ประวัติความเป็นมา
พุทธประวัติกล่าวว่า  วันที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์สู่มนุษย์โลก  หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา  ณ สวรรค์ชั้นดุสิตตลอดพรรษา  คือ  วันขึ้น  15 ค่ำ เดือน 11  อันเป็นวันสุดท้ายของพรราทรงเสด็จลงมาตามบันไดแก้ว, บันไดทอง, บันไดเงิน  บันไดทั้ง 3 ทอดลงมายังประตูนครสังกัสสะ  เมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันแรม 9 ค่ำ เดือน 11  อันเป็นวันออกพรรษาพอดี  พุทธบริษัททั้งหลายทราบข่าวต่างมาคอยต้อนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น  เพื่อจะคอยตักบาตร  ถวายภัตตาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน  ซึ่งเป็นที่มาของประเพณี  “ตักบาตรเทโว”  ซึ่งบางคนไม่สามารถเข้าถวายภัตตาหาร  เพราะมีคนอย่างล้มหลามที่จะถวายภัตตาหาร  ด้วยศรัทธาแรงกล้าของผู้ที่เข้าไม่ถึงพระพุทธองค์จึงเกิดประเพณีทำขนมขึ้นชนิดหนึ่ง  ห่อด้วยใบไม้ (ใบจาก  ใบเตย)  เรียก  “ขนมต้ม”  หรือห่อต้ม  หรือห่อปัดก็เรียก  สำหรับโยนและปาจากระยะห่างเข้าไปถวายได้  ซึ่งความจริงอาจเป็นความสะดวกในการนำพาไปทำบุญ  สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและสะดวกต่อการนำพาไปกินเวลาหิวขณะลากพระ  ตลอดจนการขว้างปาเล่นกัน (เรียกซัดต้ม)  ดังนั้นขนมต้มจึงถือเป็นขนมหลัก  เป็นเอกลักษณ์ประจำเทศกาล  ดังมีคำกล่าวว่า  “เข้าษากินตอก  ออกษากินต้ม”  คือ  ขนมประเพณีประจำเทศกาลเข้าพรรษา  คือ  ข้าวตอก  ส่วนเทศกาลออกพรรษา  คือ  ขนมต้ม  ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ
                วันขึ้น  15 ค่ำ เดือน 11  เป็นการทำบุญออกพรรษาตามปกติบางวัดมีการตักบาตรหน้าพระลากเพิ่มเป็นพิเศษ  เรียก  “ตักบาตรหน้าล้อ”  ในตอนกลางคืนระหว่างที่มีพิธี  “คุมพระ”  (ประโคมพระลาก)  อีกด้วย  พอถึงวันแรม  11 ค่ำ เดือน 11  อันเป็นวันออกพรรษาหลังจากทำบุญที่วัดตามปกติแล้วจะมีการลากพระต่ออีก 1-2 วัน  อย่างสนุกสนาน  มีเพลงลากพระร้องเล่นอีกด้วย
ที่มา: ชุมศรี มหาสันทนะ.2529,52

พระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส
พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุเพียง 7 วัน เมื่อสิ้นแล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปยังสวรรค์ที่พระนางประทับอยู่แสดงพระธรรมโปรดพระพุทธมารดา มีท้าวสักกเทวราช และเทวดาในจักรวาลร่วมฟังด้วยตลอดเวลา 3 เดือน จนพระพุทธมารดาและเทวดาจำนวนมากได้บรรลุอรหันต์

อย่างไรก็ดีมีผู้สันนิษฐานว่า ประเพณีลากพระเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ที่นิยมเอาเทวรูป
ออกแห่แหนในโอกาสต่างๆ โดยชาวพุทธนำเอาศาสนาพราหมณ์มาดัดแปลง ให้ต้องกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ประเพณีนี้จึงมีมาช้านานแล้วในประเทศอินเดีย ต่อมาได้ถ่ายทอดมายังประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้ได้รับเอาประเพณีนี้เข้ามาถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในภาคอื่นๆของประเทศไทย ล้วนเกิดเป็นประเพณี”ตักบาตรเทโวโรหนะ” 

การที่เกิดประเพณีลากพระขึ้นในภาคใต้ และกลายเป็นประเพณีอันสำคัญยิ่งสืบมานั้นนอกจากจะเนื่องด้วยพุทธตำนานและลัทธิศาสนาพราหมณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว และท่านผู้รู้ยังสันนิษฐานไว้อีกว่า น่าจะมีคตินิยมดั้งเดิมอย่างอื่นเป็นพื้นฐานด้วยอันเป็นเหตุประจวบเหมาะกล่าวคือ ในเดือน 11 นั้น เป็นช่วงที่ภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร สิ่งปรารถนาที่พ้องกันจึงได้แก่ การขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล งานลากพระจึงมุ่งขอฝนเอการเกษตรจนเกิดเป็นคติความเชื่อว่า การลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.2537,25)

 
PREVIOUS