มัสยิดกรือเซะ และ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม

ยังเป็นที่ถกเถียงและไต่ถามกันอยู่เสมอว่า ตำนานมัสยิดกรือเซะ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และพี่ชายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวชื่อว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้ซึ่งได้มาอยู่ที่เมืองปัตตานี เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม และได้แต่งงานกับสตรีมุสลิมนั้นเท็จจริงเป็นอย่างไร และใครคือลูกหลานผู้สืบสกุลต่อมา
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณสว่าง เลิศฤทธิ์ ได้รับบทความชิ้นหนึ่งจากคุณสวาสดิ์ พิพิธภักดี ภรรยาของพระพิพิธภักดี อดีตเจ้านายสำคัญคนหนึ่งของเมืองยะหริ่ง บทความเดิมชื่อ Masjid Kersik เป็นภาษารูมี่ (ภาษายาฮาซาร์ มาเลเซีย) รวบรวมโดย ตนกู กูดิน ยะโก๊บ และได้มอบให้ ดร.อิสมาแอล ฮาบัด เรียบเรียงเป็นบทความ
คุณสวาสดิ์ พิพิธภักดี ได้รับบทความชิ้นนี้จาก ตนกู กูดิน ยะโก๊บ ซึ่งเป็นหลานเขยของพระพิพิธภักดี และได้มอบหมายให้อาจารย์ซาเฮด อับดุลเลาะห์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถอดแปลเป็นภาษาไทย
ตนกู กูดิน ยะโก๊บ เป็นหลานเขยของตนกู อับดุลรอหมาน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญอยู่ในรัฐเคดาห์ ส่วน ดร.อิสมาแอล ฮาบัด ผู้เรียบเรียงเป็นภาษารูมี่ ตามคำบอกเล่าของตนกู กูดิน ยะโก๊บ เป็นคนรัฐเคดาห์ เช่นกัน คณะผู้จัดทำขอขอบพระคุณคุณสวาสดิ์ พิพิธภักดี และคุณสุภาวดี ดิษพงษ์ ที่ช่วยประสานงานติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องจนได้แหล่งที่มาของบทความชัดเจนขึ้น

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏว่าศาสนาอิสลามได้เข้ามาในปัตตานีก่อนเข้าไปยังมะละกา และปัตตานีก็ได้กลายเป็นรัฐอิสลาม ศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้
สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดี โดยมีอ่าวอันกว้างใหญ่ซึ่งเหมาะแก่การเป็นที่กำบังแก่เรือเพื่อหลบพายุและคลื่นลม ทำให้ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษต่างก็พากันเข้ามาตั้งสำนักงานสาขาเพื่อค้าขายในต้นศควรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.) โดยเหตุนี้ปัตตานีจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ
ปัตตานีก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากเคดาห์ ต้องทำสงครามกับสยามติดต่อกันมาหลายครั้ง จนทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตและทุกข์ทรมานเป็นจำนวนมาก
ปัตตานีนั้น มีความแตกต่างไปจากเมืองอื่นๆ ในละแวกนี้ ตรงที่ปัตตานีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชินี (ระตู) ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๕๙๔
เมืองปัตตานีแบ่งออกเป็น ๘ เขตการปกครอง (อำเภอ) ซึ่งประกอบด้วย

๑.  อำเภอเมือง
๒.  โคกโพธิ์
๓.  หนองจิก (โต๊ะยง)
๔.  ยะรัง
๕.  ยะหริ่ง (ยามู)
๖.  ปะนาเระ
๗.  มายอ
๘.  สายบุรี (ตะลุบัน)
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระตูองค์แรกคือ ระตูฮีเยา (๑๕๙๔ - ๑๖๑๖) ถัดมาก็เป็น ระตูบีรู (๑๖๑๖ - ๑๖๒๔) หลังจากนั้นคือ ระตูอุงงู (๑๖๒๔ - ๑๖๓๕) และองค์สุดท้ายคือ ระตูกูนิง (๑๖๓๕ - ๑๖๘๘)
ในสมัยการปกครองของระตูบีรู กษัตริย์สยามได้วางแผนเพื่อทำศึกกับปัตตานีอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการแก้แค้น เพราะเคยพ่ายแพ้มาก่อนหน้านี้แล้ว ทางฝ่ายปัตตานีก็เตรียมพร้อมโดยการบรรจุกระสุนในปืนใหญ่จำนวนสามกระบอก โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ชื่อ ลิ้ม โต๊ะ เกียน

