สำหรับวิธีบรรเลงและขนบนิยมในการแสดงนั้น  จะแยกกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังนี้
    ๑. การรับกาหลอไปประโคม
    ๒. การปลูกสร้างโรงกาหลอ
    ๓. เครื่องประกอบพิธี
    ๔. ผู้เล่นและขนบนิยมก่อนการประโคม
    ๕.การประโคมกาหลอคุมศพและนำศพ
          ๑. การรับกาหลอไปประโคม  ในปัจจุบันกาหลอจะไปประโคมเฉพาะในงานศพเท่านั้น
การประโคมในงานศพจะมี  ๒  ลักษณะคือ
                       ๑.๑  การประโคมนำศพ  กาหลอจะประโคมเฉพาะตอแห่นำศพไปเผาที่วัดหรือป่าช้า  และประโคมขณะที่เผาศพจนเสร็จพิธีเผาเท่านั้น
                      ๑.๒  การประโคมคุมศพ  หมายถึงการประโคมคุมศพที่บ้านของผู้ตายประโคมนำศพและประโคมขณะที่เผาศพจนเสร็จพิธีเผา
                การรับกาหลอไปบรรเลงนั้น  เจ้าภาพจะต้องเตรียมหมาก  ๑  คำ  หรือ  ๓  คำไปยังบ้านของผู้เป่าปี่กาหลอ  ถ้ากาหลอรับจะไปประโคมก็จะรับหมากจากผู้ไปบอก  และนำหมากขึ้นไปตั้งบนหิ้งครูหมอกาหลอ  เป็นการบูชาครูและบอกกล่าวให้ทราบ  หลังจากนั้นก็จะต้องนัดวันที่ไปประโคมที่แน่นอน  และเจ้าภาพจะต้องเตรียมเงินค่าเบิกปากปี่  ๓  บาท  ค่าขึ้นครู  ๙  บาท  และค่าราดขวัญข้าวตามแต่จะตกลงกัน  เพื่อมอบให้แก่คณะกาหลอในวันที่เดินทางไปถึงบ้านที่กาหลอไปประโคม
          ๒. การปลูกสร้างโรงกาหลอ  เมื่อว่าจ้างกาหลอมาประโคมแล้ว  เจ้าภาพต้องสร้างโรงพิธีให้กาหลอเข้าพักและประโคม  โรงกาหลอเรียกว่า  “โรงฆ้อง”  โรงฆ้องที่สร้างจะต้องให้ส่วนยาวของโรงพุ่งจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเสมอ  จะปลูกขวางตะวันไม่ได้ขนาดของโรงกว้าง  ๕  ศอก  ยาว  ๗  ศอก  หลังคาเป็นรูปหน้าจั่ว  หันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับศีรษะของศพ  จะต้องไม่สร้างรอดใต้ขื่อ  หลังคามุงด้วยจากหรือแชง  (๑๐)  ฝาโรงใช้จากหรือใบมะพร้าวกั้นก็ได้  พื้นโรงสูงประมาณ  ๑  ฟุต
          ๓. เครื่องประกอบพิธี  เครื่องประกอบพิธีซึ่งกาหลอจะต้องใช้และจะขาดไม่ได้มีดังนี้

๓.๑  เสื่อปูโรงพิธี  ใช้ปูเพื่อให้ผู้ประโคมกาหลอนั่ง  และส่วนหนึ่งจะใช้หมอนว่างทับ
และมีผ้าขาวปูทับหมอน  เพื่อได้เป็น  “ที่ครู”  เมื่อคณะกาหลอทำพิธีเข้าโรงแล้วจะต้องวางปี่ฮ้อพิงหมอนตรงที่ครู  โดยให้หางปี่ตั้งขึ้น
