ที่มา : รักในหลวง ห่วงภาษาไทย: 2544,7
ในหนังสือ ”ภาษาไทยเรานี้มีทำนอง”  ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม   แห่งชาติ (สวช.) ได้กล่าวว่า “ภาษา”  เป็น สื่อเสียงและสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติที่เกิดจากการสร้างสรรค์   และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดสู่ลูกหลาน  ภาษาเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาติ  ชาติไทยเป็นชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองมาตั้งแต่อดีตกาล  บ่งบอกถึงความมีเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ “ภาษาไทย” เป็น ภาษาที่มีการจัดวางระเบียบแบบแผนไว้อย่างประณีตบรรจง  มีอลังการแห่งศิลปะของการผสมผสานเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ และเหมาะสม ภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิต ประจำวันหรือภาษาที่ใช้ในวรรณกรรม จะเห็นว่ามีความไพเราะ น่าอ่าน  น่าฟังยิ่ง เพราะเรามีเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ที่จะทำให้คำ มีเสียงและทำนองที่เปลี่ยนแปรไป   เรามีการใช้ถ้อยคำคล้องจองมีสัมผัส ฟังเหมือนเสียงดนตรี เช่น  ไปลามาไหว้  ทรัพย์ในดินสินในน้ำ ฯลฯ  นอกจากการเรียงร้อยถ้อยคำ ให้มีสัมผัสคล้องจองแล้ว ยังมีเนื้อหาการใช้ อันแสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบต่างๆกันด้วย     เช่น เป็นภาษิตสอนใจ   เตือน สติผู้คน  ได้แก่  น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า   สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง  เป็นต้น  เป็นปริศนาคำทายเพื่อให้ขบคิด เช่น อะไรเอ่ย เกิดเพราะไฟ สลายเพราะลม (คำตอบคือ ควัน) หรือ เป็นร้อยกรองอย่างโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก็เป็นภาษากวีที่มีความงดงาม ไพเราะมากขึ้นไปอีก ทำให้เราเห็นภาพ และเกิดความซาบซึ้งประทับใจเมื่อได้อ่านหรือฟัง อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ได้กล่าวถึง เอกลักษณ์ภาษาไทยว่ามีลักษณะที่       ไม่ ใคร่จะได้พบในภาษาอื่นๆ เช่น การนิยมคำที่มีสัมผัสคล้องจองกัน จนทำให้เกิดถ้อยคำสำนวนรูปแบบต่างๆ    การใช้คำผวนที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน    และการใช้ภาษาที่แสดงลำดับชั้นของบุคคล     แสดงกาลเทศะและแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน
นอกจาก “ภาษาไทย”อันเป็นภาษากลางที่ใช้อยู่ทั่วไปแล้ว เราต้องอย่าลืมว่า “ภาษาถิ่น”ของ ภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานหรือภาคกลางก็เป็นภาษาไทยที่มีคุณค่าต่อเราเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้เราสื่อสารกันด้วยความรู้ ความเข้าใจทั้งในการพูด อ่าน เขียนในปัจจุบันแล้ว  ยังทำให้เราเข้าใจความหมายของกวีนิพนธ์ คำสอน  คำศัพท์โบราณ  เรื่องราวต่างๆของคนในอดีต ฯลฯ อันมีผลต่อการศึกษาด้านจริยธรรม วรรณศิลป์และคติชนวิทยาอีกด้วย เช่น สุภาษิต นิทานชาดกทั้งที่เป็นมุขปาฐะคือบอกเล่าด้วยปากหรือวรรณกรรมที่มีการสอดแทรก คุณธรรมสอนเยาวชน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี   เป็นที่น่าเสียดายว่า   ปัจจุบันภาษาไทยอยู่ในสภาวะที่แปรผันเสื่อมโทรมลง  ซึ่งมิใช่  เนื่อง จากกาลเวลา แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากคนไทยได้ละเลยต่อความสำคัญในการใช้ภาษา ไทย  ทั้งนี้ อาจจะเกิดจากระบบการถ่ายทอดที่ยังขาดประสิทธิภาพ  ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติที่แพร่กระจาย หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งเยาวชนในปัจจุบันยังมีพื้นฐานภาษาไทยด้อยลง และเข้าใจหลักการใช้ภาษาอย่างผิวเผิน  ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้สุนทรียภาพ ความประณีต ไพเราะของถ้อยคำทำนองไทย  สื่อมวลชนเองทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโสตทัศน์ก็มีการใช้ภาษาต่าง ประเทศและภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้เยาวชนมีวิธีคิดและการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องน้อยลง จนเป็นที่น่าวิตกว่าเอกลักษณ์ทางภาษาไทยกำลังจะสูญหายไปในที่สุด
จริงอยู่ ภาษา มี ชีวิตและมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคตามสมัยเช่นเดียวกับมนุษย์ผู้สร้าง ที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม   และไม่ว่ายุคไหนๆย่อมมีคำใหม่ๆเกิดขึ้น คำเก่าบางคำก็อาจจะถูกทิ้งหรือลืมเลือนไปด้วยไม่รู้ความหมาย หรือไม่เข้ากับยุคสมัยนั้นๆ  อย่างไรก็ดี  เราต้องไม่ลืมว่า “ภาษา” เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น ชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษแต่ละชาติแต่ละภาษา ได้สร้างสรรค์และสืบทอดต่อเนื่องไปยังลูกหลานของตน  ทำให้อัตลักษณ์หรือตัวตนของชาติหนึ่งแตกต่างไปจากอีกชาติหนึ่ง ภาษาไทย เรา แม้จะมีการหยิบยืมคำในภาษาอื่นมาใช้ ก็ได้มีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนจนมีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่น่าภาคภูมิใจ  ดังนั้น หากเราปล่อยให้ "ภาษาไทย”ของเรา เสื่อมโทรมหรือสูญหายไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเพราะคิดว่าเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว  ต่อไปในอนาคตเราจะเป็นเช่นไร?
คำขวัญการอนุรักษ์ภาษาไทย"อนุรักษ์ภาษาไทย"http://www.chiangmaithailand.tht.in/aticle114.html
PREVIOUS     NEXT