หลังจากระตูกูนิงสิ้นพระชนม์ ระยาบาการ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีเชื้อสายของเจ้าเมืองกลันตันขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองปัตตานี และตั้งแต่นั้นมาไม่มีการรุกรานจากไทยเลย
(...ไม่ชัด...) ได้เกิดสงครามระหว่างปัตตานีกับไทยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นปัตตานีอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่าน มูฮัมมัด (ไม่ชัด) ในปี ๑๗๙๕ ปัตตานีแพ้สงครามจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของไทย

อนึ่ง รายาเปอเริมปูวัน เปอร์ลิส (มเหสี) ของเจ้าเมืองเปอร์ลิส คนปัจจุบัน และอนุชาของท่าน คือ ฯพณฯ ตึงกูอะฮฺหมัด ริทาอุดดิน มีเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี (อำเภอเมือง) และสายบุรี (ตะลุบัน) ส่วนมเหสีของสุลต่านกลันตันเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองยะหริ่ง (ยามู)
จะเห็นได้ว่าชาวปัตตานีมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่ไม่เคยขาดตอนเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในฐานะความเป็นครอบครัวมลายู และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเชื้อพระวงศ์ระหว่างปัตตานีกับรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกลันตัน เคดาห์ และเปอร์ลิส

มีเรื่องบอกเล่าต่อกันมาว่า (ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้ผู้เขียนได้ทราบเรื่องราวจากแม่ยายของผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นผู้มีเชื้อสายของเจ้าเมืองยะหริ่ง) ลิ้ม โต๊ะ เกียน ตามที่ได้ระบุมาแล้วในตอนต้นนั้นเป็นเจ้าชายจากเมืองจีน (จากมณฑลใดนั้นไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัด) เจ้าชายองค์นี้ได้เดินทางมาจากเมืองจีน เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองเมือง หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น คือ พระอนุชาของท่าน
ลิ้ม โต๊ะ เกียน จึงออกเดินทางจากเมืองจีน ลงมาจนถึงปัตตานีและอาศัยอยู่เป็นการถาวรที่ปัตตานีที่ตันหยงลูโละ ลิ้ม โต๊ะ เกียน เชี่ยวชาญในการสร้างปืนใหญ่และดินปืน จึงเป็นเหตุให้เจ้าเมืองในขณะนั้นรับไว้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปืน

ลิ้ม โต๊ะ เกียน หลงรักเจ้าหญิงของปัตตานีท่านหนึ่ง มีนามว่า "แนจาฮายา" ลิ้ม โต๊ะ เกียน จึงรับนับถือศาสนาอิสลาม แล้วแต่งงานกับแนจาฮายา

คนปัจจุบันเรียก ลิ้ม โต๊ะ เกียน ว่า โต๊ะ อาโกะ (Tok Agok) จากการแต่งงานดังกล่าว Tok Agok (ลิ้ม โต๊ะ เกียน) ได้ลูก ๒ คน คือ แวยูโซ๊ะ (เรียกกันว่า โต๊ะกีโต๊ะแวยูโซ๊ะ) และอีกท่านหนึ่งไม่เป็นที่ทราบกันว่าชื่ออะไร แต่ลูกหลานของเขาใช้นามสกุลว่า Mekong Sedi (แม่กองสือดี) ซึ่งยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยามู ส่วน โต๊ะ อาโกะ นั้นท่านเสียชีวิตเมื่อไรก็ไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่สุสานยังอยู่ที่ตันหยงลูโละ

โต๊ะ อาโกะ เป็นผู้สร้างมัสยิดกรือเซะ ดังที่เห็นในรูป
ในช่วงระยะเวลาของการสร้างมัสยิดกรือเซะนั้น น้องสาวของ ลิ้ม โต๊ะ เกียน ที่มีชื่อว่า ลิ้ม โก เนียว ได้เดินทางมาจากเมืองจีนเพื่อตามหาพี่ชาย เมื่อพบแล้วก็ชวนพี่ชายกลับไปเมืองจีน แต่พี่ชายปฏิเสธ เพราะท่านได้นับถือศาสนาอิสลามแล้วและได้สมรส อีกทั้งยังกำลังก่อสร้างมัสยิดหลังหนึ่งอยู่
ลิ้ม โก เนียว โกรธมากเพราะพี่ชายไม่ยอมกลับไปเป็นเจ้าเมืองตามคำขอร้อง
เหล่านี้เป็นเหตุทำให้เกิดการสาบแช่งเพื่อให้มัสยิดโดนฟ้าผ่า (อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงทราบ)

มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่า ในสมัยก่อนนั้นมัสยิดแห่งนี้ถูกฟ้าผ่าสามครั้ง หลังถูกฟ้าผ่าก็ได้รับการซ่อมใหม่ และก็ถูกฟ้าผ่าอีก เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ทางด้าน ลิ้ม โก เนียว ในเมื่อความพยายามทุกวิถีทางในการชักชวนพี่ชายให้กลับไปเมืองจีนไม่สำเร็จ ก็รู้สึกผิดหวังและเสียใจเป็นที่สุด เลยตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยการแขวนคอกับต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ไม่ไกลไปจากมัสยิดมากนัก และได้รับการฝังในสุสานใกล้เคียงมัสยิด ดังที่เห็นในภาพ

ปัจจุบันสุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีชื่อเสียงมาก เป็นสถานที่ที่ชาวไทยชาวจีนเป็นจำนวนมากมากราบไหว้อธิษฐานขอพรอยู่เป็นประจำ พอที่จะคาดกันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี ค.ศ. ๑๗๙๐

ในปี ค.ศ. ๑๗๙๕ แวยูโซ๊ะ (โต๊ะกีโต๊ะแวยูโซ๊ะ) ยังเล็กอยู่ ท่านถูกจับไปเป็นเชลย ถูกพาไปกรุงเทพฯ และเป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าเมืองสยาม ถูกส่งไปเรียนในวัดรวมกันกับเด็กอื่นๆ ท่านมีความเฉลียวฉลาดมากจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า(เด็ก)วัด
เมื่อโตขึ้นมาแล้วก็ถูกส่งกลับมายังปัตตานี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง
หลังจากการถึงแก่กรรมของแวยูโซ๊ะแล้ว บุตรคนโตซึ่งมีชื่อว่า รายอนิเมาะ (Raja Nik) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง (ได้รับสมญานามว่า โตะกูรายอสุลต่าน)
หลังจากโตะกูรายอสุลต่านถึงแก่กรรม บุตรของท่านชื่อ รายอนิโวะ (Tok Nik Wak) ขึ้นมาเป็นเจ้าเมือง (สมญานามว่า โต๊ะ กู ญา - Tok Ku Ja) ในภาษาไทยเรียกว่า พระยาพิพิธเสนามาตย์)
รายอนิโวะ (หรือ พระยาพิพิธเสนามาตย์) มีบุตร ๓ ท่านและธิดาอีกหลายท่าน
บุตรคนโตชื่อ ตนกูมุกดา (เป็นที่รู้จักในนาม โต๊ะ กู พระ - Tok Ku Prak หรือ พระพิพิธภักดี) ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการที่จังหวัดสตูลในสมัยเดียวกับท่านตนกูอับดุลเราะห์หมานปุตราเป็นนายอำเภอที่เกาะลังกาวี ทั้งสองเป็นสหายที่สนิทกันมาก
รายอนิโวะ (พระยาพิพิธเสนามาตย์ หรือ โต๊ะ กู ญา - Tok Ku Ja) ถึงแก่กรรม ๓ วัน หลังจากทหารญี่ปุ่นยึดปัตตานี (ธันวา ค.ศ. ๑๙๔๑)
ตนกูมุกดา (โต๊ะ กู พระ) มีบุตรชาย ๓ ท่าน และบุตรี ๓ ท่าน
ตนกูฮามิด บุตรคนที่สองของตนกูมุกดา - Ton Ku Muda เป็นบิดาของมเหสีของสุลต่านกลันตันปัจจุบัน(ตนกู กูดิน ยะโก๊บ, วารสาร รูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 มกราคม-เมษายน 2534, หน้า 42-45
http://www.kananurak.com/mcontents/marticle.)

 

      
ที่มา : เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง http://www.kananurak.com/mcontents/articlelist.php?Ntype=2
PREVIOUS     NEXT