วิวัฒนาการของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ |
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในปัจจุบันมีรายละเอียดต่างไปจากเดิม กล่าวคือแต่เดิมมีช่างผู้ชำนาญเขียนภาพสีพระพต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ เมื่อเขียนภาพแล้วจะประดับพระบตด้วยลูกปัดสีแพรพรรณ และดอกไม้ที่ขอบแถบผ้าโดยตลอดทั้งผืน แต่ปัจจุบันอาจเป็นเพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป เวลาว่างมีน้อย หรืออาจเป็นเพราะไม่มีช่างผู้ชำนาญจึงทำให้การประดับประดาและการเขียนภาพที่พระบตสูญหายไป และผ้าที่ใช้กันทุกวันนี้มีเพียง 3 สี คือสีขาว สีแดง และสีเหลือง ภัตตาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่เคยจัดไปถวายพระตอนแห่ผ้าขึ้นธาตุปัจจุบันก็ไม่มี นอกจากนี้แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุจะกระทำกันโดยพร้อมเพรียงเป็นขบวนที่เอิกเกริกเพียงขบวนเดียว แต่ปัจจุบันเนื่องจากประชาชนมาจากหลายแห่ง และต่อละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียวกัน และใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็ได้ตามความสะดวก เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุมาถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว ก็แห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระม้า หรือวิหารพระทรงม้า ในตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง 3-4 คนสมทบไปกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำพระบตขึ้นไปโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ เพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม |
ที่มา : ใต้..หรอยมีลุย.2547,34 |
อนึ่ง การบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุนี้ นอกเหนือจากการแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุในประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ก็อาจกระทำในโอกาสอื่น ๆ อีกก็ได้ เช่น ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ๆ เสด็จเมืองนครทุกคราวก็เคยโปรดฯ ให้มีการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุมิได้ขาด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ได้ทรงกล่าวถึงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการนี้ว่า “วันที่ 5 ก.ค. เวลาเช้าไม่ได้ไปแห่งใด เพราะเหนื่อยและนอนน้อย เวลาบ่ายแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้พื้นชมพู เข้าไปที่วิหารพระม้า ถ่ายรูปที่นั่นและทับเกษตร แล้วไปดูละครทรัพย์ภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์ที่พลับพลา” |
เอกสารอ้างอิง ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. 2547. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548. ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้. กรุงเทพฯ : สิวีริยาศาส์น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช.2528.ประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยาม |