ประเพณีที่เกี่ยวข้อง
  การแข่งโพน
  ความสำคัญ
วัดต่าง ๆ เตรียมทำบุษบก หุ้มโพน และเริ่มการคุมโพนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ต่อมามีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่า ผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะ แรก ๆ เข้าใจว่า คงตีแข่งขันภายในวัดและค่อยขยายออกมาภายนอกวัด เพิ่มจำนวนโพนขึ้น จัดประเภทและมีกติกามากขึ้น การคิดเล่นสนุกสนานเหล่านี้ ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมา ปัจจุบันการแข่งโพนเป็น กิจกรรมการละเล่นที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง
                แข่งโพนหรือประชันโพน  เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้  โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับประเพณีลากพระ (ชักพระ)  เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันก่อนที่จะมีการลากพระในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันพระออกพรรษา
ที่มา : ใต้ หรอยมีลุย. 2547, 60

โพนหรือตะโพน  คือ  กลองทัดหรือกลองเพลของภาคกลาง  เป็นดนตรีประเภทเครื่องตีในภาคใต้มีไว้ประจำตาวัดวาอาราม  เพื่อตีบอกเวลา  หรือใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือลากพระในช่วงปลายเดือนสิบ  วัดต่างๆ จะเตรียมการลากพระตั้งแต่การทำบุญบกหรือเรือพระสำหรับลาก
                การหุ้มโพน  แล้วเริ่มคุมโพน  (ตีโพน)  หรืออาจจะเรียกว่าการประโคม  เพื่อบอกข่าวหรือประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าทางวัดจะจัดให้มีการลากพระ  ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนกันทุกๆปี
                โพนที่นำมาตีประโคม  นิยมใช้กัน 2 ใบ  เป็นเสียงแหลม  1 ใบ ทุ้ม 1 ใบ  ยิ่งใกล้วันลากพระก็อาจจะประโคมกันตลอดทั้งคืน  ผู้ที่ประโคมมักเป็นศิษย์วัด  หรืออุบาสกที่อยู่ใกล้ ๆวัด  โดยปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตี  อาจตีคนเดียว 2 ใบ  หรือคนละใบสลับเสียงกัน  และเชื่อกันว่าผู้ร่วมคุมโพนจะได้บุญกุศลด้วย  แต่เนื่องจากวัดส่วนมากจะอยู่ในละแวกเดียวกันเสียงโพนที่ดีดังออกไปไกลบางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงโพนของวัดใด  จึงทำให้วัดต่างๆ แข่งเสียงโพนกันว่าโพนของวัดใดเสียงดังกว่ากัน
                การแข่งโพนแบ่งออกได้ 2 ประเภท  คือ
                1.  การแข่งขันมือ  (ตีทน)  การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน  แข่งขันกันจนผู้ตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมืออ่อน  หรือหมดแรง  จึงตัดสินแพ้ชนะ
                2.  การเข่งขันเสียง  การแข่งขันแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะใช้เวลาสั้น ๆก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้
                ส่วนมากจะเริ่มแข่งขันกันในช่วงปลายเดือน 10  และสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ซึ่งเป็นวันลากพระ  จะแข่งขันกันวันไหน  สถานที่ใดแล้วแต่คู่แข่งขัน  หรือคณะกรรมการผู้จัดจะตกลงกันแต่นิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน  ตั้งแต่เวลา  21.00 น.  เป็นต้นไป  (ใต้ หรอยมีลุย, 2547, 60-61)

ที่มา : ใต้ หรอยมีลุย. 2547, 60
ประเพณีเล่นเพลงเรือ
การเล่นเพลงเรือ ส่วนหนึ่งเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากประเพณีลากพระน้ำ ดังนั้นลางทีจึงเรียกกันว่า เพลงเรือพระ ซึ่งมักร้องเล่นกันในระหว่างมีงานประเพณีลากพระน้ำ แต่ลางแห่งก็จัดให้มีการเล่นสนุกกันในโอกาสที่มีงานทอดผ้าป่า ทอดกฐิน และงานฉลองรื่นเริงอีกด้วย ในฤดูน้ำเดือน 11 เดือน 12 ซึ่งเคยมีอยู่ทางเกาะสมุย บ้านดอน ไชยา ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และทางจังหวัดชุมพร ก็มีชื่อเรื่องเพลงเรือมาก ตลอดจนที่บ้านแหลมโพธิ์(ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ หรือที่ อ.บางกล่ำ) ย่านทะเลสาบสงขลาหลายตำบลก็มีการเล่นเพลงเรือเช่นกัน ปัจจุบันการเล่นเพลงเรือใกล้จะสูญเต็มที (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์.2548,224)
ที่มา: ใต้หรอยมีลุย.2547,56

