ความเป็นมา |
ลิเกฮูลู ชาวไทยชอบฟังคารมและปฏิภาณของลำตัด เพลงฉ่อยฉันใด ชาวไทยมุสลิมปักษ์ใต้ตลอดจนถึงชาวมุสลิมมาเลเซียก็ชอบฟังลิเกฮูลูฉันนั้น พจนานุกรม Kamus Dewan ของสมมาคมภาษาและหนังสือสหพันธรัฐมาเลเซียได้แจกแจงความหมายของคำว่า “ฮูลู” ไว้ 5 ประการคือ (1) ศีรษะ (ราชาศัพท์มลายูโบราณ) (2) บริเวณเหนือลำน้ำ (3) จุดเริ่มต้น (4) ด้านอาวุธ (5) หมู่บ้านชนบท การละเล่นลิเกฮูลู ตรงกับความหมายประการที่ 2 และ 5 มากที่สุด คือ การแสดงประเภทนี้มีขึ้น ณ หมู่บ้านชนบท ทางทิศเหนือของลำน้ำอันเป็นตัวกำเนิดแม่น้ำปัตตานี อาจเป็นท้องที่ในอำเภอเบตง อำเภอบันนังสะตา จังหวัดยะลา หรืออำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ทางกลันตันเรียกลิเกบารัต หรือลิเกบาฆะ หมายถึงลิเกจากทิศตะวันตกตรงกันข้ามกับทางปัตตานีเรียกลิเกฮูลู หมายถึงลิเกจากทิศเหนือ (ลำน้ำ) นายกูมะ ลาลอ หัวหน้าลิเกฮูลู คณะบันตัง ฆือลัป แห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้เล่าว่าลักษณะกลอนที่ลิเกฮูลูใช้ขับตอบโต้นั้น เดิมเรียกว่า “ปันตนอินัง” ปันตน หมายถึงบทกลอนมลายู ใช้ขับร้องในการละเล่นหลายอย่าง เช่น มะโย่งหรือรองเง็ง ตัวอย่างปันตนอินัง บูรงตะตือเบะ บูรงฌือลาโตะ ตือรือแบมือแลวอ ตาญตะตานี มีเตาะตะเบะ ซือลากอดาโตะ ดาตูมือตือรอ ดาริชินี นกตะตือเบะ นกฌือลาโตะ บินร่อนเหนือแหลมตานี ขอคารวะพระผู้ทรงศรี ภูบดีแลโอรสแห่งสถาน ผู้เล่นลิเกฮูลูหลายคนมักข้ามฝั่งไปเรียนที่กลันตัน ซึ่งที่นั้นยังคงรักษาศัลปะการแสดงของมุสลิมไว้มาก ปรกติเรียนและฝึกซ้อมกันเป็นเวลาแรมเดือน สมัยโบราณไม่มีการฝึกหัดผู้หญิงเล่นลิเกฮูลู แต่ปัจจุบันดาราลิเกฮูลูหลายคนมักเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะคณะเจ๊ะลีเมาะมีลูกคู่เป็นคุณเธอล้วน และเป็นดาราโทรทัศน์ยอดนิยมของชาวมาเลเซีย ( ชวน เพชรแก้ว.2523,43-44) |
ที่มา : ใต้ หรอย มีลุย.2547, 62 |
‘ลิเกฮูลู’ ไม่ใช่วัฒนธรรมในศาสนาอิสลาม แต่เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ มักแสดงในงานต่างๆ ของชาวมุสลิม เช่น มาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว ปกติการแสดงแต่ละครั้งจะแสดงในช่วงกลางคืน และโดยทั่วไปจะนิยมแสดงเป็นสองคืน ในส่วนของความสนุกสนานนั้นเรียกได้ว่าหากผู้มาชมยังไม่ลุกก็จะแสดงกันจนฟ้าสว่างเลยทีเดียว ทั้งนี้ คำว่า ‘ลิเก’ หรือ ‘ดิเกร์’ เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมายไปในทางการสวดสรรเสริญพระเจ้า ส่วน ‘ลิเกฮูลู’ บ้างว่ารับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไป ‘ลิเกฮูลู’ แบบดั้งเดิม ขับร้องกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ความสนุกสนานอยู่ที่ท่วงทำนองที่มาจากกลองรือบานา (รำมะนา) อันคึกคัก ผสานกับเสียงฆ้อง และการรำร่ายอย่างมีลูกเล่นของมือเขย่าลูกแซ็ก ที่สอดคล้องไปกับท่วงท่าอันพร้อมเพรียงของลูกคู่ ทำให้ผู้ชมรอบข้างข้างเกิดอาการ ‘อิน’ ไปกับบรรยากาศอันคึกครื้น โดยเฉพาะเด็กๆจะถึงกับโยกย้ายส่ายมือตามกันเป็นแถวเลยทีเดียว เจ๊ะห์ปอ สาแม หัวหน้าคณะแหลมทรายเล่าว่า เนื้อเพลงของ ‘ลิเกฮูลู’ ที่ขับร้องแต่ละครั้งนั้น จะแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชุมชนที่ไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสิ่งที่กำลังจะเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สะท้อนให้เห็นภาพชุมชนของเขาออกมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในชุมชน หรือสิ่งดีๆในชุมชนที่ควรรักษา เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการสร้างชุมชนจากภายในเอง ดังนั้นไม่ว่าจะไปแสดงที่ชุมชนใดก็ตามจะต้องเข้าไปทำการศึกษาพื้นที่นั้นเสียก่อน เจ๊ะห์ปอ เล่าต่อว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ชอบการนำเสนอเนื้อหาของ ‘ลิเกฮูลู’ เพราะมีบางส่วนไปขัดแย้งกับนโยบายที่เขากำลังจะทำ แต่หากศิลปินพิจารณาแล้วเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสม หรือมีผลกระทบอะไรบางอย่างกับชุมชน ก็จะสะท้อนความคิดสอดแทรกผ่านทางบทเพลงของ ‘ลิเกฮูลู’ เพื่อให้ชุมชนนั้นมาคิดร่วมกัน ความเห็นต่างๆ สามารถถกกันผ่านเวที ‘ลิเกฮูลู’ ตรงนั้นได้เลย “แรกๆ ผมจะได้รับผลกระทบมากจากหน่วยงานของรัฐ เวลาแสดงในพื้นที่ตัวเอง จะกระทบกับหน่วยงานพวกทางอำเภอ หรือการประมง เขาจะไม่ชอบ เช่น เวลาคุยเรื่องทะเล แล้วยกปัญหาเรื่องป่าชายเลนที่ชุมชนนั้นๆ บางแห่งมีป่าชายเลน 1,500ไร่ เอามาทำนากุ้งได้อย่างไร ใครเป็นคนอนุมัติ พื้นที่ป่าชายเลน 1,500 ไร่ เหลือ 1,000 ไร่ อีก 500 ไร่ ไปไหน ใครตัดต้นไม้ไป ตัดทำไม มันอยู่ในเพลงที่เราเสนอ เขาจึงไม่ชอบ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องชอบ ผู้ว่าฯก็ลงมาดูป่าชายเลนที่เราปลูกไว้ เวลาแสดงในเมืองให้ผู้ว่าฯฟัง เราก็แสดงแรงๆ หน่อย คือเอาปัญหาไปบอกเลย “ผมเคยไปแสดงในเมือง เรื่องบ่อบำบัดน้ำเสีย ผมจะร้องเพลงฟ้องผู้ชมว่า การจะขออนุญาตเปิดโรงงานจะต้องมีระเบียบของอุตสาหกรรม การสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจะต้องมี 3 บ่อๆ ที่ 1 คือบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อที่ 2 คือบ่อบังนาย บ่อที่ 3 คือบ่อบังหน้า ดังนั้น คนที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดู ถ้ายอมรับว่ามี ให้บอก ผมจึงจะแสดงต่อ เขาจะมองเราหัวแข็งเหมือนกัน เลยบอกไปบนเวทีว่า