จรรยาบรรณ  25  ข้อ ...กระบวนการคัดสรรช่างกริชที่เพียบพร้อม

                ส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรมครูบันใดซาระมาแต่โบราณ  นั่นคือ  “จรรยาบรรณช่างทำกริชรามันห์”  ซึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ  หรือจรรยาบรรณ
ช่างทำกริชพื้นฐาน  25  ข้อนี้จะทำให้ช่างทำกริชและผู้สั่งทำซึมซับจรรยาบรรณนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ได้เป็นอย่างดี  จึงเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่า  “ภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม  และเศรษฐกิจอย่างมีระบบแบบแผนสามารถทำให้สังคมโดยส่วนรวมอยู่ดีมีสุขเป็นส่วนใหญ่”...จรรยาบรรณดังกล่าว
ได้แก่
                1)  ก่อนลงมือทำกริชแต่ละครั้ง  ทั้งผู้ทำและผู้สั่งทำจะต้องทำใจให้บริสุทธิ์เสมอ  ภูมิปัญญาข้อนี้บ่งบอกถึงความจำเป็นในการมีจิตสำนึกที่ดีในการทำกิจกรรมร่วม  การมีความนึกคิดที่จะทำกริช
ให้ได้ดังหวัง  ถ้าเป็นมุสลิมสมัยโบราณทั้งผู้ทำกริชและผู้สั่งทำกริชจะนัดหมายกันช่วงถือศิลอดหรือปอซอสักวัน
สองวันสุดแล้วแต่กำหนด  แล้วจึงจะลงมือทำกริช
                2)  จะไม่ทำกริชขึ้นมาหากไม่มีคนสั่งทำ  ตามภูมิปัญญาบอกว่า  ช่างทำกริชห้ามทำกริชขึ้นมาตามใจชอบ
โดยไม่มีคนสั่ง  เพราะช่างทำกริชเป็นเพียงผู้รับใช้ในงานบริการ  ในสมัยโบราณการบริหารจัดการเรื่องกริชเป็น
อำนาจของเจ้าเมือง
                3)  จะไม่ทำอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่า  หากไม่มีคนสั่งทำในสมัยโบราณนั้นสัตว์ป่าเป็นสัตว์คุ้มครองอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าเมือง  ฉะนั้นการทำเครื่องมือ
การล่าสัตว์ป่าอย่างเช่น  สา  ตะขอ  กอซอสำหรับใช้กับช้าง  หากไม่มีคำสั่งจากเจ้าเมืองก็จะทำขึ้นมาเองไม่ได้
                4)  ห้ามช่างทำกริชมอบกริชให้กับผู้ที่ไม่ได้สั่งทำ  ในสมัยโบราณจะไม่สามารถทำกริชขึ้นมาได้โดยพละการและการทำให้กับผู้ใดผู้หนึ่งโดยไม่มีผู้สั่งนั้นก็ถือว่า
