แหล่งกำเนิดของกริช |
Edward Frey กล่าวว่า กริชเป็นอาวุธที่วิวัฒนาการในชวากลางก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14 จากต้นตอพราหมณ์ จากรายงานแรกสุดของรัฟเฟิลส์ (1817) หลังจากไปดูซากปรักหักพังของเทวสถานพราหมณที่สุกุ (Candi Sukuh) ซึ่งอยู่ห่างจากสุระการ์ตาไปทางตะวันออก 26 ไมล์ พบฉากเตาหลอมเป็นบานศิลาแกะสลัก 3 บานต่อกัน แสดงภาพเชิงตำนานการทำกริช โดยทำร่างภาพพระวิษณุมหาเทพองค์หนึ่งของพราหมณ์ทรงกริชในขณะที่ประทับเหนือครุฑอันเป็นเทพปักษี แล้วจึงทำภาพและคำบรรยายของฉากเตาหลอมบานทางซ้ายแสดงถึงการหลอมกริช โดยเทพเอ็มปุ (empu) องค์หนึ่ง เทพดังกล่าวคือ ภีมะ (Bima) ซึ่งเป็นเทพพราหมณ์ชั้นรององค์หนึ่ง และเป็นพี่ชายอรชุน ภาพบานชวาแสดงรูปอรชุน (ซึ่งเป็นพันธมิตรและเขยของพระกฤษณะ) กำลังใช้เครื่องสูบลมรูปทรงกระบอกแบบที่ช่างชาวมลายูรู้จักกัน ภาพบานกลางแสดงรูปพระคเณศวร์เทพกุญชรและเทพแห่งการประสิทธิประสาทศิลปวิทยาการ ผู้อำนวยให้การประดิษฐสิ่งใหม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในการเช่นนั้น ช่างฝีมือและช่างโลหะจะมีการเซ่นสรวงพระคเณศวร์เพื่อขอพร บานศิลาแกะสลักที่จันทิสุกุนี้ อายุตกใน ค.ศ. 1361 (พ.ศ. 1904) และจากหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งที่วัดพุทธบุโรบุโดอันมหึมา ซึ่งสร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 9 จากภาพศิลาจำนวนมากมายแสดงภาพมนุษย์ทุกแง่มุมแสดงการใช้หรือพกพาอาวุธต่าง ๆ แต่ไม่มีกริชในภาพเหล่านั้น ฉะนั้นกริชจึงดูว่าจะไม่มีในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่มามีในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 (Edward Frey, 1986:5-7) |
มีดบาแดะของนายวันอุสมาน สาและ บ้านเลขที่ 7 ถนนยะยัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,77 |
มีดแด๊ง หรือลาดิง บางท้องถิ่นเรียกว่า ดาบกะแลวัง > มีดบาเแดะ เหล็กผสมเนื้อลาย ที่โคนใบมีดมีรอยตีนช้าง สัญญลักษณ์ของพระอุมา ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,77 |
มีดบาแดะ ของนายอุสมาน สาและ |
มีดบาแดะ ของนายอุสมาน สาและ ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,77 |
เนื่องจากกริชเป็นศัสตราวุธที่มีกำเนิดมาจากวัฒนธรรมฮินดู-ชวา ในสมัยอาณาจักร มัชปาหิตที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในลัทธิไศวนิกาย กริชจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนแห่งพระศิวะ ด้ามกริชแบบชวา-ฮินดูในอดีต จึงมักจะแกะสลักเป็นรูปของเทพเจ้า (พระศิวะ) เพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและผู้ที่นำเอากริชไปใช้ เทพดังกล่าวศิลปินหรือช่างผู้ประดิษฐ์จะสร้างสรรค์ออกมาให้อยู่ในรูปของยักษ์หรือรากษส ซึ่งเป็นปางที่ดุร้ายขององค์พระศิวะปางหนึ่ง หรือในตอนใดตอนหนึ่งของตำนานฮินดู นอกจากนั้นในตากริชหรือใบกริชบางเล่ม ช่างตีกริชจะสร้างให้มีลายตาเป๊าะกาเยาะห์ หรือลายตีนช้าง อยู่ด้วย ซึ่งลายดังกล่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของโยนิโทรณะ หรือสัญลักษณ์ของพระอุมา อันเป็นศักดิขององค์พระศิวะบางเล่มจะมีหูหรือวงช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระคเณศวรอยู่ด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าทั้งชุดของกริช ได้แก่ ด้ามกริช และใบกริชนั้น ได้มีสัญลักษณ์ของเทพในลัทธิไศวนิกาย รวมอยู่ด้วยกันทั้งสามองค์ ดังนั้นการพกพากริชติดตัวหรือมีกริชเอาไว้ในบ้านเรือนก็เสมือนดั่งมีองค์พระศิวะพระอุมา และพระคเณศวร คอยปกป้องคุ้มครองแก่เจ้าของกริชและครอบครัวนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา คติความเชื่อในเรื่องกริชและค่านิยมในการใช้กริชจึงได้ซึมลึกและขยายตัวไปทั่วพื้นที่ที่ลัทธิฮินดู-ชวา เคยแผ่ขยายตัวออกไปครอบคลุมเมื่อครั้งอาณาจักรมัชปาหิตเรืองอำนาจ และได้แผ่กระจายเหลื่อมล้ำเข้าไปยังพื้นที่ที่ติดต่อหรือในพื้นที่ที่มีการเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย และในราชสำนักสยามทั้งในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ |
<<< PREVIOUS >>>
|