๓.๒  ที่  ๑๒  หมายถึงถาดใส่อาหาร  ๑๒  อย่าง  บางคนเรียกว่า  “ข้าวสิบสอง”  เพราะในถาดอาหารนั้นจะมีถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่อาหาร  ๑๒  ใบ  อาหารมีทั้งคาวและหวานที่  ๑๒  จะต้องจัด  ๒  ครั้ง  คือตอนเข้าโรงและลาโรง
๓.๓  ไก่ต้ม  ๑  ตัว  และมะพร้าวอ่อน  ๑  ลูก
๓.๔   แป้งจันทน์  น้ำมันหอม
๓.๕   พานใส่ดอกไม้  ธูป  เทียน  ๓  เล่ม  หมาก  ๙  คำ  ด้ายขาว  ๑  ริ้ว  และเงินเบิกปากปี่  ๓  บาท
๓.๖   เหล้าขาว  ๑  ขวด
๓.๗  ผ้าขาวขึงเพดาน  เพื่อขึงเพดานตรงกับที่ครู  ในผ้าขาวขึงเพดานใส่หมาก  ๙  คำพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน
                ๔.  ผู้เล่นและขนบนิยมก่อนการประโคม  ผู้เล่น  ผู้เล่นกาหลอซึ่งจะเข้าประโคมในโรงพิธีนั้นมี  ๔  คน  เป็นคนเป่าปี่  ๑  คน  ผู้ตีกลองทน  ๒  คน  และผู้ตีฆ้องอีก  ๑  คน
                เมื่อถึงเวลาที่จะไปประโคมกาหลอ  คณะกาหลอจะหยิบเครื่องดนตรีลงจากเรือนไปทันที  โครจะเจ็บไข้หรือเกิดอะไรขึ้น  จะหลับไปจับต้องดูแลไม่ได้  ก่อนออกจากเขตบ้านจะต้องทำพิธี  “กันเรือน”  และ  “กันตัว”  โดยเดินเวียนขวารอบบ้าน  ๓  รอบ  พร้อมกับ  พร้อมกับบริกรรมคาถาป้องกันเสนียดจัญไรไปด้วย  และจะต้องตรวจดูว่ามีกิ่งไม้ใบไม้พาดหลังคาบ้านอยู่หรือไม่  ถ้ามีจะต้องดึงหรือฟันออกให้หมด  ต่อจากนั้นกาหลอจะออกเดินทางไปยังบ้านเจ้าภาพโดยไม่แวะเวียนที่ใด
                พอถึงบ้านเจ้าภาพก็ต้องตรวจดูโรงที่ปลูกสร้างว่าเรียบร้อยหรือไม่  ถ้าไม่ถูกต้องกาหลอจะไม่ยอมเข้าโรง  จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง  และเจ้าภาพจะต้องเตรียมเครื่องบูชาครูให้แก่คณะกาหลอ  เมื่อถึงเวลา  “นกชุมรัง”  คือเวลาที่พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า  และนกกำลังบินกลับรัง  คณะกาหลอทำพิธีเข้าโรง  โดยบริกรรมคาถา  “กันโรง”  และ  “กันตัว”  มีการประพรมน้ำมนต์ที่บ้านเจ้าภาพโรงพิธีและคณะกาหลอทุกคน  เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ  และเสนียดจัญไรทั้งปวง
                ต่อจากนั้นหัวหน้าคณะกาหลอ  (ผู้เป่าปี่)  ก็หยิบหมาก  ๑  คำ  เทียน  ๑  เล่มและให้นำปี่ฮ้อ  กลองทน  ฆ้องมาตั้งรวมกันกลางดินหน้าโรงพิธี  และนั่งยอง ๆ  ทำพิธีรำลึกถึงบริถิวกรุงพาลี  พระภูมิเจ้าที่นางธรณี  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพื่อขอที่ตั้งโรงพิธีและอย่าให้มีอันตรายใด ๆ บังเกิดแก่เจ้าของบ้าน