กีฬาซัดต้ม
การซัดต้มเป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันลากพระ กีฬาชนิดนี้มีเพียงในบางท้องที่เท่านั้น การซัดต้มจะเป็นกีฬาที่อาจจะจัดขึ้นที่วัดหรือที่ชุมนุมเรือพระ เมื่อลากพระไปถึงที่นัดหมายกันแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้เขาจะทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทราย ห่อด้วยใบตาลโตนดหรือใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้ออย่างแน่นหนา ขนาดเท่ากำปั้นพอเหมาะมือ หลังจากนั้นนำลูกต้มไปแช่น้ำเพื่อให้ข้าวตากพองตัว มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เมื่อปาถูกฝ่ายตรงกันข้ามจะทำให้เจ็บ ส่วนสนามหรือเวทีในการซัดต้มอาจจะให้พื้นดินธรรมดา หรือจะปลูกยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร กว้างด้านละ 1-2 เมตร ห่างกันประมาณ 8-10 เมตร ก็ได้ สำหรับผู้ซัดต้มจะต้องเลือกคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรง ความชำนาญที่พอจะสู้กันได้ ทั้งคู่จะยืนในพื้นที่ที่เตรียมไว้ หันหน้าเข้าหากัน มีกรรมการเป็นผู้ควบคุม การซัดต้มจะผลัดกันซัดคนละ 3 ครั้ง โดยมีลูกต้มวางข้างหน้าฝ่ายละ 25-35 ลูก การแต่งกายของผู้ซัดจะนุ่งกางเกงหรือนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ บางคนอาจมีมงคลสวมหัว หรือมีผ้าประเจียดพันแขน ก่อนการแข่งขันมีการร่ายคาถาอาคม ลงเลขยันต์ที่ลูกต้มเพื่อให้แคล้วคลาดจากลูกต้มของฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ที่ชนะในการซัดต้มมักเป็นคนใจกล้า สายตาดี มีความสามารถในการหลบหลีกหรือรับลูกต้มไว้โดยไม่ให้ถูกตัว ผู้ที่ปาหรือซัดถูกคู่ต่อสู้มากจะเป็นฝ่ายชนะ

การประกวดเรือพระ
การประกวดเรือพระจะกระทำกันภายหลังที่เรือพระทุกลำไปถึงที่ชุมนุมเรือพระแล้ว กรรมการผู้จัดการประกวดจะนำเครื่องหมายไปติดที่เรือพระ เพื่อบอกตำแหน่งที่ได้รับรางวัล โดยแยกประกวดเป็น 2 พวกใหญ่ๆคือ เรือพระบกและเรือพระน้ำ การประกวดเรือพระแต่โบราณมักจะให้ของรางวัลที่จำเป็นสำหรับวัด เช่น ถ้วยชาม กาน้ำ นาฬิกา น้ำมันก๊าด เสนาสนะสงฆ์ สบง จีวร เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น โล่เกียรติยศ ถ้วยรางวัลและให้เงินสดเป็นรางวัลก็มี
 ในท้องที่บางแห่งซึ่งเน้นการดำเนินการประเพณีนี้อย่างใหญ่โต เพื่อให้บังเกิดผลต่อการท่องเที่ยวส่วนราชการจึงให้มีการจัดประกวดเรือพระโดยการให้ทุนรอนแก่วัดและชาวบ้านไปดำเนินการ ในส่วนของชาวบ้านก็มีการเรี่ยไรเพื่อให้ได้เงินมาสร้างเรือพระให้สวยงามที่สุด เพื่อผลคือรางวัล และเกียรติยศของวัดและชาวบ้าน สิ่งที่ตามมาจากการกระทำเช่นนี้ก็คือช่างชาวบ้านสูญหายไป เนื่องจากมีการจ้างช่างมาดำเนินการทั้งหมด ชาวบ้านขาดความสมัครสมานสามัคคี ขาดการร่วมมือ หรือเกื้อกูลกันตามแบบเก่า แม้แต่การลากพระก็ต้องมีการเกณฑ์คนไปชักลาก การดำเนินการดังกล่าวน่าจะให้น้อยลง และปล่อยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกันเช่นแต่ก่อน ทั้งนี้เพื่อผลในเรื่องความสมัครสมานสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของชุมชนสืบไป (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.2537,29-31)

ตักบาตรเทโว
           วันตักบาตรเทโวหมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิชน ว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา
ความเป็นมา
          เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนาน กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่ เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น

ระยะเวลา

การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน. 2537. ชีวิตไทย ชุด สมบัติตายาย. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ชุมศรี มหาสันทนะ.2529. พุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนังไทย.กรุงเทพฯ : เอเชียบุ๊คส์.

ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้.  2547. 
กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 
ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์.  2548.  ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.  กรุงเทพฯ : สิวีริยาศาส์น.

http://www.prapayneethai.com/th/tradition/south/view.asp?id=0683.  (เข้าถึง 1  กุมภาพันธ์  2551)
การแข่งโพน.  2001-2004.  http://www.prapayneethai.com/th/tradition/south/view.asp?id=0687
                (เข้าถึง 1 กุมภาพันธ์ 2551).
ประเพณีลากพระ (ชักพระ).  2001-2004. 
http://www.prapayneethai.com/th/tradition/south/view.asp?id=0675.  (เข้าถึง 1 กุมภาพันธ์ 2551)

 
PREVIOUS