ขณะที่พักนอนอยู่ที่โคนต้นไม้ใหญ่ก็ได้ยินเสียงคุยระหว่างแม่นกอินทรีกับลูกนกเกี่ยวกับเรื่อง
ที่มหาพราหมณ์จะตัดเศียรตน  ถ้าหากตอบปัญหาไม่ได้  ลูกนกอินทรีได้ถามถึงปัญหา
ดังกล่าว  แม่นกก็อธิบายหัวข้อปัญหาและคำถามให้ลูกนกฟัง  ทำให้มหาพราหมณ์ทราบว่า  “มนุษย์ 3  ราศี”  นั้นหมายถึงในวันหนึ่ง ๆ มนุษย์จะมีราศีอยู่ที่หน้า  หน้าอก  และเท้า  จึงต้องใช้น้ำล้างหน้าในตอนเช้า  ลูบอกในตอนกลางวัน  และล้างเท้าในตอนเย็น  มหาพราหมณ์จึงเดินทางกลับไปตอบปัญหาของมหาพรหมได้ถูกต้อง  และไม่ยอมตัดเศียรของมหาพรหมผู้น้อง  แต่มหาพรหมก็ไม่ยอมได้อ้อนวอนให้มหาพราหมณ์ตัดเศียรของตนให้ได้  หลังจากตัดเศียรมหาพรหมแล้ว  ธิดาของมหาหรหมได้นำเศียรของบิดาเข้าไปเก็บรักษาไว้ในถ้ำ  ขณะที่ประโคมคุมเศียรและแห่แหนเพื่อนำไปเก็บรักษา  พระพุทธเจ้าได้ให้มีดนตรีบรรเลง  3  อย่างคือ  กาหลอ  หนังควน  และละคร  (โนรา)  การแห่แหนครั้งนี้ให้ประโคมกาหลอเป็นกระบวนนำ  แต่เนื่องจากไม่มีเพลงที่จะบรรเลงประกอบ  บรรดาพุทธสาวก  ทวยเทพ  และพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ จึงช่วยกันประดิษฐ์เพลงต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวน 12 เพลง  เพลง  12  เพลงนี้ถือว่าเป็นแม่บทของการเล่นกาหลอ  การประโคมกาหลอครั้งนี้  พระยายมเป็นผู้บรรเลงกลองสวรรค์  พระภูมิเป็นผู้บรรเลงฆ้องสวรรค์  ส่วนพระอินทร์เป็นผู้บรรเลงปี่สวรรค์  การประโคมคุมเศียรและแห่แปนครั้งนี้ถือว่าเป็นการประโคมครั้งแรกต่อมาพระพุทธองค์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม  จึงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนนำไปประโคมแห่ศพแห่นาคในพิธิทางศาสนา  และกำหนดให้ยึดถือเป็นประเพณีสืบมา (๔)

โอกาสที่แสดง
          งานที่กาหลอไปประโคมแต่เดิมนั้นมีเฉพาะงานศพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ต่อมาใช้ประโคมในงานบวชนาค  (โดยเฉพาะนาคที่บวชแล้วไม่สึก)  และงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่ด้วย  กลอนตำรากาหลอซึ่งยืนยันว่าใช้กาหลอประโคมในงานศพและงานบวชนาคมีดังนี้
                จะกล่าวตำรากาหลอ                                           กล่าวไว้พึงพอสืบต่อกันมา
ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าเทศนา                               ว่าพวกเหล่านี้นี้อยู่เป็นอัตรา
ชั้นดาวดึงสาประโคมดนตรี                                              อยู่เหลี่ยมพระสุเมรุพระเจ้ากะเกณฑ์ลงมา
เกิดในชมพูพระพุทธเจ้าตรัสรู้                                         จึงตั้งเอาไว้ในพระศาสนา
ประโคมนาคซากศพเป็นธรรมเนียมมา                         มีค่าราดมาตรามีมาแต่ก่อน (๕)
นอกจากในตำรากาหลอ (๖)     ตอนที่ว่าด้วยค่าราดได้กล่าวถึงค่าราดในการคุมนาคหรือแห่นาคและค่าราดการขึ้นเบญจาไว้ด้วย  จึงเป็นการยืนยันว่าในสมัยหนึ่งใช้กาหลอประโคมในงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่ด้วย
“...........................................                    ใครทักทายยาฟัง
              หมันเข้าเรียกมาคุมนาค                                     เรียกสามบาทกับสองสลึง”
                “สิบเอ็ดบาทในคลาดไคล                 บินจาไส..................................”

                ในปัจจุบันนี้การประโคมกาหลอคงมีเฉพาะในงานศพเท่านั้น  ความนิยมที่ใช้กาหลอประโคมในงานบวชนาคและงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่เพิ่งหมดไป
เมื่อ  ๓๐ – ๔๐ ปีมานี้เอง (๗)

______________________

(๔) พร้อม  สวัสดิพันธ์  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ  บ้านเลขที่  ๑๐๐  หมู่ที่ 5  ตำบลวังหิน  อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ  ๔  พฤศจิกายน  ๒๕๒๒.

(๕)น้อย รอดภัย ผู้ให้สัมภาษณ์ ชวน เพชรแก้ว ผู้สัมภาษณ์ ณวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๖ พฤศจิกายน  ๒๕๒๒

(๖) พร้อม  สวัสดิพันธ์  หนังสือบุดขาว : ตำรากาหลอ

(๗) พร้อม  ศรีสัมพุทธ  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ  วัดเสมาเมือง 

อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๒๒.

   คลิก ชมการบรรเลงและความเป็นมาของ"กาหลอ" ดนตรีแห่งความตาย จากรายการ"ชีพจรลงเท้า"