|
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีของกาหลอคณะหนึ่งมีเพียง ๓ อย่าง รวมกันแล้วมีทั้งหมด ๖ ชิ้นคือ
ปี่ฮ้อหรือปี่ห้อ ๑ เล่า
กลองทน (กลองโทน) ๒ ใบ
ไม้ตีกลองทน ๑ อัน
ฆ้อง ๒ ใบ |
|
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,67 |
๑. ปี่ฮ้อ ในตำนานกาหลอเรียกปี่ชนิดนี้ว่าปี่สวรรค์ ผู้ประดิษฐ์คือพระอินทร์ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้อ้อยช้าง ได้ประดิษฐ์ขึ้นในคราวแห่เศียรมหาพรหม และพระอินทร์เป็นผู้บรรเลงเป็นครั้งแรก
ปี่ฮ้อมีขนาดสั้นกว่าปี่ไฉนและปี่ชวา มีส่วนประกอบ 4 ส่วนคือ
๑.๑ ฮ้อปี่ คือส่วนที่เป็นปากปี่ มีลักษณะคล้ายลำโพงทำด้วยไม้อ้อยช้าง ส่วนนี้จะมีด้ายสี่ขาวพันรอบหลาย ๆ ชั้น เรียกว่า “ด้ายราด” เมื่อไปนำศพครั้งหนึ่งจะต้องนำมาพันหุ้มเสียครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นว่ามากพอสมควรก็ปลดออกเสียทีหนึ่ง แล้วค่อยพันใหม่อีกเมื่อนำศพใหม่
๑.๒ คันปี่ คือส่วนที่ถัดจากฮ้อปี่ ส่วนนี้ค่อยเรียวเล็กลงไปยังบังลม ทำด้วยไม้อ้อยช้างหรือไม้หลุมพอ หรือไม้ประดู่ก็ได้ ที่คันปี่จะมีปลอกเงินคาดเป็นระยะ ๆ และมีรูสำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ๘ รู อยู่ด้านบน ๗ รู และด้านล่างอีก ๑ รู รูกลางด้านบนชื่อว่า “รูทองศรี”
๑.๓ บังลม คือส่วนที่ถัดจากคันปี่ บังลมทำด้วยไม้หรือหอยมุกก็ได้ มีลักษณะกลมและโค้ง เพื่อให้กระชับต่อการจับถือขณะเป่าและเข้ากับรูปของปากที่โป่งออกมา
๑.๔ ลิ้นปี่ คือส่วนที่ถัดจากบังลมเป็นส่วนเล็กที่สุด ประกอบด้วยไม้ซึ่งเจาะรูตลอด มีเดือยที่ใช้เสียบกับส่วนของคันปี่ที่ยื่นออกมาจากบังลม และใบตาลซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงก็จะเสียบติดอยู่กับไม้เล็ก ๆ ชิ้นนี้อีกทีหนึ่ง เมื่อจะเปลี่ยนลิ้นใบตาลจะต้องดึงไม้ส่วนนี้ออกมาจากคันปี่ และจะต้องมีเชือกผูกไม้ชิ้นนี้ติดไว้กับคันปี่ เพื่อป้องกันการหลุดหายไว้ด้วย
นอกจากส่วนประกอบของปี่ทั้งสี่ส่วนแล้ว ยังมีสายสร้อยลูกปัดสีต่าง ๆ ผูกติดที่บังลม คงจะต้องการให้สวยงามนั่นเอง แต่เดิมจะใช้ลูกปัดโบราณทั้งสิ้น
ปี่ฮ้อมีหลายเสียง เสียงเล็กแหลมเรียกว่า “เสียงยิ่ว” เสียงกลางเรียก “เสียงด้วง” หรือ “เสียงจี้” ส่วนเสียงใหญ่ทุ้มเรียก “เสียงใหญ่” |
|
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,67 |
๒. กลองทนหรือกลองโทน ในตำนานกาหลอเรียกว่ากลองสวรรค์ ผู้ประดิษฐ์คือพระรัตนตรัย ประดิษฐ์ขึ้นคราวแห่เศียรมหาพรหม พระยายมเป็นผู้ประโคมเป็นครั้งแรก
กลองทนเป็นกลอง ๒ หน้า หน้ากลองด้านโตมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘-๙ นิ้ว หน้า
กลองด้านเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗-๘ นิ้ว ตัวกลองมักทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบาหน้าโตของกลองหุ้มด้วยหนังวัว ส่วนหน้าเล็กหุ้มด้วยหนังค่าง มีเชือกหวายร้อยโยงเพื่อให้หน้ากลองตึงอย่างหยาบ ๆ กลองทนใบโตซึ่งมักจะมีเสียงทุ้ม เรียกว่า “แม่ทน” ส่วนใบเล็กซึ่งเล็กกว่าใบโตเพียงเล็กน้อยเรียกว่า “ลูกทน”
๓.ไม้ตีกลองทน แต่เดิมนั้นตีกลองทนด้วยมือเปล่า เพิ่มมีไม้ตีในระยะหลังนี้เอง เชื่อกัน
ว่าพระธรรมเป็นผู้ทำไม้ตีด้วยไม้กรูดผีให้เป็นครั้งแรก แต่มาในระยะหลังไม้ตีส่วนใหญ่ทำจากเขาควายเพราะสวยงามกว่า และมักทำเป็นรูปตัววี V โดยใช้ส่วนโค้งของตัววีเป็นส่วนตี
๔. ฆ้อง ในตำนานกาหลอเรียกว่าฆ้องสวรรค์ พระพุทธกัสสปเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นใช้คราวแห่เศียรมหาพรหม พระภูมิเป็นผู้บรรเลงในคราวนั้นเป็นครั้งแรก แต่เดิมกาหลอใช้ฆ้องบรรเลง ๒ ใบ ใบหนึ่งเป็นของคณะกาหลอ อีกใบหนึ่งเจ้าของบ้านที่ให้กาหลอไปบรรเลงเป็นผู้จัดหา แต่เดิมฆ้องของกาหลอแต่ละใบมีขนาดโตมาก เมื่อไปบรรเลงที่ใดจะต้องใช้คนหาม ปัจจุบันนี้ใช้เพียงใบเดียว และเป็นฆ้องขนาดเล็ก
|
|
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,67 |
|
|