ที่มา : การแสดง "ลิเกป่า" http://av.sac.or.th/Subdetail/seminar/sum_show/Show25.html

เวทีแสดง
                ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาซึ่งเคยมีเล่นกันแพร่หลายในจังหวัดตรัง กระบี่และนครศรีธรรมราช เล่นได้เกือบทุกงาน เช่น งานแต่งงาน  บวชนาค  งานวัด  งานศพ โรงสำหรับแสดงคล้ายกับโรงมโนห์รา  คือปลูกเป็นโรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้างและยาวเท่า ๆ  กับโรงมโนห์รา  มีหลังคา  ยกพื้นหรือไม่ยกพื้นก็ได้  ใช้เสื่อปู  หน้าโรงโปร่งทั้งสามด้าน  ตรงกลางมีฉากหรือม่านกั้น  ส่วนหลังโรงใช้เป็นที่แต่งตัวและเก็บเครื่องใช้ไม้สอย  ตะเกียงที่ใช้ตะเกียงเจ้าพายุหรือไม่ก็ใช้ไต้จุดช่วย
วิธีแสดง
                ผู้แสดงลิเกป่าคณะหนึ่ง ๆ มีไม่เกิน 8 คน  แต่ถ้ารวมลูกคู่เข้าไปด้วยก็มีจำนวนคนเท่า ๆ กับมโนห์ราคณะหนึ่งทีเดียว
                การแสดงลิเกป่าจัดแสดงได้ในเกือบทุกงานดังกล่าวแล้ว  ก่อนลงมือแสดงจะต้องโหมโรงก่อนประมาณ 15 – 20 นาที  การโหมโรงจะใช้กลองรำมะนาตีประโคมเพื่อให้จังหวะกับมีบทเพลงคล้าย ๆ กับลำตัดร้องไปด้วย  โดยผลัดกันร้องทีละคน  เวียนเป็นรูปวงกลมขณะที่ร้องเพลงจะต้องขยับท่าให้เข้ากับคำร้องและจังหวะของกลอง  บางทีอาจจะมีลูกคู่ออกมารำสมทบด้วย  ผลัดเปลี่ยนกันไปทีละคู่ ๆ การร้องเพลงและประโคมดนตรีเช่นนี้เรียกว่า  “เกริ่นวง”  ตัวอย่างเพลงเกริ่นของลิเกป่ามีดังนี้
                                “น้ำขึ้นเต็มคลอง                                เรือล่องไปติดซัง
                                แม่หม้ายไม่ใส่เสื้อ                              ถ่อเรือไปแลหนัง”
                                “น้ำเอยเจ้าไหลรี่                                 ไอ้ปลากระดี่ลอยวน
                                ลอยมาข้างนี้                                         มารับเอาพี่ไปด้วยคน”
                                “โอ้เจ้าช่อมะม่วง                               โอ้เจ้าพวงมะไฟ
                                ถ้าน้องลวงพี่                                        พี่จะหนีไปแห่งใด”
                หลังจากร้องเพลงเกริ่นแล้วก็เป็นการออกแขก  แขกที่ออกมาจะแต่งกายแสดงท่าทางตลอดจนสำเนียงพูดเลียนแขกอินเดียทุกอย่าง  อาจจะมีเพียงตัวเดียวหรือ 2-3 ตัวก็ได้ โดยผลัดกันออกมาคือแขกขาวกับแขกแดง  หรือแขกแดงกับตัวยาหยีออกมาเต้นหน้าเวทีพร้อมกับแสดงท่าทาง  และร้องประกอบโดยมีลูกคู่รับไปด้วย  หลังจากการออกแขกเสร็จสิ้นลงจะมีผู้ออกมาบอกกับผู้ดูว่าแสดงเรื่องอะไร  และหลังจากนั้นก็เป็นการแสดงเรื่องราว
                เรื่องที่ลิเกป่านิยมเล่นกันมากได้แก่วรรณคดีเก่า ๆ  เช่น  อิเหนา  โคบุตร  สุวรรณหงส์  ลักษณวงศ์  เป็นต้น  หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองตามยุคตามสมัยที่นิยมกันก็มี สำหรับเรื่องการแต่งกายของตัวแสดงส่วนใหญ่มีชุดอย่างไรก็แต่งกันอย่างนั้น  คือตามมีตามเกิด มีมากแต่งมาก  มีน้อยแต่งน้อย  แต่พระเอกจะแต่งกายงามเป็นพิเศษ  คือนุ่งโจงกระเบน  ใส่เสื้อแขนยาว  ใส่ทองกร  สวมสายสร้อย  สังวาล  ทับทรวง  ถ้ามีชฎาก็สวมชฎา  ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือหนัง  ประดับประดาด้วยพลอยหรือกระจกให้แวววาว    ส่วนนางเอกก็นุ่งผ้าถุงจีบใส่เสื้อแขนสั้น  กำไลเท้า  มีผ้าห่มคลุมห้อยพาดหลัง  อาจจะสวมใส่ชฎาหรือกระบังหน้าหรือไม่ใส่ก็ได้  เครื่องประดับอื่น ๆ ก็มีสร้อยลูกปัด  ถ้าเป็นตัวตลกหรือเสนาอำมาตย์ก็แต่งกายอย่างง่าย ๆ ก็คือไม่สวมเสื้อ  นุ่งผ้าถุง  แต้มหน้าทาคิ้วให้ดูแล้วน่าขบขัน
                ภาษาที่พวกลิเกป่าใช้  ไม่ว่าจะเป็นบทร้องหรือบทเจรจาพวกลิเกป่าจะใช้ภาษาของชาวพื้นเมืองที่ตนถนัดกันเป็นส่วนใหญ่  แต่ถ้าเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะใช้ภาษาที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่าภาษาข้าหลวง  คือเป็นภาษากลาง  แต่สำเนียงพูดแปร่ง ๆ ผิด ๆ ถูก ๆ หรือที่เรียกกันว่า  “พูดทองแดง”
          จากที่กล่าวมาแล้วน่าจะสรุปได้ว่า  ที่เรียกการละเล่นชนิดนี้ว่าลิเกป่านั้นคงจะเนื่องมาจากเล่นไม่ยึดถือแบบฉบับ  ขาดความสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านและเล่นกันเป็นงานบันเทิงสมัครเล่นเพื่อความสนุกสนานตามประสาชาวบ้านป่า  ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพแน่นอนนั่นเอง
                ในปัจจุบันการเล่นลิเกป่าในจังหวัดภาคใต้ค่อนข้างจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว  ทั้งนี้เพราะมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้การละเล่นชนิดนี้เสื่อมสูญไป  เช่น  เนื่องจากการเล่นลิเกของภาคกลาง  ซึ่งเผยแพร่เข้ามาน่าดูชมกว่า  เล่นเรื่องที่น่าสนใจกว่า  การขับร้องและท่ารำก็แปลกและพิสดารกว่า  และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือลิเกป่าเป็นลิเกสมัครเล่น  ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพจริงจังดังกล่าว  พร้อมกันนั้นอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกได้เผยแพร่เข้ามามาก  ลิเกป่าจึงเสื่อมหายไปในที่สุดจนเกือบจะหาชมไม่ได้อีกเลย (ชวน  เพชรแก้ว. 2523,48-49)

