ความสำคัญ |
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ : ประเพณีเดือนสาม ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชและชาวจังหวัดใกล้เคียง ประเพณีนี้เนื่องมาจากการยึดเอาพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งทางใจ นับเป็นประเพณีที่รวมเอาความศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจของชาวนครศรีธรรมราชและของชาวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดความเป็นปึกแผ่นสืบมาช้านาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชได้ร่วมมือร่วมใจบริจาคเงินทองตามกำลังศรัทธา นำเงินที่ได้จากการบริจาคไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเข้าเป็นแถบยาวนับร้อยเมตร แล้วพันแห่ผ้าดังกล่าวไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร แล้วใช้แถบผ้านั้นไปพันโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่นับถือของชาวนครศรีธรรมราช และชาวภาคใต้ทั้งมวล (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช.2528,28) |
ที่มา : ใต..้หรอย มีลุย.2547,34 |
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ ชาวพื้นเมืองมักพูดว่า แห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีการนำผ้าไตรสรณาคมน์ไปบูชาและขึ้นไปห่มตกแต่งสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งที่คนเคารพบูชา เช่น ศาสนวัตถุ รูปเคารพและสถูปเจดีย์ มีมาแต่โบราณทั้งในอินเดีย เนปาล ภูฐาน และศรีลังกา ส่วนไทยเรานั้นคงได้รับคติผ่านมาจากลังกา ซึ่งทุกวันนี้ชาวศรีลังกาก็ยังถือปฏิบัติอยู่เช่นเดียวกับชาวปักษ์ใต้และชาวล้านนา รวมทั้งประเพณีการทำลูกถ้วยหรือผางประทีป ตะครันดินเผาขนาดเล็กใส่น้ำมันใส่เทียนและจุดตามไฟบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ หรือที่เรียก จองเปรียง หรือจุดเปรียงบูชาในพิธีต่างๆ ซึ่งได้พบมากรอบองค์พระธาตุหริปุญไชย แต่ทางนครศรีธรรมราชได้สูญไปแล้วเหลือเพียงแต่การจุดเทียนปักแทนธรรมดาไม่มีภาชนะ แต่ประเพณีแห่ผ้าบูชาพระบรมธาตุยังมีอยู่อย่างมั่นคง ถือว่าได้กุศลแรงตายไปจะได้เกิดเป็นนางฟ้าหรือเทวดา ประเพณีการนำผ้าไปบูชาและห่มสิ่งที่เคารพบูชา โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรือง เพราะได้กลายเป็นอิทธิพลแบบอย่างแก่สถูปเจดีย์เมืองอื่นอีกหลายแห่ง และคงจะดีมีวิวัฒนาการมาตามลำดับตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเจริญในแต่ละท้องถิ่น เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น เนปาล ธิเบต การประดับตกแต่งบูชาศาสนสถาน รูปเคารพ มีการใช้ธงแขวน เรียก ธงกา ทำด้วยผ้าวาดภาพเรื่องราว ในพุทธศาสนาสีสันสดใสตกแต่งสถานที่อย่างวิจิตร ความจริงก็เป็นการพัฒนาไปจากภาพพระบถนั่นเองคือในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปรากฏว่านิยมสร้างภาพพระบถกันมาก ดังที่ปรากฎในศิลาจารึกและตำนานพระบรมธาตุเดิมภาพพระบถก็คงทำเป็นภาพแขวนห้อยขนาดย่อม ต่อมาได้คิดเอาผ้ามาเย็บต่อกันเป็นผืนยาว แล้วเขียนภาพพุทธประวัติเป็นภาพทศชาติหรือภาพมหาชาติตอนพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเกิดเป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนมาจุติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า รวมทั้งหมด 13 กัณฑ์ กลายเป็นภาพเล่าเรื่องขนาดยาวไป โดยเขียนตามความยาวของผืนผ้า สำหรับที่เมืองนครศรีธรรมราชปรากฏว่า เดิมมีผู้เคยเขียนเป็นภาพพระบถ แห่แหนขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ แต่ต่อมาได้ยกเลิกไปเนื่องจากมีความยุ่งยากไม่สะดวก ค่าลงทุนสูง ช่างเขียนก็หายากขึ้น จึงแหลือเพียงการนำเอาผ้าสีต่างๆ ขึ้นไปห่มแทน ซึ่งนิยมใช้ผ้า 3 สี ได้แก่ ขาว แดง และเหลือง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เดิมมีปีละครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา ต่อมาในราวสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้จัดให้มีเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เพื่อว่าพุทธสานิกชนจะได้มีความสะดวกในการทำบุญยิ่งขึ้น เพราะบางคนจะต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดไกล อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาเป็นกำหนดการงานใหญ่ประจำปี เป็นการจัดกระบวนแห่อย่างเอิกเกริก สำหรับคนทั่วไปที่ศรัทธาเลื่อมใสไม่มีโอกาสทำบุญใน 2 วัน ดังกล่าว จะทำบุญถวายผ้าห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมื่อใดก็ได้ตามความเหมาะสม โดยจะจัดหามาเองหรือมาเช่าเอาจากทางวัดซึ่งเตรียมพร้อมไว้ทุกวันก็ได้ (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์.2548,213-214) |