                เมื่อทำพิธีขอที่ตั้งโรงเสร็จแล้ว  หัวหน้าคณะกาหลอจะลุกขึ้นยืน  ยื่นมือเข้าไปทาบที่ประตูโรงพร้อมกับบริกรรมคาถาป้องกันและปิดโรงเพื่อป้องกันเสนียดจัญไรอีกครั้งหนึ่ง  ต่อจากนั้นหัวหน้าคณะกาหลอก็จะกลิ้งฆ้องเข้าโรงพิธี  แล้วก็ออกไปกลิ้งทนและถือปี่เข้าโรงฆ้องโดยมีผู้ตีทน  และผู้ตีฆ้องเดินตามเข้าไปด้วย  หัวหน้าวงกาหลอจะตั้งปี่ไว้บน  “ที่ครู”
                เมื่อคณะกาหลอเข้าโรงแล้ว  หัวหน้าวงกาหลอจะเรียกเอาเครื่องประกอบพิธีทุกอย่างที่ให้เจ้าภาพจัดเตรียมไว้  และเริ่มทำพิธีไหว้ครูโดยตั้งนโม  3  จบ  และทำพิธีชุมนุมเทวดา  อัญเชิญครูกาหลอ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ต่อจากนั้นจะสรรเสริญคุณบิดามารดา  ครูอาจารย์  พระรัตนตรัย  และถวายของเซ่นครูหมอกาหลอ
                ขั้นต่อไปหัวหน้าวงกาหลอจะเริ่มทำพิธี  “เบิกปากปี่”  โดยนำปี่ฮ้อมาหงายด้านปากปี่ขึ้นใช้เหล้าเทลงในปากปี่  ใช้เทียนไข  ๑  เล่มจุดไฟ  หมาก  ๑  คำ  เงิน  ๓  บาท  ตั้งประกอบพิธีพร้อมกับบริกรรมคาถาไปด้วย  เมื่อบริกรรมคาถาจบลงหัวหน้าคณะวงกาหลอจะตั้งปี่บน  “ที่ครู”  ให้ปากปี่หันเข้ามาหาตัว  แล้วหยิบแม่ทนซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายมือมาเขียนยันต์ที่หน้าทนด้านโต  พร้อมกับบริกรรมคาถาประกอบไปด้วย  ขณะบริกรรมคาถาใช้มือลูบหน้ากลองทน  ใช้ไม้ตีกลองที่เป็นแม่ทน  ๓  ครั้ง  เรียกว่า  “ตีกลองหวัน”  หรือตีกลองสวรรค์นั่นเอง  พร้อม ๆ กันนั้นผู้ประโคมดนตรีคนอื่น ๆ ก็ลั่นฆ้องและตีทนอีกใบหนึ่งคนละ  ๓  ครั้งด้วย  การลั่นฆ้องตีทนในตอนนี้ก็เพื่อให้เทวดารับรู้ว่าจะเริ่มพิธี  “คุมศพ”  แล้วต่อจากนั้นก็เป็นการประโคมดนตรีกาหลอเพื่อคุมศพ
เมื่อคณะกาหลอเข้าไปอยู่ในโรงพิธีแล้ว  จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้  จนถึงเวลาเลยเที่ยง
วันของวันรุ่งขึ้นจะออกมาได้  อาหารการกินจะต้องไปปะปนกับใคร  จะรับของจากมือของผู้หญิงไม่ได้อย่างเด็ดขาด  และจะชักชวนให้ใครเข้าไปนั่งในโรงพิธีไม่ได้เพราะถือว่าเป็นการสำเสนียดจัญไรเข้าโรงพิธี
                ๕.  การประโคมกาหลอคุมศพและนำศพ   การประโคมกาหลอเริ่มอย่างจริงจังหลังจากที่ตี  ”กลองหวัน”  แล้วนั่นเอง  เพลงแรกที่กาหลอประโคมคือคาถาป้องกันอันตราย  ต่อจากนั้นก็ประโคมเพลงไหว้พระเพลงลาพระ
