ความเป็นมาของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ 

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครศรีธรรมราชสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประเพณีที่รับมาจากอินเดีย
เหมือนประเพณีอื่นๆกล่าวคือในสมัยก่อนพุทธกาล ชาวอินเดียส่วนใหญ่มีความเชื่อในสิ่งเหนือจริงอยู่มาก  โดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์  มีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าทั้งหลายทพเจ้าจึงมีความสำคัญแก่ชีวิตพราหมณ์เป็นอย่างยิ่งารบูชาทุกสิ่งทุกอย่างของพราหมณ์ จึงคำนึงถึงเทพเจ้าก่อนสิ่งอื่นใดและการบูชาที่ดีที่สุดเพื่อให้ถูกใจเทพเจ้าก็คือการเซ่นสรวงบูชากราบไหว้เทพเจ้า  ซึ่งต่อมาได้เป็นวัตรที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ               
                ครั้นในสมัยพุทธกาลคำสอนของพระพุทธองค์มุ่งจะทำลายความเชื่อกันไม่เป็นสาระ  แต่ไม่อาจทำลายการเซ่นสรวงได้เด็ดขาดในทันทีทันใด  เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน  การเซ่นสรวงบูชาที่ตนเคยปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่ต่อไป  เช่น  การบูชาเทพเจ้าประจำต้นไม้เพื่อให้ประทานโชคลาภ   ความสงบสุขประทานบุตรและพืชผลแก่ตนโดยการกราบไหว้บูชาและการหาผ้าแพรพรรณมาพันรอบต้นไม้ก็ยังคงปฏิบัติสืบกันมา  วัตรปฏิบัติของชาวพุทธที่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อนมีอิทธิพลต่อชาวพุทธสมัยต่อมาที่นิยมปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อเดิม  ชาวพุทธบางคนก็ไม่อาจแยกได้ว่าประเพณีใดเป็นของศาสนาพราหมณ์และประเพณีใดเป็นของศาสนาพุทธ  เพราะพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาปะปนในศาสนาพุทธมากมาย

                   
                                      ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย.2547,35

ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครศรีธรรมราชก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุที่กล่าวมานี้  เพราะเมื่อนครศรีธรรมราชรับพุทธศาสนามาจากอินเดีย  ก็รับเอาประเพณีต่าง ๆ ตามแบบชาวพุทธในอินเดียเข้ามาด้วย  และยึดถือว่าการทำบุญหรือการกราบไหว้บูชาที่ให้กุศลจริง ๆ จะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธองค์  เมื่อพระพุทธองค์เข้าสู่ปรินิพพานแล้วก็ยังมีสัญลักษณ์แทนพระองค์อยู่ เช่น เจดีย์ พระพุทธรูป  การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับบูชากราบไหว้พระพุทธองค์ด้วย  และการที่ชาวนครศรีธรรมราชนำเอาผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์  ก็ถือว่าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระพุทธองค์เช่นกัน

               ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเพณีที่มีมานาน  จนยากที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นในสมัยใด  ตามประวัติของประเพณีนี้กล่าวว่า  ในสมัยโบราณประมาณ พ.ศ. 1773  พระเจ้าสามพี่น้อง  คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  พระเจ้าจันทรภาณุ  และพระเจ้าพงษาสุระ  กำลังเตรียมการสมโภชพระธาตุอยู่นั้น  คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบใหญ่ยาวผืนหนึ่งซึ่งมีลายเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ  ซึ่งเรียกว่า  “พระบต”  ขึ้นที่ชายหาดอำเภอปากพนังเมืองนครศรีธรรมราชก่อนที่จะถึงวันสมโภชพระบรมธาตุไม่นาน  ชาวปากพนังได้เก็บผ้านั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  พระองค์ได้รับสั่งให้ซัก  “พระบต”  จนสะอาดแต่ลายเขียนภาพพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน  ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ  จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ  ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจำนวนราวร้อยคนจากเมืองหงสาวดี  มีผขาวอริยพงษ์เป็นหัวหน้า  จะเดินทางไปลังกาเพื่อนำพระบตไปบูชาพระบาทในลังกา  แต่โดนพายุที่ชายฝั่งเมืองนคร  มีคนรอดชีวิตราวสิบคน  (รวมทั้งหัวหน้าด้วย)  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่า  ควรนำพระบตนั้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์  เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ  เจ้าของพระบตซึ่งรอดชีวิตก็ยินดี  ด้วยเหตุนี้การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงได้กลายมาเป็นประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราชสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 
PREVIOUS