ประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกาหลอ
                ประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกาหลอมีอยู่หลายประการดังต่อไปนี้
               ๑. ประเพณีการแต่งกาย  คณะกาหลอซึ่งประกอบด้วยผู้ประโคมดนตรี  ๔  คน คือ  ผู้เป่าปี่  ๑  คน  ตีทน  ๒  คน  และลั่นฆ้องอีก  ๑  คน  นั้น  จะมีอยู่คนหนึ่งที่แต่งกายผิดแปลกไปจากคนอื่น ๆ  คือ  ผู้เป่าปี่หรือหัวหน้าคณะกาหลอนั่นเอง  เมื่อไปประโคมกาหลอ  ณ  ที่ใดหัวหน้าคณะกาหลอจะแต่งกายอย่างง่าย ๆ คือ  นุ่งผ้าขาวสีเรียบ ๆ  โจงกระเบนมีผ้าขาวม้าคาดพุงส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อแบบใดก็ได้  เสื้อจะต้องเป็นสีขาว  ส่วนผู้เล่นกาหลอคนอื่น ๆ มักจะแต่งกายตามสบาย  ประเพณีกายแต่งกายของกาหลอแม้จะเคร่งครัดแต่ก็เรียบง่ายมาก

                ๒. ประเพณีงานศพ  งานศพเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกาหลอมากกว่างานอื่น ๆ  แต่เดิมงานศพแทบทุกงานจะต้องมีกาหลอไปประโคม (๑๘)    หรือคุมศพ  และนำศพ  ผู้เป่าปี่กาหลอจะเป็นผู้มีบทบาทในประเพณีนี้มาก  คือนอกจากจะบรรเลงเพลงต่าง ๆ เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ตายแล้ว  การปัดรังควานต่าง ๆ การบอกให้ยกศพ  ตอนที่แหศพออกจากบ้านการทอดเชิงตะกอนเพื่อตั้งศพ
และเผาศพ ฯลฯ  ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของกาหลอทั้งสิ้น  การประโคมกาหลอจึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับประเพณีงานศพอย่างแนบแน่น
                ๓.  ประเพณีบวชนาค   งานบวชนาคแต่เดิมนั้น  นอกจากจะมีมหรสพอย่างอื่น ๆ เช่น  หนังตะลุง  โนรา  เพลงบอกแล้ว  กาหลอก็เป็นเครื่องประโคมที่ขาดไม่ได้แต่กาหลอจะรับงานประโคมเฉพาะงานบวชนาค  ซึ่งเป็นนาคเก่า ๆ และบวชแล้วไม่สึก (๑๙)     เท่านั้น  กาหลอจะไปประโคมทั้งที่บ้านของเจ้าภาพและแห่นำนาคไปบวชที่วัด  แต่พิธีการต่าง ๆ  จะไม่เคร่งครัดเหมือนกับประเพณีงานศพ  เพราะว่างานบวชนาคเป็นงานที่เป็นมงคลนั่นเอง
                ๔.  ประเพณีงานขึ้นเบญจาเพื่อรดน้ำคนเฒ่าคนแก่   การขึ้นเบญจาเพื่อรดน้ำคนเฒ่าคนแก่  ถือกันว่าเป็นงานมงคลที่จะมีผลดีบังเกิด  ทั้งผู้ได้รับการรดน้ำและผู้รับน้ำเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพ  เทิดทูนและรำลึกในพระคุณของคนเฒ่าคนแก่  และแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณด้วย  แต่เดิมนั้นกาหลอจะไปประโคมอยู่จนตลอดงาน  และโดยเฉพาะตอนที่คนเฒ่าคนแก่ขึ้นเบญจาและกำลังทำพิธีรดน้ำอยู่นั้น  การประโคมกาหลอจะมีความไพเราะมาก  ในงานนี้พิธีการต่าง ๆ ที่กาหลอปฏิบัติจะไม่เคร่งครัดเหมือนประเพณีงานศพ  (๒๐)
___________________________
      (๑๘)  ขุนอาเทศคดี  (กลอน  มัลลาะมาส)  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ  บ้านแลขที่  ๒๐๓  ตำบลท่าชี  อำเภอเมือง  จัวหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๑๑  ธันวาคม  ๒๔๑๙.
     (๑๙) จันทร์  สมบัติ  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ วิทยาลัยครูศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๒๒.
     (๒๐)   เกลิ่ม  คงแสง  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๖  พฤศจิกายน  ๒๕๒๒.

         


ยายแดง คงหวัง
หลานคนหนึ่งของนายกลั่น ที่ศรัทธาในครูหมอปี่ แต่ในชีวิต ไม่เคยแตะปี่ เพราะกาหลอ
                                              เป็นดนตรี ที่ห้ามผู้หญิงบรรเลง สมุดไทยโบราณ กับไม้ตีทนที่ถืออยู่ เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของปู่ ที่ยังได้รับการเก็บรักษา
ไว้อย่างดี
ที่มา : กาหลอ มโหรีส่งวิญญาณ http://www.sarakadee.com/feature/2003/08/kalo.htm

บทสรุป
                ความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของกาหลอนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนย่อยบางประการเท่านั้น  แก่นหรือเนื้อหาที่สำคัญ ๆ จริง ๆ  ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก  เช่น  พิธีการเข้าโรง  การออกโรง  (ลาโรง)  หรือพิธีนำศพ และไสยศาสตร์บางประการผู้บรรเลงกาหลอส่วนใหญ่ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อขนบประเพณีเดิมอย่างเคร่งครัด  กาหลอจึงยังเป็นการประโคมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้
                ในปัจจุบัน  การประโคมกาหลอยังพอมีบรรเลงในงานศพอยู่บ้าง  โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทที่ไกล ๆ ออกไป  แต่ก็มีเหลืออยู่น้อยมาก  ถ้าเปรียบเทียบกันเมื่อ  ๓๐-๔๐  ปีมาแล้ว  ทั้งนี้เพราะว่าการประโคมกาหลอมีแนวปฏิบัติหรือขนบประเพณีที่เคร่งครัดรัดกุมมากอย่างหนึ่ง  และเพราะคนปัจจุบันนิยมในสิ่งใหม่ ๆ  อีกประการหนึ่ง  จึงทำให้กาหลออาจจะสูญหายไปอย่างแน่นอน  หากไม่ช่วยกันบำรุงส่งเสริมไว้ให้ทันกาล

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
  เอกสารอ้างอิง
ชวน  เพชรแก้ว. 2523. ชีวิตไทยปักษ์ใต้ ชุดที่ 3. กรุงเทพฯ: กรุงสยาม.
ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้.  2547. 
กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 
ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์.  2548.  ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ : ว่าด้วยภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน.
กรุงเทพฯ : สิวีริยาศาส์น
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง กาหลอ มโหรีส่งวิญญาณ  http://www.sarakadee.com/feature/2003/08/kalo.htm ( เข้าถึง 20 ตุลาคม 2551)

PREVIOUS