ลิเกป่า
                ลิเกป่า หรือ ลิเกแขกแดง เป็นการเล่นพื้นเมืองที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ แถบจังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และกระบี่ ในระยะ 60-70 ปี ที่แล้วมานี้นิยมกันมากแล้วค่อยเสื่อมความนิยมตามกาลเวลา
            การเล่นลิเกได้แบบอย่างมาจากแขกเจ้าเซ็น สังเกตจากคำว่า  “ลิเก”  มาจากการร้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าเรียกว่า  “ดิเกร์”  ต่อมาคนไทยได้หัดร้องเพลงดิเกร์  ขั้นแรกก็มีท่วงทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนเพลงสวด ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นแบบไทย คำว่า ดิเกร์ ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก นอกจากชื่อของการแสดงที่ได้มาจากแขกแล้ว ลักษณะการแสดงก็มีการ  “ออกแขก”  เกริ่นนำมาก่อนเริ่มการแสดงเป็นเรื่องราว
( มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2524,4 )

   

                                                                                               แขกแดงกำลังบอกให้คนงาน(ตัวตลก) เก็บของขึ้นเรือ จะพาครอบครัวกลับอินเดีย(กัลกัตตา)
                                                               ที่มา : การแสดงลิเกป่าในงานสมโภชศาลหลักเมือง จ.ตรัง http://www.trangzone.com/webboard_show.php?ID=4375

กำเนิดการเล่นแสดง  “ลิเก”  ของไทย ต้นเค้าเดิมคงได้ไปจากการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายมลายูแถบจังหวัดยะลา ปัตตานี ที่เรียกว่า  “ดีเกร์”  (Dikir) หรือ  “ดีเกร์ฮูลู”  ในภาษามลายูพื้นเมือง ซึ่งก็รับอิทธิพลแบบอย่างมากจากบทสวดสรรเสริญพระเจ้าของพวกแขกเปอร์เซียอีกต่อหนึ่ง แต่ได้นำมาดัดแปลงเป็นบทขับร้องโต้ตอบกัน จนเกิดเป็นการละเล่นที่เรียก ดีเกร์ฮูลู ที่เป็นการร้องโต้คารมกันเพียงอย่างเดียวเหมือนกับลำตัด ซึ่งไทยเราก็เอาแบบอย่างนี้ไปด้วยทั้งลำตัดและลิเก แต่ที่เป็นลิเกนั้นคนไทยนำไปพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายละเอียดไปมากจนไม่เหลือเค้าเดิมเลยนอกจากชื่อ และมีประเพณีต้อง  “ออกแขก”  ก่อน แสดงคงไว้ให้รู้เท่านั้น ตามลักษณะนิสัยคนไทยชอบปรุงแต่งให้ประณีตอย่างนาฏศิลป์และถูกรสนิยมแลสังคมสิ่งแวดล้อม ของคนไทยมาแต่เดิม จึงกลายเป็นลิเกทรงเครื่องวิวัฒนาการไปไกลชนิดตรงข้ามกับต้นแบบดั้งเดิม
                ลิเกป่าเรียกต่างกันหลายชื่อ เช่น ลิเกแขกแดง (แขกอินเดีย) และเรียก  “ลิเกบก”  ก็มี และมักเป็นการแสดงของพวกชาวไทยมุสลิมทางฝั่งทะเลตะวันตก เช่น ตรัง สตูล กระบี่ พัทลุง เป็นต้น ส่วนทางฝั่งทะเลตะวันออกมักจะเรียกว่า  “ลิเกป่า”  เช่น ไชยา  นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพวกชาวไทยพุทธเล่นกันและดูจะเป็นที่นิยมแพร่หลายมากกว่าด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลิเกแขกแดง ลิเกบก และลิเกป่า ล้วนได้รับอิทธิพลกลับมาจากลิเกภาคกลางทั้งสิ้น เนื่องจากทางปัตตานี ยะลา และนราธิวาสไม่มีเล่น และกระบวนการแสดงต่าง ๆ ก็เป็นแบบอย่างภาคกลางรวมทั้งชื่อ กล่าวคือ คำว่าลิเกป่า ลิเกบก หมายถึงความไม่ประณีตอย่างนาฏศิลป์ ตามีตามเกิด หรือเรียกว่าลิเกชาวบ้านนั้นเอง เพราะทั้งการแต่งกาย การร้องรำ เครื่องดนตรี และเรื่องที่แสดงล้วนเป็นไปตามอัตภาพ เป็นอย่างคณะลิเกสมัครเล่น
                ส่วนที่มีผู้อธิบายว่า เป็นเพราะพวกอินเดียที่เดินเรือมาค้าขายยังแหลมมลายูต้องมาขึ้นฝั่งแล้ว  “เดินบก”  หรือ  “เดินป่า”  ข้ามมา จึงได้เรียกว่า ลิเกป่า ลิเกบก นั้น คงจะเป็นเพียงการลากเข้าความลากเข้าเรื่องให้ฟังสนุกเพลิดเพลินและดูจะเข้าทีเสียด้วย เนื่องจากเดิมลิเกป่ามีตัวแสดงเพียง 3 ตัวเท่านั้น ได้แก่  1. แขกแดง  (แขกอินเดีย) แต่งกายอย่างพวกแขก  2. ยาหยี (หยอหยา) เป็นภรรยาของแขกแดงที่เป็นคนไทยพื้นเมืองแต่งกายนุ่งผ้าปาเต๊ะอย่างสตรีไทยเชื้อสายมยายูทั่วไป 
 3. เสนา (สะหมาด) เป็นตัวตลกคนรับใช้แต่งกายอย่างคนสามัญตามฐานะ อย่างไรก็ตาม การแสดงแบบนี้ก็คล้ายกับจำอวด เป็นการแดสงของชาวชนบทบ้านนอก ไม่เอามาตรฐานไม่เอาความสวยงาม หากเอาความสนุกสนานเป็นสำคัญ
                ลิเกป่ามีทุนรอนน้อย คนน้อย เครื่องแต่งกายจึงเป็นแบบตามีตามเกิด ใช้นุ่งโจงกระเบนบ้าง ผ้าถุงผ้าโสร่งบ้าง เครื่องประดับใช้กระดาษ ใช้ดอกไม้พวงมาลัย เปลือกหอย ลูกผลไม้ ฉากกั้นมีบ้างไม่มีบ้าง การร่ายรำไม่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน การร้องการสนทนาจะใช้ภาษากลาง หรือภาษาพื้นเมืองก็ได้ แต่ตัวเสนาตัวประกอบตัวตลกมักใช้ภาษาพื้นเมือง จึงได้เรียกกันว่าลิเกป่า ( ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548,236-238)

