การถวายผ้าพระกฐิน  ณ พระอารามหลวง  ซึ่งเรียกกันว่าพระกฐินหลวงนั้น   เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก  แต่โดยเหตุที่พระอารามหลวงในราชอาณาจักรนี้มีอยู่ถึง  189  พระอาราม  ไม่สามารถจะเสด็จพระราชดำเนินทุกพระอารามได้  จึงต้องมีการแบ่งประเภทพระกฐินออกไปเป็น 4 ประเภท ดังนี้
                1.  พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง
                พระกฐินประเภทนี้  สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการกำหนดว่าวันใดเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินพระอารามใด  และกำหนดการแต่งกายให้แต่งเต็มยศ  สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใดด้วย
                2.  พระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้  สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ  สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์   พระกฐินประเภทนี้เหมือนพระกฐินเสด็จพระราชดำเนิน  คือสำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการรวมอยู่ในหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน  การแต่งกายก็แต่งเต็มยศเช่นพระกฐินเสด็จพระราชดำเนิน
                3.  พระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือราชสกุล  หรือองคมนตรี  หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร  เสด็จไปทอด
                พระกฐินประเภทนี้สำนักพระราชวังออกเป็นหมายรับสั่ง  การแต่งกายแต่งเครื่องแบบปรกติ
                4.  พระกฐินพระราชทาน
                พระกฐินประเภทนี้  ผ้าองค์กฐิน  บริขารบริวารกฐิน  เป็นของหลวงเหมือนกัน  แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ 
องค์การ  หรือบุคคลที่สมควรขอรับพระราชทานเชิญไปทอด  ณ พระอารามหลวงพระอารามใดพระอารามหนึ่ง ยกเว้นพระอารามสำคัญ  16  พระอาราม  ทั้งนี้ท่านผู้ขอพระราชทานจะต้องยื่นคำขอทางกรมการศาสนา  และเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะเชิญผ้าพระกฐินไปทอดได้
                พระอารามหลวงสำคัญ  16  พระอาราม  ที่สงวนไว้ไม่ให้ขอพระราชทานมีดังนี้
                1.  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
                2.  วัดอรุณราชวราราม
                3.  วัดราชโอรสาราม
                4.  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

                5.  วัดเบญจมบพิธดุสิตวนาราม
                6.  วัดบวรนิเวศวิหาร
                7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
                8. วัดสุทัศนเทพวราราม
                9.  วัดราชาธิวาสวิหาร
                10.  วัดมกุฎกษัตริยาราม
                11.  วัดเทพศิรินทราวาส
                12.  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
                13.  วัดพระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
                14.  วัดนิเวศธรรมประวัติ  บางปะดิน  พระนครศรีอยุธยา
                15.  วัดสุวรรณดาราราม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                16.  วัดพระศรีมหาธาตุ  จังหวัดพิษณุโลก

 

   ทั้งนี้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองบ้าง  พระราชทานสมเด็จพระอัครมเหสี  สมเด็จพระราชโอรสราชธิดา 
ให้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์บ้าง  กับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์  คณะองคมนตรีและบุคคลที่ทรงพระราชดำร
ิเห็นสมควรบ้าง  แต่ในบางปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ก็อาจเสด็จพระราชดำเนิน  หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ม
ีผู้แทนพระองค์ไปถวายผ้ากฐิน  ณ พระอารามหลวงอื่นนอกเหนือจากที่สงวนไว้  16  พระอารามก็ได้
                ในจำนวนพระอารามหลวงสำคัญ  16  พระอารามนี้  มีพระอารามที่ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ  จึงเสด็จพระราช
ดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำทุกปีคือ
                1.  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
                วัดนี้เป็นวัดเก่าแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีนามว่าวัดโพธาราม  ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้ว  ก็ได้ทรงสถาปนาวัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งหมด
  พระราชทานนามว่า  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  จัดว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองและคู่พระบรมมหาราชวัง  ทั้งยังมีพระมหาเจดีย์
เป็นพระบรมราชานุสรณ์ประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 1  ที่  2  ที่  3  และที่  4  ด้วย
                2.  วัดอรุณราชวราราม
                วัดนี้เป็นวัดเก่าสร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน  เดิมเรียกวาวัดมะกอก  กล่าวกันว่าเมื่อครั้งสมเด็จ
พระเจ้ากรุงธนบุรี  เสด็จขึ้นไปถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และทรงพระราชดำริที่จะสร้าง
กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็น ราชธานีดังเดิมนั้น  ได้ทรงพระสุบินว่า  พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนท่านมาขับไล่ 
จึงเลิกล้มความทั้งพระทัย   เสด็จล่องเรือลงมาทางใต้  ถึงวัดมะกอกในตอนรุ่งสว่างพอดี  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้หยุดเรือ  แล้วตั้งราชธานี  ณ กรุงธนบุรีต่อมา  จากนั้นวัดนี้จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า  “วัดแจ้ง”  เป็นนิมิตหมายสำคัญ
ในการตั้งราชธานีใหม่  หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกเผาวอดวายไปแล้ว  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  2  ได้ทรงสถาปนาพระอุโบสถขึ้นใหม่  และได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า  “วัดอรุณราชวราราม” 
ต่อมาในรัชกาลที่ 3  ได้ทรงสถาปนาพระปรางค์ขึ้น  เป็นพระปรางค์ที่วิจิตรงดงามเป็นสง่าราศีแก่ประเทศชาติตราบเท่าทุกวันนี้
                3.  วัดบวรนิเวศวิหาร
                วัดนี้สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ทรงสถาปนา  และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบูรณะ 
แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ามกุฎ
และทรงพระผนวชอยู่  ย้ายจากวัดสมอรายมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่  ณ วัดนี้  นอกจากนั้นวัดนี้ยังเป็นที่สถิตของพระราชอุปัธยาจารย
์  และเป็นที่ประทับระหว่างทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล
                4.  วัดสุทัศนเทพวราราม
                เป็นวัดที่สถาปนาขึ้นในรัชการที่ 1  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  แต่การยังค้างอยู่  รัชกาลที่ 3  จึงได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
ทั้งวัดที่ฐานพระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงของวัดนี้ป็นที่บรรจุพระบรมราชสริรางคารในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร
มหาอานันทมหิดลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงสืบพระราชสันตติวงศ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระองค์นั้น  จึงทรงระลึกในพระมหากรุณาธิคุณและทรงยกย่องเชิดชูพระเกียรติเป็นพิเศษ  ในเทศกาลถวายพระกฐินจึงเสร็จ ฯ 
ด้วยพระองค์เองทุกปี
                5.  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
                วัดนี้เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา  ปัจจุบันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปรินายก  วัดใดก็ตามที่สมเด็จพระสังฆราชสถิต  จะเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถวายผ้าพระกฐิน
เป็นประจำทุกปี
                ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นว่า  การทอดกฐินแต่ก่อนนั้น  เป็นประเพณีใหญ่และเอิกเกริกมโหฬาร  ถ้าเป็นกฐินราษฎร์ 
ก็มีการแห่แหนองค์กฐินกันเป็นการครึกครื้นมาก  ส่วนพระกฐินหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