                เมื่อประโคมเพลงลาพระจบลงแล้ว  หัวหน้าคณะกาหลอจะบริกรรมคาถาส่งลมปี่  ๓  จบ  เพื่อให้ผู้ฟังหลงใหล  ต่อจากนั้นกาหลอก็ประโคมเพลงต่อไปอีกโดยเลือกเพลงจากเพลงแม่บท  ๑๒  เพลง  หรือเพลงอื่น ๆ  ก็ได้  เพลงที่มาประโคมนั้นจะต้องคำนึงถึงขนบนิยมในการประโคมด้วย  เช่น  นิยมประโคมเพลงทอมท่อมในตอนดึก  เพลงทองศรีในตอนใกล้รุ่งและเพลงแสงแก้วแสงทองขณะที่พระอาทิตย์ฉายแสงขึ้นมา  เป็นต้น
                ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นคณะกาหลอจะยังคงประโคมไปตามปกติ  อาจจะพักผ่อนเพื่อกินหมากกินพลูหรือรับประทานอาหารบ้าง  และจะประโคมต่อไปจนกระทั่งถึงวันเผาศพ
                เมื่อถึงวันกำหนดเผาศพ  ในตอนเช้าเจ้าภาพจะถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์เมื่อพระฉันอาหารเสร็จกาหลอจะบรรเลงเพลงนกเปล้า  นอกจากนี้เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งใช้  ”เบิกทาง”  และจะต้องนิมนต์พระ  ๑  รูปเพื่อเดินนำศพด้วย
                ครั้นใกล้จะถึงเวลาบ่ายโรงตรงซึ่งจะทำพิธียกศพ  คณะกาหลอจะทำพิธีออกจากโรงหรือลาโรงหัวหน้าคณะกาหลอจะบริกรรมคาถา  “กันตัว”  และ  “กันโรง”  และใช้มีดตัดด้ายซึ่งผูกมุมผ้าขาวคาดเพดาน  ๑-๒  มุม  จนผ้าขาวห้อยลงมา  ต่อมาก็เลิกเสื่อหาทางออกจากโรง  จะเดินออกจากโรงตรงกับทิศหลาวเหล็กไม่ได้อย่างเด็ดขาด  บางครั้งอาจจะต้องออกทางข้างโรงหรือหลังโรง  ก่อนเดินออกหัวหน้าคณะกาหลอจะต้องเป่าปี่ลงโรง  และใช้มีดตัดจาก  ๓  ตับ  (ถ้าหลังคาเป็นใบเตยก็ตัดใบเตย)  แล้วผลักจากให้หลังคาเป็นช่องโหว่ขณะตัดและผลักจากที่มุงหลังคาตนเองบริกรรมคาถา  เพื่อให้มิมิตว่าทลายโรงพิธี  ขณะเดินออกจากโรงหัวหน้าคณะกาหลอต้องเดินนำและกลิ้งกลองทนออกมา  พร้อมกับริกรรมคาถาไปด้วย  เมื่อก้าวออกจากโรงพิธีหัวหน้าวงจะก้าวเท้าเดินเลี่ยงเป็นมุม  ๔๕  องศา  จะเลี่ยงไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้  และผู้ประโคมดนตรีจะต้องเดินตามไปทางเดียวกันหมด
                เมื่อออกมาจากโรงพิธีแล้ว  หัวหน้าคณะกาหลอจะต้องนำปี่มาวางบนพื้นดินตรงหน้าโรงพิธีพร้อมด้วยหมาก  ๑  คำ  และเทียน  ๑  เล่ม  แล้วออกชื่อบริถิวกรุงพาลี  พระภูมิเจ้าที่  ว่าจะนำศพไปวัดขออย่าให้มีอันตรายใด ๆ และขอเลิกถอนสิ่งต่าง ๆ  ที่ทำพิธีไว้ตอนเข้าโรงทั้งหมด  หลังจากนั้นคณะกาหลอจะต้องเข้าไปสำรวจดูการคาดคานหามที่โลงศพว่าถูกต้องหรือไม่  ถ้าไม่ถูกต้องกาหลอจะไม่ยอมนำศพไปอย่างเด็ดขาด  จนกว่าเจ้าภาพจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