ทำอย่างนี้มันไม่ได้กระทบผมหรอก ผมไม่ได้เดือดร้อน ผมอยู่กรุงเทพฯ แต่ลูกหลานที่อยู่ที่นี่จะมีผลกระทบ คุณก็เป็นคนข้างนอก โรงงานมาก็เป็นคนข้างนอก ดังนั้นอย่าบอกว่าผมปากร้าย ผมมาช่วยบอกเท่านั้น ไม่อย่างนั้นชุมชนรอบอ่าวก็ต้องย้ายไป” ‘ลิเกฮูลู’ จึงทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่เข้าถึงชาวบ้าน มิหนำซ้ำยังมีพลังใน ‘การดึงดูดมวลชน’ ในชุมชนอย่างมหาศาล ครั้งหนึ่ง ลิเกฮูลูคณะแหลมทราย เคยแสดงที่ริมหาดบริเวณหมู่บ้านแหลมทรายให้กลุ่มทัวร์วัฒนธรรมจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยชม สังเกตได้ว่า ผู้ชมดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่ขาดสาย คนที่มาก่อนก็ไม่ลุกไปไหน ราวกับถูกพลังแห่งดนตรีและนาฏลีลาสะกดไว้ เพียงเวลาไม่นานนักก็มีผู้มาชมลิเกฮูลูเป็นร้อยคน หัวหน้าคณะคุยว่า การแสดงในครั้งนั้นไม่ได้บอกกล่าวกับคนในหมู่บ้านมาก่อน เมื่อเขารู้เขาได้ยินเสียง ก็บอกกันปากต่อปาก ซึ่งหากบอกกันก่อนหน้านี้ว่าจะมีการแสดง ‘ลิเกฮูลู’ อาจมีคนมาเป็นพันคนเลยทีเดียว นอกจากนี้ ‘ลิเกฮูลู’ ยังยึดถือสิ่งสำคัญที่สื่อมวลชนต้องมี นั่นคือ การคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการนำเสนอเนื้อหา ใครจะมาแทรกแซงไม่ได้ “เวลาเราแสดง เราจะบอกผู้จัดว่า เราขอมีอิสระนะ อย่ามากำหนดหัวข้อให้ผมแสดง เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้านในชุมชนเป็นอย่างไร ผมจะไม่แสดง เพราะเรารู้ว่ากองทุนหมู่บ้านที่เอามามีปัญหา ผมไม่อยากไปยุ่ง เดี๋ยวจะหาว่าผมปากร้าย พูดไม่ดี แสดงไม่ดี “มีความพยายามติดต่อให้ไปแสดงอย่างงาน โอท็อป ผมเห็นว่าไม่สร้างประโยชน์แท้จริงก็ไม่รับ วงของผมไปแสดงทั่วประเทศแล้ว ผมจะไปบอกวงอื่นๆ ว่า คิดอย่างนี้ แสดงอย่างนี้ เพื่อจะได้ไปพร้อมๆ กับผม เพราะประเทศชาตินี้ไม่ใช่ของผม เป็นของทุกคน แล้วลิเกฮูลูนี้ก็ไม่ใช่ของผม เป็นของทุกคน มันเป็นมรดก” แม้ว่าในปัจจุบัน ‘ลิเกฮูลู’ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น หลายชุมชนมีความสนใจการละเล่นดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง ชุมชนในพื้นถิ่นเองกลับไม่ค่อยได้ดู ‘ลิเกฮูลู’ ของตนเองนัก กล่าวคือ ‘ลิเกฮูลู’ กลายเป็นสิ่งที่ไปทำรายได้จากการเปิดแสดงในกรุงเทพฯมากกว่า ดังนั้น การทำหน้าที่ ‘สื่อมวลชน’ของชุมชนจึงกำลังหายไป เธียรชัย อิศรเดช อาจารย์ประจำสาขาสื่อการแสดง และสาขาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงกระบวนการต่างๆที่ ‘ลิเกฮูลู’ ถ่ายทอดออกมา ว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีอิทธิพลต่อชุมชน เพราะโดยทั่วไปสื่อพื้นบ้านจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมกันของคนแต่ละที่ เป็นอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่านี่คือพวกเรา มันจะผูกพันกันในตัวที่ทำหน้าที่ให้คนได้สื่อสารกัน “มันมีตัวสุนทรียภาพอยู่ในนั้น ตัวสุนทรียภาพเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มคน เฉพาะของแต่ละวัฒนธรรม คนแต่ละที่ก็จะดูสื่อพื้นบ้านแล้วรู้สึกสวยงามพออกพอใจ คนนอกวัฒนธรรมอาจจะเห็นหรือไม่เห็น แต่คนในวัฒนธรรมจะเห็น เพราะฉะนั้นคนที่ได้รับการหล่อหลอมในแต่ละวัฒนธรรมก็จะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน คล้ายกับว่าเราชอบของแบบเดียวกัน” เธียรชัย อธิบายต่อว่า ปัจจุบันหน้าที่ความเป็นสื่อมวลชนของสื่อพื้นบ้านเปลี่ยนไปมาก รวมทั้ง ‘ลิเกฮูลู’ ด้วย แต่หากส่งเสริมให้กระบวนการดังกล่าวกลับคืนมาและพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้รัฐมีสื่อที่สร้างความเข้าใจและเข้าถึงคนใน 3 จังหวัดได้มากกว่าสื่อปกติ เพราะสื่อพื้นบ้านจะทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน “สมัยก่อนสื่อพื้นบ้านทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว เป็นกลุ่มเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง คนส่วนใหญ่จะไม่เดินทาง เพราะคมนาคมไม่สะดวก และภาระงานด้านเกษตรกรรมทำให้เขาอยู่ติดที่ ดังนั้นตัวสื่อพื้นบ้านจะเป็นผู้สื่อคอยบอกเล่าเก้าสิบ “แต่ปัจจุบันฟังก์ชันนี้ไม่เวิร์คแล้ว เพราะมีทั้งโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้นจึงได้รับรู้เท่ากัน ศิลปินก็จะไม่มีบทบาทในตรงนี้ แต่สิ่งที่มีคือสื่อพื้นบ้านทำหน้าที่เหมือน สรยุทธ สุทัศนะจินดา คือทำหน้าที่ย่อยข่าว วิพากษ์ ประมวล ช่วยกันคิดทำให้ข้อมูลที่ได้เกิดการไตร่ตรอง ซึ่งตัวศิลปินโดยจุดยืนก็จะเป็นคนที่มีจริยธรรมสูงและมีมุมมองที่ละเอียดอ่อน เพราะเขาเป็นศิลปินในตัว คนจะเข้าใจได้มากกว่าข้อเท็จจริง โดยผ่านความรื่นเริงความบันเทิงที่จะทำให้เราได้รู้สึกว่า ไม่ซีเรียสเกินไป แต่ทันทีที่เราเคลิ้มหรือคล้อยตาม เราก็รับแนวคิดนั้นโดยไม่รู้ตัว “ดังนั้นหน้าที่นี้จะช่วยชี้นำทางความคิดจะดีมากกว่า แต่สิ่งที่ขาดก็คือต้องช่วยให้ศิลปินเข้าถึงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่า สรยุทธ ซึ่งตรงนี้ยังขาดอยู่ ต้องเสริมหลายๆทาง เพราะเขามีพรสวรรค์จากการสนใจเรื่องรอบๆ ตัว และมีพรสวรรค์ที่จะเล่าให้คิดลึกซึ้งอยู่แล้ว” สุดท้าย คงต้องมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า รัฐให้ความสำคัญกับสื่อชนิดนี้มากน้อยแค่ไหน และขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำลัง ‘เทคโอเวอร์’ สื่อมวลชนชาวบ้านไปอย่างไม่รู้ตัวหรือไม่ ในขณะที่สังคมส่วนกลางกำลังต้องการความจริงที่เป็นกลางและหนักแน่น