ประวัติความเป็นมา
                มีผู้กล่าวว่าลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือ คำว่า  “ลิเก”  มาจากการร้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าของแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า  “ดิเกร์”  ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เชีย เพราะนิกายเจ้าเซ็นนี้มาจากเปอร์เชีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเคยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป  นอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ ๆ แล้วต่อมาไม่นานก็มีคนไทยหัดร้องเพลงดิเกร์ขึ้นขั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวด ต่อมาเมื่อคนไทยนำมาร้องก็กลายเป็นแบบไทย  และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเกหรื่อยี่เก  แต่อยจ่างไรก็ตามถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรีรำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประโคมประกอบการเล่น  ชวนให้เข้าใจว่าการเล่นลิเกป่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากมลายู  เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกวา  “รำบานา”  (Rebana)  ซึ่งมีสำเนียงคล้ายกับรำมะนาของไทยเราดังกล่าวแล้ว (ชวน  เพชรแก้ว. 2523,47)
       ลิเกป่า เป็นศิลปะการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้และชาวพัทลุง นอกจากหนังตะลุงและมโนรา แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ดูแล้ว แต่ลิเกป่าในพัทลุงก็ยังพอมีอยู่ ลิเกป่ามีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น " ลิเกรำมะนา " ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากเรียกตามชื่อเครื่องดรตรีที่ใช้กลองรำมะนาเป็นหลักในการแสดง บางแห่งเรียก " แขกแดง " บางแห่งเรียก " ลิเกบก " บางแห่งเรียกตัวละครที่ออกมาแสดงว่า " แขกเทศ " ลิเกป่านิยมเล่นกันในจังหวัดกระบี่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฏรธานี
    คำว่า " แขกแดง " ทางปักษ์ใต้หมายถึงแขกอาหรับ แต่ถ้าใช้คำว่า " เทศ " จะหมายถึงแขกอินเดีย ตัวอย่างเช่น
เทศบังกลาหลี ( จากเบงกอล ) เทศคุรา เทศขี้หนู ( อินเดียตอนใต้ ) ถ้าใช้คำว่า " แขก " จะหมายถึงแขกมาลายู
และแขกชวา ( อินโดนีเซีย, มาเลเซีย )
    จากหนังสือนครศรีธรรมราช ได้พูดถึงความเป็นมาของลิเกป่าเอาไว้ว่า " มีผู้กล่าวว่า ลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือคำว่า " ลิเก " มาจากการร้องเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของพวกแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า " ดิเกร์ " ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เคยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีน้ำเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมา นอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ ๆ แล้วที่ร้องเพลงดิเกร์ ก็มีคนไทยเริ่มหัดร้องเพลงดิเกร์กันบ้าง ซึ่งในชั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวดของแขกเจ้าเซ็น แต่เมื่อมีคนไทยนำมาร้องมาก ขึ้น ก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรีรำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประกอบการแสดง ชวนให้เข้าใจว่าลิเกป่าน่าจะมีต้นแบบมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า " ระบานา " ซึ่งก็มีสำเนียงคล้ายกับคำว่า " รำมะนา " ของไทยเรา