ช่างทำกริชมีจิตใจไม่บริสุทธิ์  ประจบสอพลอ  ยกเว้นการทำให้กับเจ้าเมืองเพราะถือว่าทำด้วยความจงรักภักดี
                5)  ห้ามช่างทำกริชโอ้อวดผลงานโดยไม่มีคนสั่งหรือขอดูกริชที่ทำเสร็จแล้วช่างทำกริชจะไม่ให้
้คนอื่นดู  และสงวนสิทธิ์ไว้ให้ผู้สั่งทำเท่านั้น  เว้นแต่จะได้รับคำยินยอมจากเจ้าของกริช
                6)  ห้ามช่างทำกริชรับเงินค่าจ้างมัดจำล่วงหน้า  การทำกริชเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ  ทั้งสิ้น
  เมื่อทำกริชเสร็จแล้ว  รับเงินค่าจ้างแล้ว  ก็ถือว่าจบเรื่องทันทีไม่มีภาระผูกพันที่จะนำไปสู่ความทุกข์ใจต่อไปได้
                7)  หากมีเด็กและผู้ใหญ่มาสั่งทำกริชพร้อม ๆ  กัน  จะต้องรับทำของเด็กก่อนเสมอ  เพราะการทำกริชเป็นการบริการที่สนองความต้องการของผู้น้อยผู้ด้อยโอกาส  หากเปรียบเทียบสมัยนี้  ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาสั่งทำกริชพร้อม ๆ  กับนายอำเภอ  ช่างทำกริชก็จะทำให้นายอำเภอก่อนเสมอ
                8)  ห้ามช่างทำกริชติดสิ่งเสพติดหรือของมึนเมาทุกชนิด  ในสมัยโบราณนั้นมีฝิ่นเป็นสิ่งเสพติด 
ทำให้เสียคน  เสียงาน  เสียเมือง  ภูมิปัญญาถือว่าบุคคลที่ติดสิ่งเสพติดเป็นบุคคลที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ 
ระงับอารมณ์ไม่ได้  ฉะนั้นจึงห้ามช่างทำกริชติดสิ่งเสพติด  ปัจจุบันบุหรี่ก็ถือเป็นสิ่งเสพติดที่ทำความรำคาญอยู่ไม่น้อยแต่กลับเป็นที่นิยมกันมากขึ้น
                9)  ห้ามสอนวิชาการทำกริชให้แก่คนที่ไม่ปกติ  คนที่มีประวัติที่ไม่ดี  หรือคนที่อยู่ในระหว่างต้องทัณฑ์  และการสืบทอดการกำกริชนั้น  จำเป็นอย่างมากที่จะต้องคัดเลือกบุคคลที่จะสืบสานความรู้นี้ต่อไป  ฉะนั้นจึงไม่ควรให้วิชาการทำกริชตกไปอยู่กับบุคคลที่ไม่ปกติ  หรือคนร้าย  หรือบุคคลที่ยังไม่ชัดเจนว่า
เป็นคนดีหรือคนชั่ว
                10)  ห้ามสอนวิชาการทำกริชให้แก่มุสลิมที่ไม่ละหมาดหรืออ่านอัลกรุอานไม่เป็น  ในสมัยโบราณถือว่า  มุสลิมที่ไม่ละหมาดและอ่านอัลกรุอานไม่เป็นนั้นเป็นคนดิบ  หรือถ้าเปรียบเทียบกับชาวพุทธก็คือเป็นคนที่
ไม่เคยบวชพระมาก่อน