                การนำศพจะเริ่มด้วยพระภิกษุกรวดน้ำอุทิศให้แก่ผู้ตาย  และทำพิธีเบิกทาง  หลังจากนั้นกาหลอจะบอกให้ยกศพ  คนหามก็จะยกศพขึ้นพร้อมกัยนกาหลอจะบริกรรมคาถาป้องกันอันตรายทั้งปวง  และบริกรรมคาถาบังคับให้ผีไปตามทางไม่แวะเวียนอยู่ที่ใด  เมื่อเริ่มออกเดินคณะกาหลอจะประโคมเพลง  “เหยี่ยวเล่นลม”  เพื่อสวดอ้อนวอนให้พระพายผู้เป็นเทพเจ้าแห่งลมมารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์  และประโคมเพลง  “ทอมท่อม”  เพื่ออ้อนวอนขอให้พระชัยเสนมารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปสวรรค์ด้วย  พอเข้าเขตป่าช้าคณะกาหลอจะประโคมเพลง  “ยั่วยาน”  เพื่อขอถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาช่วยคุ้มครองและแนะนำหนทางที่จะไปสวรรค์ให้  เมื่อเพลง  “ยั่วยาน”  จบลง  กาหลอจะต้องบริกรรมคาถาทักป่าช้า  เสร็จแล้วจะบรรเลงเพลง  “สุริยน”  เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร  และภูตผีปีศาจทั้งปวงต่อจากนั้นหัวหน้าวงกาหลอจะก้าวเท้าซ้ายเข้าป่าช้า  พร้อมบริกรรมคาถาป้องกันอันตรายให้แก่ทุกคนที่ร่วมขบวนเข้ามาด้วย
                เมื่อนำศพเข้าไปถึงเชิงตะกอน  กาหลอจะนำไม้มาวางเรียงขนานกัน  ๓  ท่อน  เรียกว่า  “ทอดเชิงตะกอน”  ผู้หามศพจะหามศพเวียนซ้ายรอบเชิงตะกอน  ๓  รอบ  และวางศพบนเชิงตะกอน  กาหลอก็จะนั่งลงประโคมศพต่อไป  ก่อนจะนั่งจะต้องรูดใบไม้พร้อมกับบริกรรมคาถา  และโปรยใบไม้ลงบนพื้นดินแล้วจึงนั่งทับลงไป  การประโคมของกาหลอในตอนนี้ใช้เพลง  “ทองศรี”  เพื่ออ้อนวอนพระกาฬให้มารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์  และประโคมเพลง  “พลายแก้วพลายทอง”  เพลง  “นกเปล้า”  หลังจากที่พระบังสุกุลเสร็จแล้ว
                ขณะที่เผาศพ  คณะกาหลอจะบรรเลงเพลง  “สุริยน”  เพื่อกระทุ้งเพดานฟ้าที่ครอบเมรุเปิดทางให้วิญญาณขึ้นสู่สวรรค์  เมื่อไฟลุกมากขึ้นก็ประโคมเพลง  “พระพาย”  เพื่ออ้อนวอนให้พระพายนำดวงวิญญาณไปสู่สวรรค์  และเมื่อไฟลุกท่วมโลงก็ประโคมเพลง  “หัดบดฝ้าย”
                เมื่อศพที่เผากลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้วคณะกาหลอก็เตรียมตัวกลับบ้าน  แต่ก่อนจะกลับต้องประโคมเพลงไหว้พระ  เพลงลาพระ  และเพลงอื่น ๆ อีกตามแต่กาหลอจะเลือกมาประโคม  แต่ต้องจบลงด้วยเพลง  “สัมสาม”  เพื่อขจัดอันตรายทั้งปวง
                เมื่อเพลง  “สัมสาม”  จบลง  หัวหน้าคณะกาหลอจะนำปี่ไปใส่ในฆ้อง  นำน้ำมนต์  หมาก  ๑  คำ  เทียน  ๑  เล่ม  เงิน  ๓  บาท  และข้าวบอก (๑๑)     ใส่ลงไปด้วยต่อจากนั้นหัวหน้าคณะกาหลอจะเป็นผู้นำเครื่องเซ่นดังกล่าวเซ่นผีเจ้าป่าช้า  ยายกาลี  ตากาลา  ฝากฝังผีผู้ตายว่าอย่ารบกวน  อย่าเฆียนตี  และหย่าหน่วงเหนี่ยวเอาไว้  ปล่อยให้เขาไปเถิดเมื่อถึงเวลา  เมื่อทำพิธีเซ่นเจ้าป่าช้าเสร็จแล้วเจ้าภาพและญาติพี่น้องของผู้ตายจะนำเอาน้ำมนต์จากในฆ้องซึ่งตั้งอยู่ประพรมบนศีรษะ  เพื่อมิให้ได้ยินเสียงปี่  เสียงฆ้องและกลองทนอีกต่อไป  หลังจากนั้นหัวหน้าคณะกาหลอจะบริกรรมคาถาและคว่ำฆ้อง  และเดินทางกลับบ้านพอ ก้าวขาออกจากป่าช้าจะต้องหักกิ่งไม้มาขวางทาง  และบริกรรมคาถาป้องกันมิให้ผีตามออกมาจากป่าช้า
                การเดินทางกลับบ้านของคณะกาหลอ  จะต้องเดินย้อนกลับตามทางเดิมที่แห่ศพมาจนพ้นเขตวัดจึงตัดลัดไปทางอื่นได้  (๑๒)     เมื่อกลับถึงบ้านจะต้องบริกรรมคาถา  “กันเรือน”  และคาถา  ”กันตัว”  เช่นเดียวกันกับที่ออกจากบ้าน  หลังจากนั้นภรรยาและลูกจะนำน้ำสะอาดมา  ๑  ขัน  จะไม่พูดจาต่อกันแต่อย่างใด  ภรรยาและลูกจะต้องช่วยกันล้างเท้าของกาหลอจนสะอาดเมื่อล้างเท้าเสร็จกาหลอก็จะพูดกับใครต่อใครได้  ต่อจากนั้นก็จูงมือภรรยาและลูกขึ้นบ้าน  ตั้งทนและฆ้องไว้ในที่เดิม  ส่วนปี่ตั้งไว้บนหิ้ง
  “ที่ครู”  พร้อมกับตั้งหมาก  ๑  คำไว้ด้วย  อัญเชิญครูกาหลอให้กินหมากกินพลู  แล้วก็เข้านอน  (๑๓)
________________________________
(๑๐)  ใช้ใบเตยเย็บเป็นผืน ๆ มีขนาดกว้างยาวตามแต่ต้องการ  ชาวชนบทในภาคใต้นิยมใช้มุงหลังคาขนำหรือ
ร้านเล็ก ๆ ในสวน

(๑๑)  เป็นข้าวซึ่งลูกคนโตหรือคนสุดท้ายของผู้ตายเป็นผู้หุง  วิธีหุงเอาข้าวใส่
กระป๋องใส่น้ำตั้งไว้บนเตาไฟโดยไม่สนใจ  เมื่อสุกจึงนำไปห่อด้วยหางใบตองรวมกับปลามีหัวมีหาง
(๑๒) วิเชียร  ณ นคร  และคนอื่น ๆ  นครศรีธรรมราช  หน้า  ๓๒๑.
(๑๓)  พร้อม  สวัสดิพันธ์  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ บ้านเลขที่ ๑๐๐ หมู่ที่  ๕  ตำบลวังหิน  อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๔  พฤศจิกายน  ๒๕๒๒.       

 
PREVIOUS