หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๑๘๘๘ พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ว่า
“เมื่อนั้น จิงพระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ ก็ทิพธรชงคต พิพธรชโลมด้วยกระแจะจวงจันทน์แลจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพพระญาจักรพรรดิราชนั้น แล้วจิงเอาสำลีอันดีด้วยสะพัดได้แลร้อยคาบมาห่อชั้นหนึ่ง แล้วเอาผ้าขาวอันละเอียดมาห่อชั้น ๑ เล่า แล้วเอาสำลีอันละเอียดมาห่อเล่าดังนั้น นอกผ้าตราสังทั้งหลายเป็น ๑๐๐๐ ชั้น คือว่าห่อผ้า ๕๐๐ ชั้น แลสำลีอันอ่อนนั้นก็ได้ ๕๐๐ ชั้น จิงรดด้วยน้ำหอมอันอบแลได้ ๑๐๐ คาบ แล้วเอาใส่ในโกศทองอันประดับนิคำถมอ แลรจนาด้วยวรรณลวดลายทั้งหลายอันละเอียดนักหนา แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณา ทั้งแล้วบูชาด้วยเข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลายจิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์แทบทางพบแห่งกลางเมืองนั้น แต่ให้คนทั้งหลายไปไหว้วันบบูชา...”
ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวเฉพาะลักษณะพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรมการสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง ๒ เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่ กล่าวคือ
“ขนาดใหญ่ ชื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น ๑๑ วาศอกคืบ มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง” |