               
               

 
ที่มา : การแสดงลิเกป่า งานสมโภชศาลหลักเมืองตรัง http://www.trangzone.com/webboard_show.php?ID=4375

บอกชุดก่อนจะออกแขกของลิเกปักษ์ใต้
ชุดที่ 1    ไอ้ชุดที่หนึ่งฉันจะบอกให้แจ้ง                         ชื่อว่าแขกแดง – เอ่ย รดน้ำมนต์
                ออกมาครืนเล่นเต้นอยู่หลน ๆ                         จะบอกยุบลให้เข้าใจ
ชุดที่ 2    ไอ้ชุดที่สองชื่อว่ามอญใหม่                               เพื่อนพาเมียไป – เอ่ยขายแป้งน้ำมัน
                มีพระสมิงชิงเอาเมียขวัญ                                  แล้วเพื่อนั้นถวายฎีกา
ชุดที่ 3    ไอ้ชุดที่สามพ่องามขำ                                        พวกจีนไหล่ำมาเข้ามาใหม่
                เข้ามาเนือง ๆ หน่อยแน่เมืองไทย                   เป็นพ่อค้าใหญ่เพิ่งเข้ามา
ชุดที่ 4    ไอ้ชุดที่สี่คือพระสังข์ – เอ่ย                             เธอแปลงกายังเป็นเงาะป่า
                มือถือไม้ท้าวเข้าในพารา                                   ได้นางรจนาเป็นเมียขวัญ
ชุดที่ 5    ไอ้ชุดที่ห้าพระอภัยมณี                                      เมื่อพระภูมี – เอ่ย พลัดลูกยา
                เธอให้ทรงโศก หน่วย – น่าโศกา                   อยู่ในนาวาของอุสเรนทร์
ชุดที่ 6    ไอ้ชุดที่หกพระสุวรรณหงส์                              เมื่อจักรพงศ์สิ้นชีวี
                นางเกตุสุริโยแปลงองค์เป็นชี                           ยกศพสามีบูชาเพลิง
ชุดที่ 7    ไอ้ชุดที่เจ็ดเบ็ดเตล็ดต่างกัน – เอ่ย                  มีสารันอยู่นา ๆ
                จะออกชุดไหนเร็วไวบอกมา                            พี่น้องน้าป้าเขาจะดู
(เมื่อร้องจบแต่ละชุด ลูกคู่จะร้องรบว่า เออ-เอ่อ-เอ้อ-เอิง-เงิย-)

เกริ่นหน้าแขก                     โอ้ระงาไว้หล้า  สยังโบรพา  สยาสาริบัด
                                                เอาวา  เอาเว่  บุ่มบายเส  ดอกกะเหรบันยา (ครั้งเดียว)
                                                (ร้องพร้อมกันทั้งโรง ก่อนให้แขกออก)
ลูกรับหรือลูกคู่ของแขก    พอแขกร้องจบไปครั้งหนึ่ง  ลูกคู่ก็ร้องรับทีหนึ่ง ดังนี้
ไอ้ชานักกะเรา  มาตุเสลังกา  ไอ้ลันละปิเหน  มาตุเสลังกา  (ร้องรับจนกว่าแขกจะเข้าโรง)

                ลิเกรำมะนานี้ เฉพาะปักษ์ใต้สมัยก่อนเป็นผู้ชายล้วน น้าเอี่ยม (อยู่ตรอกหัวหลาง) ได้เป็นผู้ริเริ่มหัดผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองนครฯ อาจารย์ของน้าเอี่ยมซึ่งเป็นลิเกเก่าหรือลิเกโบราณ คือ ตาบัวแม่กาว และตาบัวเฒ่า ครูลิเกของปักษ์ใต้ (ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548,239)
               

ที่มา : การแสดง "ลิเกป่า" http://av.sac.or.th/Subdetail/seminar/sum_show/Show25.html
 
PREVIOUS