มีดชะน็อก
 ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,78
ใบกริชแบบปาแนซาฆะห์ ปัตตานี ลายภูเขาทอง(กุหนิงมัส)
หรือเขาพระสุเมรุ พบท ี่อ. เทพา จ.สงขลา
ใบกริชคร่ำทอง รูปแบบการคร่ำ ลวดลายแบบชวา
พบที่อ. หาดใหญ่ จ.สงขลา
 
 ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,80

                11)  ห้ามทำกริชที่ลงอักขระหรืออายัตอัล-กรุอานให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมเป็นการกำหนดให้
มีการปกป้องรักษาศิลปะการทำกริชว่าอย่าให้มีคำครหา  หรือเกิดความเข้าใจผิด  หรือมีการใช้กริชผิดวัฒนธรรม
                12)  ห้ามทำกริชให้แก่ผู้มาสั่งที่ประสงค์จะไปฆ่าคนหรือนำไปใช้ผิดหลักศาสนา
                13)  ห้ามช่างทำกริชเก็บธาตุเหล็กหรือของมีค่าทุกชนิด  ซึ่งเป็นของผู้สั่งทำกริชไว้ที่บ้านช่างทำกริช
  หากไม่จำเป็นจริง ๆ  ช่างทำกริชจะรับของมีค่าหรือใบกริชของผู้สั่งทำหัวกริชหรือทำฝักกริชไม่ได้  ถ้าหาก
ลูกค้าเอาใบกริชมาสั่งทำฝัก  ช่างทำกริชจะต้องเอาใบกริชมาวัดขนาดบนกระดาษหรือทาบบนกาบหมากแล้วขีด
หรือตัดเป็นใบกริชตามขนาดที่ต้องการ  แล้วคืนใบกริชดังกล่าวแก่เจ้าของ
                14)  ช่างทำกริชจะต้องจดทำบัญชีรับจ่ายการทำกริชให้แก่ผู้สั่งอย่าชัดเจนเป็นพิเศษ  ช่างทำกริชจำเป็นมาก ๆ
  ที่จะต้องมีการจดบันทึก  ต้องมีบัญชีรับจ่ายเพื่อให้ลูกค้าผู้สั่งทำหายข้องใจ  และช่างทำกริชเองก็สามารถประเมินผลงานและลำดับคิวในการดำเนินการการทำกริชได้อย่างไม่สับสน
                15)  ห้ามช่างทำกริชพูดว่า  “ไม่ทัน”  “ไม่ได้”  แต่จะต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเกี่ยวกับขบวนการทำกริช  ว่าจำเป็นจะต้องมีการพัฒนารูปแบบผีมืออย่างต่อเนื่อง  เป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน  เริ่มตั้งแต่ตีใบมีด  ทำหัวกริช 
ทำฝักกริช  และประดับตกแต่ง  รวมเวลาในการทำแล้วแต่ละเล่มใช้เวลาประมาณ  1  เดือนเป็นอย่างน้อย 
ถ้าไม่อธิบายอาจมีปัญหา  เพราะลูกค้าบางคนใจร้อน
                16)  อย่าให้มีปัญหาการนัดหมายกับลูกค้า  เพราะการทำกริชทำเป็นจะต้องมีการรวมหลายสาขาอาชีพ
มาผสมผสานกัน  อย่างเช่น  ช่างตีเหล็ก  ช่างไม้แกะสลัก  ช่างทอง  โหราศาสตร์  และไสยศาสตร์  ฉะนั้นการนัดหมายจึงเป็นแค่การประมาณการเท่านั้น  ต่างจากการนัดหมายในงานอาชีพอื่น
                17)  อนุญาตให้ทำการซ่อมใบมีดกริชส่วนที่เป็นกั่น  โกร่ง  งวงช้าง  ฟัน  และปลายมีด  ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่จะไม่กระทบต่อลวดลายและรูปทรงของใบกริชอันเป็นข้อห้ามในการดัดแปลงแก้ไข
                18)  ช่างทำกริชจะต้องไม่ทำลายศิลปะการทำกริชของคนอื่น  จึงไม่ให้ซ่อมใบมีดกริช 
หรือดัดแปลงส่วนคดให้ตรง  และดัดส่วนที่ตรงให้คด  จะต้องคงรูปร่างของกริชนั้น ๆ  ถ้าต้องการแบบไหน
ก็ต้องทำอันใหม่
                19)  ห้ามเจียระไนหรือลับใบมีดให้คมเด็ดขาด  เพราะใบกริชแต่ละเล่มจะมีความคมภายในตัวอยู่แล้ว 
และจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปลับให้คม  หรือตกแต่งส่วนที่ร้าวหรือแหว่งแต่อย่างใด  ประกอบกับใบกริชบางเล่มมีพิษร้ายแรง  เนื่องจากส่วนผสมของเนื้อเหล็กมีสารพิษที่ทำปฏิกิริยาทางเคมี 
เมื่อโดนความร้อนจะเกิดควัน  ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับช่างกริชได้ระหว่างเจียระไนกริช
                20)  ห้ามแบกหรือหาบถ่านไม้เข้าไปในโรงตีกริช  แต่ให้ใช้วิธีลากเข้าไปถือเป็นมารยาท
ที่คนสมัยโบราณยึดถือ  เป็นการให้เกียรติกับสถานที่ที่ทำกริช  ซึ่งเชื่อว่าเป็นของสูง

ข้าราชสำนัก ในราชวังสุลต่าน เมืองยอกยาร์กาตาร์ อินโดนีเซีย เหน็บกริชไว้ด้านหลังตามแบบนิยมของชวา
ต่างกับมาเลเซียที่นิยมเหน็บไว้ด้านหน้าบริเวณหน้าท้อง
กริชของเจ้าเมืองยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี คอฝักหุ้มด้วยทองคำดุนลาย
 ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,80

