การเตรียมเรือพระ


การเตรียมรถพระหรือรถชักพระทางบก  ได้ตกแต่งรถพระกันอย่างประณีตสวยงาม  โดยเฉพาะรถพระที่แต่งเป็นเรือพระตั้งอยู่บนรถยนต์  ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปพญานาค 2 ตัว  ประดับอยู่ด้านข้างรถยนต้านละ1ตัวสีสันของเรือพระนั้นเด่นสะดุดตาตรงกลางลำเรือก็จะเป็นที่ตั้ง

ของพระมณฑป ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และที่หัวเรือแต่ละลำก็จะมีเชือกขนาดใหญ่  ยาวประมาณ 30 เมตร ให้ผู้ชักลากตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้มาออกแรงลากจูงให้เคลื่อนไปตามจุดพิธีต่างๆ

เรือพระในที่นี้หมายความว่า เป็นรูปเรือแล้วประดิษฐ์เป็นรูปปูชนียสถานที่สำคัญอยู่ในเรือพระซึ่งอยู่บนรถยนต์  แล้วทำพิธีชักพระหรือลากพระไปทางถนน  ถือว่าเป็นพิธีแห่ชักพระทางบก  หรือพิธีชักพระทางบก  แต่ทว่าพิธีการและกรรมวิธีทั้งหมดให้รวมกันเรียกว่า  เรือพระ  ซึ่งถือเป็นการเรียกตามชาดกในพุทธกาล  โดยมีประเพณีแห่เรือพระ  หรือประเพณีแห่เรือพระในทางน้ำ  ถือเป็นประเพณีแรกที่มีการแห่พระพุทธรูป

การเตรียมเรือพระ
ก่อนถึงวันลากพระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี การคุมพระ ที่วัด การคุมพระคือการตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระ ประมาณ 10-15 วันเพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้านข้างเคียงทราบว่าจะมีการลากพระแน่นอน เพื่อปลุกใจให้ชาวบ้านกระตือรือร้นลือล้นร่วมพิธีลากพระ และเพื่อชาวบ้านจะได้มาช่วยกันเตรียมการต่างๆล่วงหน้า ผู้คุมพระได้แก่เด็กวัด และประชาชนที่อยู่ใกล้วัด การคุมพระจะมีทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกันไปจนถึงวันลากพระ ในช่วงเวลาที่มีการคุมพระนี้เอง พระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือพระซึ่งถ้าเป็นเรือพระบก จะหมายรวมถึง นมพระ หรือบุษบก ร้านไม้ และ หัวเฆ่ หรือไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อน ในปัจจุบันมักใช้ล้อเลื่อนหรือรถแทน หัวเฆ่ ถ้าเป็นพระน้ำจะหมายรวมถึง นมพระ ร้านไม้ และลำเรือซึ่งอาจจะใช้ลำเดียวกันหรือนำมาผูกติดกัน 3 ลำก็มี การเตรียมเรือพระจะต้องทำให้เสร็จทันวันลากพระ
 การตกแต่งเรือพระและนมพระ หรือบุษบก แต่ละวัดต่างก็พยายามตกแต่งกันอย่างวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ ภิกษุ สามเณร อุบาสกและช่างฝีมือในท้องถิ่นจะต้องมาช่วยกันทำอย่างสุดฝีมือ เพราะจะมีการประกวดกันระหว่างวัดด้วย และบางปีจะมีการประกวดกันอย่างเป็นทางการโดยส่วนใหญ่ อำเภอ หรือจังหวัด หรือเทศบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ ถ้าเรือพระของวัดใดไม่สวยงามเท่าที่ควรบรรดาอุบาสกอุบาสิกา แม้ศิษย์วัด หรือภิกษุสามเณรก็จะรู้สึกน้อยหน้าวัดอื่นที่ตกแต่งได้ดีกว่า บางวัดได้ทำเรือพระไว้เป็นการถาวร แล้วตกแต่งเพิ่มเติมเป็นปีๆ ไป ไม่ต้องทำขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดทั้งเงินและเวลา
   นมพระเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรือพระ จะมีการประดิดประดอยกันอย่างสุดฝีมือ หลังคานิยมทำเป็นรูปจัตุรมุข หรือทำเป็นจัตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูดงามสง่า สะดุดตา ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น เสานมพระใช้กระดาษสีแกะลวดลายปิด หรือแกะสลักไม้อย่างประณีตงดงามทั่วทุกส่วน ยอดนมพระจะเรียวชะลูด สมส่วน ปลายสุดมักใช้ลูกแก้วฝังเมื่อต้องแสงแดดจะทอแสงระยับ
การสร้างนมพระหรือบุษบกสำหรับลากพระบกส่วนใหญ่นิยมสร้างบนร้านไม้ ซึ่งประกอบติดแน่นอยู่บนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนที่รองรับข้างล่าง ไม้สองท่อนนี้สมมติเป็นพญานาคทางด้านหัว และท้ายทำงอนคล้ายหัวเรือและท้ายเรือ บางทีทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาค หรือรูปสัตว์อื่นๆ ลำตัวนาคมักประดับด้วยกระจกต่างๆ อย่างสวยงาม ร้านไม้กลางลำตัวนาคซึ่งใช้วางบุษบกมักจะสร้างสูงราว 1.50 เมตร
    ส่วนการสร้างเรือพระเพื่อใช้ลากพระทางน้ำก็มีการเตรียมการไม่แตกต่างจากเรือพระที่ใช้ลากพระทางบกมากนัก อาจจะใช้เรือลำเดียว ตั้งนมพระกลางลำเรือแล้วใช้ฝีพายเรือพระ หรือใช้เรือขนาดใหญ่ 3 ลำมาเรียงกันผูกให้เรือติดกันอย่างมั่นคง แล้วใช้ไม้กระดานวางเรียงให้เต็มลำเรือทั้ง 3 ลำ เพื่อเป็นพื้นราบสำหรับวางร้านไม้และบุษบกตรงกลางลำ ตกแต่งเรือพระหรือนมพระด้วยแพรพรรณ กระดาษสีธงทิว และต้นไม้ มีที่นั่งสำหรับพระภิกษุผู้ควบคุม และมีเครื่องดนตรีสำหรับประโคมเช่นเดียวกับในเรือพระบก ส่วนที่หัวเรือจะมีเชือกนาคเท่ากับของเรือพระบกผูกไว้สำหรับให้เรือชาวบ้านมาช่วยกันลาก

 
PREVIOUS