ในสมัยก่อน  คือในตอนต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์   ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนแห่ที่เรียกว่ากระบวนพยุหยาตรา 
ทั้งทางบกและทางน้ำบ้าง  และกระบวนราบบ้าง  คำว่ากระบวนราบนี้มิได้หมายถึงเสด็จแต่ทางบก  ทางเรือ  เมื่อเสด็จ
โดยเรือพระที่นั่งกราบโถง  แห่นำตามเสด็จด้วยเรือกราบ  ก็เรียกกระบวนราบเช่นเดียวกัน
                ในรัชกาลต่อ ๆ  มา  เมื่อมีราชพาหนะใดเกิดขึ้นสำหรับทรงใช้สอยประจำในราชการ  ก็เสด็จโดยราชพาหนะนั้น 
เช่นรถม้า  รถยนต์  และเรือยนต์  แต่การเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางบกและทางน้ำ  ก็ยังคงมีอยู่แทบทุกปี 
ในสมัยหลัง ๆ  นี้เท่านั้นที่ห่างไป  เพราะบ้านเมืองของเราประสบภาวะข้าวยากหมากแพงค่าครองชีพสูงขึ้น 
จึงทรงพระราชดำริว่า  ไม่เหมาะแก่ภาวะของบ้านเมืองที่จะให้การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 
เป็นไปโดยเอิกเกริกมโหฬารเช่นเดิม
                พระกฐินหลวงเสด็จพระราชดำเนินปี  2523  นี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน  3  วัน 
คือวันที่  30  ตุลาคม  วันที่ 1  และ  2  พฤศจิกายน
                ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้สมเด็จพระนางเจ้า ฯ  พระบรมราชินีนาถเสด็จแทนพระองค์ในวันที่  31  ตุลาคม 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ  สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  เสด็จแทนพระองค์ในวันที่ 3 - 4 - 5  พฤศจิกายน  ตามลำดับ
                พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในการถวายผ้าพระกฐิน  ณ พระอารามหลวง  มีดังนี้
                เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหน้าพระอุโบสถ  ทรงรับผ้าไตรและผ้าห่มพระประธานจากเจ้าพนักงานศุภรัต 
เชิญเข้าไปวางเหนือพานแว่นฟ้าหน้าอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ  แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธปฏิมากร
ทรงกราบ  ถ้าวัดนั้นมีพระบรมราชสริรางคารบรรจุที่ฐานพระพุทธปฏิมาประธานก็ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการด้วย 
จากนั้นทรงหยิบผ้าสำหรับห่มพระประธานพระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลาเพื่อถวายห่มองค์พระครั้นแล้วเจ้าหน้าที่
ี่กงศาสนูปถัมภ์กราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์จบแล้ว  ทรงหยิบผ้าไตรพาดพระกร  ประณมพระหัตถ์ ผันพระพักตร์
สู่พระประธาน  ทรงเจริญพระพุทธคุณบท  “นะโม  ตัสสะ”  3  จบ  แล้วทรงผินพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์  กล่าวคำถวาย
ผ้ากระกฐิน  แล้วทอดผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้าตามเดิม  จากนั้นทรงประเคนเทียนปาฏิโมกข์แด่พระองค์ที่  2  แล้วเสด็จ
ประทับพระราชอาสน์  พระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้พระราชวงศ์ถวายเครื่องบริขาร
พระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน  แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก  พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา  ถวายอดิเรก  เสร็จแล้วเสด็จ
ไปทรงกราบที่พระแท่นทรงกราบหน้าเครื่องนมัสการแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ
                สำหรับวัดบวรนิเวศวิหาร  มีพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวรเรศวริยาลงกรณ์  พระรูปสมเด็จ
พระมหาสมณเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวโรรส  และพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ประดิษฐานอยู่ 
ดังนั้นก่อนที่จะโปรดเกล้า ฯ  ให้พระราชวงศ์ถวายเครื่องบริขารพระกฐิน  จะเสด็จทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะ  และ
ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ด้วย

                ส่วนวัดสุทัศน์เทพวราราม  มีพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลประดิษฐานอยู่ 
เมื่อเสด็จลงจากพระวิหารภายหลังการถวายผ้าพระกฐินแล้ว  จึงเสด็จไปทรงจุดเครื่องทองน้อยถวายสักการอัฏฐม
ราชานุสรณ์ด้วย
                นอกจากพระอารามหลวงแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จพระราชดำเนินไปถวาย
ผ้าพระกฐิน  ณ อารามราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย  พระกฐินส่วนพระองค์นี้เรียกกันว่า  พระกฐินต้นวัดที่จะเสด็จ
พระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้นนั้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังนี้
                1.  เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
                2.  ประชาชนในท้องถิ่นมีความศรัทธาเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
                3.  ประชาชนในท้องถิ่นไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถวาย
ผ้าพระกฐิน  จะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดด้วย (เอกลักษณ์ของชาติ,คณะกรรมการ.2524, 90-98)
                      

 

PREVIOUS