจะดูท่าทางมัมคัดค้านกับคำว่า ให้ความยุติธรรม ความยุติธรรมนี้ก็คือให้พอดีพอเหมาะ แล้วก็จะทำให้ผู้ที่มีอุปนิสัยสันดานไม่ดีเข้าใจว่าเขาทำไม่ดี จะได้ไม่ทำต่อไป จะทำให้คนทั่วไปไม่ได้รับอันตรายจากความไม่ดีของบุคคลนั้น”
พระราชทานในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา
นำผู้พิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรม
เฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๔
ตำรวจทำหน้าที่ที่สำคัญ
“ตำรวจทำหน้าที่ที่สำคัญและกว้างขวางมาก คือต้องทำหน้าที่ทั้งด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขตลอดจนสวัสดิ์ภาพของประชาชน ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและผู้กระทำผิดรวมทั้งการปกป้องแผ่นดินไทยเมื่อมีภัยคุกคามอีกด้วยนับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องเผชิญกับปัญหานานาและต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สำเร็จได้ครบถ้วน จะต้องเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถมีความเข้มแข็งอดทน และมีความเสียสละอย่างแท้จริงจึงของให้ตำรวจทุกคนได้ภูมิใจ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญและมีเกียรติยิ่งนี้ และตั้งปณิธานให้แน่วแน่ที่จะพากเพียรปฏิบัติตัว ปฏิบัติงานทุกด้าน ทุกระดับ ให้บรรลุผลอันเลิศ เพื่อความผาสุกร่มเย็นของประชาชนและความเจริญมั่นคงของชาติไทยเรา”
พระราชทานในพิธีสวนสนาม
ในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนาครบ ๑๐๐ ปี
เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๕
|