จนต้องเรียกร้องการคงอยู่ (แบบเดิม) ของ ‘มติชน’และ ‘บางกอกโพสต์’ที่ไม่มีนายทุนด้านการบันเทิงเป็นผู้บริหารด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีได้ สิ่งที่ ‘ลิเกฮูลู’ เปิดประเด็น วิพากษ์ วิจารณ์ ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาเองด้วยสายตาแห่งความเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ก็ควรเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ต้องมีเช่นกัน อย่าลืมว่า ในขณะที่ภาครัฐยังมองไม่เห็นพลังซ่อนเร้นในจุดนี้มากพอที่จะนำมาใช้ ฝ่ายผู้ไม่หวังความสงบอาจก้าวล่วงหน้าไปก่อน อย่างที่ได้จัดการกับ ศิลปิน ‘ลิเกฮูลู’ ไปคนหนึ่งแล้ว ‘ข่าวลือ’ ที่เป็นเหมือนเสี้ยนเล็กๆ ทว่าทำให้ รัฐบาลช้ำหนอง และกำลังลามกลายเป็นบาดทะยัก อาจจะได้รับบ่งเสี้ยนจาก ‘ความจริง’ ที่ผ่านสื่อพื้นบ้านนี้ และบางทีอาจจะมีประโยชน์มากกว่าการตั้งช่องกระบอกเสียง ‘ภาษามลายู’ ของรัฐ อย่างที่กำลังจะทำอยูในเวลานี้ก็ได |
ดีเกฮูลู คนไทยนิยมเรียก ลิเกฮูลู หรือจะเรียกว่าลำตัดมลายูก็ได้ เพราะเป็นต้นกำเนิดของลำตัดไทย เป็นการแสดงประเภทศิลปะการร้องประกอบดนตรีของคนพื้นเมืองในแถบชายแดนภาคใต้ รากกำเนิดได้อิทธิพลมาจากศาสนาอิสลาม คือ พวกพ่อค้าชาวเปอร์เชียนอกจากเดินทางเรือเข้ามาค้าขายแล้ว ยังนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้ดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้และปลายแหลมมลายู หรืออินโดนีเซีย มาลาเซีย ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในพิธีทางศาสนาอิสลามมีบทสวดสรรเสริญพระเจ้า ตามปกติเป็นบทขับร้องสำคัญที่ขับร้องกันในวันสำคัญทางศาสนา ในสมัยพระยาเมืองปกครอง 7 หัวเมืองมาลายู เช่น งานเมาลิดหรือวันกำเนิดพระนาบี บทสวดนี้ชาวเปอร์เชียเรียกว่า “ดีเกร์เมาลิด” (มาจากคำซีเกร์ Zikir ในภาษาอาหรับ) เป็นการขับร้องที่มีเสียงไพเราะน่าฟังมากเรียกกันว่า “ละไป” หรือ “ซีเกร์มัรฮาบา” เป็นการร้องเพลงประกอบการตีกลองรำมะนา ชาวมลายูพื้นเมืองเห็นบทสวดนี้ฟังสนุกแต่ไม่เข้าใจ จึงเอาทำนองมาดัดแปลงพร้อมแต่งเนื้อคำร้องเป็นภาษาพื้นเมืองขึ้นร้องเล่นก่อน ต่อมาเมื่อมีผู้เห็นว่ามันสนุกฟังไพเราะและคนทั่วไปฟังเข้าใจ จึงพัฒนานำมาขับร้องในที่สาธารณะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการแยกเป็น 2 ฝ่าย พร้อมแต่งกายให้สวยงามและร้องโต้ตอบแก้กันไปมา ใช้คารมเสียดสีปฏิภาณ ไหวพริบโต้กัน หรือพูดเรื่องตลกโปกฮาหรือประยุกต์ให้เข้าเรื่องกับงานแสดงในโอกาสต่าง ๆ มี่เครื่องดนตรีประโคมในที่สุดจึงได้กลายเป็น “ดีเกฮูลู” (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548, 249-250) |