               21)  ห้ามแสดงอาการหรือออกเสียงเจ็บปวดเมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำกริช  เพราะช่างทำกริชต้องใช้สมาธิ  ใช้ความอดทน  และเสี่ยงต่ออันตรายตลอดเวลา  จึงต้องอดทน  ระงับอารมณ์ไว้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับตนเอง เพื่อไม่ให้ช่างคนอื่นๆ  เสียขวัญและกำลังใจ
                22)  ห้ามช่างทำกริชกู้ยืมทรัพย์สินหรือเงินทองที่มีการคิดดอกเบี้ย  ช่างทำกริชเป็นสาชาอาชีพที่ต้องการความเป็นอิสระในการทำงาน  เป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนมาก  ต้องใช้เวลา  และกำหนดการเสร็จสิ้นของงานแต่ละชิ้นไม่แน่นอน  ฉะนั้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปะอันสวยงามซึ่งไม่มีที่ติเหล่านี้ให้คงอยู่  จึงห้ามไม่ให้ช่างทำกริชใจแตก  ใจเสีย  สร้างหนี้สิน  อันจะนำไปสู่ความไม่มีสมาธิในการทำงาน
                23)  ห้ามตีลูกเมียโดยไม่มีเหตุผล  ให้ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาครอบครัวช่างทำกริชจะตีลูกเมียและสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้  ต้องเป็นคนใจเย็นมาก ๆ  ไม่วู่วาม  มีเหตุผล  และต้องสร้างมาตรฐานครอบครัวให้มีความสุข
                24)  ห้ามบ่นหรือด่าลูกค้าเด็ดขาด  ช่างทำกริชจำเป็นต้องสัมพันธ์กับผู้คนมากมายทุกระดับชั้น  จึงจำเป็นต้องแยกแยะสภาพปัญหาของลูกค้าระงับอารมณ์จากการที่ลูกค้าด่าว่าต่าง ๆ  นานา  รับฟังคำกล่าวหาของลูกค้า  พยายามหาคำตอบและถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชาญฉลาด
                25)  ห้ามกินหรือดื่มในขณะที่ตีใบกริชโดยเด็ดขาด  เพราะขณะที่ทำใบกริชช่างกริชจะต้องควบคุมสมาธิ  ควบคุมอารมณ์  รวมทั้งควบคุมลมหายใจไม่ให้แปรปรวน  ในสมัยโบราณหากช่างกริชเป็นมุสลิม  จะปฏิบัติตัวในขณะที่ตีใบกริชเสมือนอยู่ในช่วงถือศิลอดตลอด  กระทั่งเสร็จสิ้นการตีใบกริช

                                                ----------------------------------------

                           
อกสารอ้างอิง
กริช วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8A
( เข้าถึง 20 สิงหาคม 2553)
กริช  อาวุธโบราณในบริเวณคาบสมุทรมาลายู    http://www.oknation.net/blog/yongyoot/2007/09/06/entry-1
( เข้าถึง 30 สิงหาคม 2553)
กริชรามัน กริชแห่งลังกาสูกะ     www.krisraman.co.th

กริชรามันห์ มหาศาสตราภรณ์หล่อหลอมเอกบุรุษ : โครงการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโล๊พหะลอ อำเภอรามันห์ จังหวัดยะลา. 2547. เชียงใหม่ : วนิดา เพรส.
ประวัติกริช และการก่อเกิดกลุ่มทำกริชรามันห http://www.krusiam.com/community/forum1/view.asp?forumid=Cate00024&postid=ForumID0021320
( เข้าถึง 20 สิงหาคม 2553)
ศาตราแห่งกริช...โลกแห่งความคม http://sabayoi.ueuo.com/data/pawat1.htm ( เข้าถึง 30 สิงหาคม 2553)

สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543. กะเทาะสนิมกริช : แลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

<<< PREVIOUS >>>