    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอบคำถามในรายการ " คุยกันเรื่องเก่า ๆ " ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า มุสลิมกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า " เจ้าเซ็น " เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก และกล่าวว่า " ทีนี้คนไทยเรานี้ครับ ไปเห็นพวกเจ้าเซ็นเขาเข้าไปร้องเพลงสวดฟังแล้วไพเราะ และก็สวดถวายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คนที่มีบุญวาสนาอื่น ๆ ก็เกิดนึกขึ้นมา เอ๊ะ ! วันเกิดเราหรืองานบ้านเราถ้าไม่มีเจ้าเซ็นมาร้องเพลงดูมันจะเบา ๆ ไป มันไม่ใหญ่ก็เลยไปเที่ยวติดต่อผู้มีอำนาจวาสนาไปพูดเข้า ก็คงเกรงกลัวอำนาจ เขาก็มาร้องเพลงสวดให้ก็เรียกว่าสวด " ดิเกลอ " นี่ละมันกลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมา แขกร้องได้ ไทยก็ร้องดี ต่อไปแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาอยากจะให้เจ้าเซ็นมาร้องหรือให้พร ก็ไม่ต้องไปตามที่กุฏิเจ้าเซ็นละ หาเอาข้าง ๆ บ้านนี่แหละ ไทยก็ร้องได้ ก็มาร้องเพลงแขกนี่แหละครับ อวยพรเพลงแขก อวยพรแค่นั้นจบแล้วมันก็ไม่สะอกสะใจ มันไม่ได้ดูอะไรกันต่อ ก็เริ่มร้องเพลงไทยนี่แหละ ไปตามเรื่องตามราว ในที่สุดก็เอาเรื่องละครนอกนี่ละมาเล่นและก็ดัดแปลง แต่เพื่อจะให้รู้เป็นยี่เกหรือเป็นดิเกร์นะ ก็ออกแขกก่อนบอกยี่ห้อไว้ เสร็จแล้วก็จับเรื่อง มีแยกอออกเป็นยี่เกบันตน ยี่เกอะไรก็ว่าไปจนถึงยี่เกทรงเครื่องมาจนถึงทุกวันนี้ " ซึ่งจากประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของลิเกทางภาคกลาง แต่มีอยู่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาลิเกภาคกลางในช่วงแรก ๆ ที่มีบางอย่างคล้ายกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ ตามที่ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเขียนไว้ในหนังสือ " ลิเก " โดยคัดมาจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพลตรีพระยาอนุภาพไตรภพ ( จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ซึ่งผู้ถึงแก่กรรมเล่าเอาไว้เองว่า ได้ดูลิเกเมื่อ พ. ศ. 2435 " เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นเมื่อเป็นเด็กหลายครั้ง ลิเกเล่นเรื่องเดียว เครื่องพิณพาทย์ราดตะโพนก็ไม่เห็น ใช้แต่รำมะนา 2 - 3 ใบ เรื่องที่ลิเกเล่นจะเรียกว่ากระไร ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบอีก แต่พวกเด็ก ๆ เรียกกันว่าเรื่อง " นางหอยแครง " คือ พอเปิดฉากก็มีแขกเทศแต่งตัวด้วยเครื่องขาวล้วน ๆ แวววาวด้วยดิ้นเลื่อม ถือเทียนออกมาร้องเบิกโรง ให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานและคนดูแล้วก็มีตัวตลกออกมาซักถาม เป็นการเล่นตลกไปในตัว ร้องและเต้นอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าโรง เขาเรียกลิเกตอนนี้ว่า " ออกแขก " ต่อจากนั้นก็ถึงชุด แขกแดง คือ แต่งตัวด้วยชุดแขกแดงสวยงาม มีบริวารออกมาด้วยหลายคน ล้วนแต่งตัวเป็นแขก กิริยาของตัวนายทำนองเป็นเจ้า คือเป็นรายาหรือสุลต่านอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาแสดงพอสมควร ก็สั่งบริวารให้เตรียมเรือไปชมทะเล ในการชมทะเลมีการตีอวน ตอนนี้มีการเล่นตลกขบขันเด็กชอบมาก ในที่สุดหอยแครงตัวใหญ่ก็ติดแห ในหอยมีนางงามเรียกว่า " นางหอยแครง " เมื่อตัวนายเกี้ยวพาราศีนางหอยแครงเป็นที่ตกลงกันแล้วก็แล่นเรือกลับเป็นจบเรื่อง การร้องเพลงตลอดจนการพูดดัดเสียงแปร่งเป็นแขกทั้งหมด " เนื้อหาของลิเกทางภาคกลางที่ใกล้เคียงกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ก็คือ การออกแขกถือเทียนมาร้องเบิกโรง แนะนำตัวตัวต่อชม และบอกเรื่องราวที่จะแสดง มีบทเต้นและบทร้องในทำนอง
แขก แต่ระหว่างลิเกป่ากับลิเกทางภาคกลางนั้นใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง หรือถ่ายทอดซึ่งกันและกันอย่างไร ยังหาข้อยุติไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป (ชัยยันต์ ศุภกิจ ลิเกป่า http://www.moradokthai.com/ligapa.htm )

ที่มา : การแสดงลิเกป่า งานสมโภชศาลหลักเมือง http://www.trangzone.com/webboard_show.php?ID=4375
PREVIOUS