เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
ในบรรดาภาษาถิ่นภาคใต้เป็นภาษาถิ่นที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมากที่สุดเพราะมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนที่สุด เช่นเดียวกับเพลงกล่อมลูกภาคใต้ที่มีทำนองและลีลาเด่นเป็นของตนเอง เพลงกล่อมลูกภาคใต้ มีชื่อเรียก 4 อย่าง คือ เพลงร้องเรือ เพลงชาน้อง หรือเพลงช้าน้อง เพลงเสภา และเพลงน้องนอน
ที่เรียกว่าเพลงร้องเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะลักษณะของเปลที่ใช้ผ้าผูกมีรูปร่างคล้ายเรือ เพลงชาน้องหรือช้าน้อง คำว่า ชา มาจาก คำว่าบูชา ซึ่งแปลว่าสดุดีหรือกล่อมขวัญ ชาน้องหรือช้าน้อง จึงหมายถึงการสดุดีแม่ซื้อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทวดาหรือผีประจำทารก เพลงเสภาเป็นเพลงที่ใช้โต้คารมกันเป็นบทปฏิพากย์แสดงปฏิภาณไหวพริบ นำมาใช้ในเพลงกล่อมลูกเพลงน้องนอน เป็นการมุ่งกล่อมน้องหรือกล่อมลูกโดยตรง ลักษณะเด่นของทำนองกล่อมลูกภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทใดคือมักจะขึ้นต้นเพลงด้วยคำว่า "ฮา เอ้อ" หรือมีคำว่า "เหอ" แทรกอยู่เสมอในวรรคแรกของบทเพลง แล้วจึงขับกล่อมไปช้าๆ เหมือนภาคอื่นๆ
จากหลักฐานการค้นคว้าเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ระบุไว้ว่าเพลงกล่อมเด็กภาคใต้มีจุดประสงค์และโอกาสการใช้กว้างขวาง จำนวนเพลงจึงมีมากถึง 4,300 เพลง นับว่ามากกว่าทุกภาคในประเทศ
ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้