ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี

ที่มา : มัลลิกา คณานุรักษ์. 2530.ไม่ปรากฎเลขหน้า

คนทั่วไปรู้ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาอย่างสั้นๆ และบางครั้งก็ไม่ค่อยตรงกันนัก ในฐานะที่เป็นคนในตระกูล "คณานุรักษ์" และได้รับการขอร้องจากญาติคือคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ที่อยากให้คนทั่วไปได้รู้ประวัติของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ละเอียดถูกต้อง รวมทั้งผู้ที่สร้างศาลเจ้าเป็นครั้งแรกให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับนั้นเป็นคนในต้นตระกูล คณานุรักษ์ นี่เอง
ขุนพจน์สารบาญ บุตรชายคนที่สองของคุณพระจีนคณานุรักษ์ เล่าให้คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ผู้เป็นหลานปู่ฟังตามที่คุณพระจีนคณานุรักษ์บันทึกไว้เป็นภาษาจีนซึ่งได้สูญหายไปในชั้นลูก และคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ได้เล่าให้ผู้เขียน (รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์) ฟังอีกต่อหนึ่งเพื่อเผยแพร่ดังนี้
ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นกำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม ในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราวๆ พ.ศ. ๒๐๖๕ - ๒๑๐๙ มีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" ซึ่งรับราชการอยู่ที่อำเภอ มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาลิ้มโต๊ะเคี่ยมถึงแก่กรรมจึงได้ย้ายมารับราชการที่เมื่องจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่นๆ เฝ้าดูแลมารดา
เล่ากันว่าในช่วงระยะนั้นมีโจรสลัดญี่ปุ่นบุกปล้นและเข้าตีเมืองตามชายฝั่งของจีน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวจีนก็ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงถูกทางราชการประกาศจับ ทำให้ต้องจำใจหลบหนีออกจากประเทศจีนไปกับพรรคพวกหลายคนไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมาได้เปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า โดยได้นำสินค้าจากประเทศจีนบรรทุกเรือสำเภามาขายที่ประเทศไทย และท่าเรือสุดท้ายที่มาขายสินค้าคือ เมืองกรือเซะ (ปัจจุบันคือ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมื่อง จังหวัดปัตตานี)
เจ้าเมืองผู้ครองเมืองกรือเซะสมัยนั้นเป็นชาวไทยมุสลิม มีธิดาที่งามเลิศอยู่นางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของพ่อค้าในสมัยก่อนเมื่อนำเรือสินค้าเข้าไปจอดที่เมืองใดก็มักจะนำผ้าแพรพรรณและสิ่งของสวยๆ งามๆ ที่มีค่าขึ้นไปถวายเจ้าผู้ครองเมืองเป็นของกำนัลเพื่อผูกไมตรี ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้ความสนิทสนมเป็นกันเองอย่างดีเป็นพิเศษต่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม
เนื่องจากลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นชายหนุ่มรูปงามอีกทั้งยังมีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ หลายด้าน แม้แต่ฝีมือการรบพุ่งก็เก่งกล้าสามารถ จึงเป็นที่สนใจของธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ ซึ่งลิ้มโต๊ะเคี่ยมเองก็ต้องตาต้องใจในความงามที่เป็นเลิศของนางอยู่ก่อนแล้ว โดยที่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็สนับสนุนอยากได้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาเป็นเขย ในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมและธิดาเจ้าเมืองกรือเซะจึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามฝ่ายธิดาเจ้าเมือง เพราะยึดถือความรักเป็นใหญ่ รวมทั้งลูกเรือที่มากับลิ้มโต๊ะเคี่ยมทั้งหมดก็ไม่กลับประเทศจีน ยอมอยู่กับลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นนายที่เมืองกรือเซะ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นคนไทยมุสลิมในเมืองกรือเซะ (ในปัจจุบันยังเหลือร่องรอยให้เห็นว่าชาวไทยมุสลิมแถบบ้านกรือเซะจะมีผิวขาวแบบคนจีน ซึ่งจะสวยและหล่อกว่าชาวไทยมุสลิมแถบอื่นเพราะได้เปรียบในเรื่องผิวนั่นเอง)
ลูกเรือที่เป็นลูกน้องของลิ้มโต๊ะเคี่ยมทุกคนล้วนมีฝีมือในเชิงรบพุ่ง และมีฝีมือในเชิงดาบ โดยเฉพาะนายท้ายเรือ (ต้นหน) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการหล่อปืนใหญ่ได้ ซึ่งปืนเป็นอาวุธจำเป็นในการรบพุ่งสมัยนั้นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ใช้ดาบและปืนเป็นอาวุธสำคัญ เจ้าเมืองกรือเซะเองก็เห็นความจำเป็นนี้เช่นกัน จึงได้สั่งให้หล่อปืนใหญ่ด้วยทองแดงเพื่อไว้ใช้ป้องกันเมือง ๑ กระบอก ครั้นเมื่อหล่อเสร็จได้ทดลองยิงปรากฏว่าปืนแตกใช้การไม่ได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมในฐานะผู้อำนวยการหล่อปืนใหญ่จึงสั่งการให้หล่อใหม่อีกครั้ง คราวนี้สำเร็จได้ปืนใหญ่ ๓ กระบอกชื่อ "ศรีนครี", "มหาเหล่าหลอ" และ "นางปัตตานี" หรือ "นางพญาตานี" เล่ากันว่านายท้ายเรือ (ต้นหน) ที่เป็นผู้หล่อปืนเหล่านี้ ได้จบชีวิตด้วยปืนนางพญาตานีในวันทดลองยิง ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้งชัด บ้างก็เล่าว่าผู้ที่จบชีวิตในวันทดลองยิงปืนเป็นลิ้มโต๊ะเคี่ยมเอง ปัจจุบันปืนใหญ่นางพญาตานีกระบอกนี้ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร

ที่มา : มัลลิกา คณานุรักษ์. 2530.ไม่ปรากฎเลขหน้า

หลายปีต่อมา มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งอยู่ที่ประเทศจีนไม่เห็นบุตรชายกลับมาจากการค้าขายตามปกติ ก็มีความคิดถึงอีกทั้งเป็นห่วงจนไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวอีกคนหนึ่งต่างก็มีความสงสารมารดา ประกอบกับความเป็นห่วงพี่ชายที่ไม่ส่งข่าวมาถึงทางบ้านเลย จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชายเพื่อจะพากลับบ้านให้ได้ โดยให้สัญญากับมารดาว่า ถ้าไม่สามารถพาพี่ชายกลับมาก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือรบพุ่งในเชิงดาบจำนวนประมาณ ๗๐ คน ออกเดินทางโดยใช้เรือสำเภาติดตามมาจนถึงประเทศไทย โดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชายเรื่อยลงมาทางใต้จนถึงหน้าเมืองกรือเซะจึงได้ทอดสมอหยุดเรือที่อ่าวหน้าเมือง
ฝ่ายเมืองกรือเซะเข้าใจว่าเป็นเรือของข้าศึกจะยกมาตีเมืองจึงส่งทหารออกไปต่อสู้ แต่ทุกครั้งที่ออกไปต่อสู้ทหารถูกฆ่าตายพ่ายแพ้กลับมา เจ้าเมืองกรือเซะเห็นว่าทหารไม่มีฝีมือพอที่จะชนะข้าศึกได้ อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าอาสาออกรบ จึงได้ขอร้องลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นบุตรเขยกับพวกที่มาจากประเทศจีนออกไปต่อสู้แทน ปรากฏว่าการรบพุ่งเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือทัดเทียมกัน และฝีมือเพลงดาบของลิ้มกอเหนี่ยวกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเรียนมาจากสำนักอาจารย์เดียวกัน เพียงแต่คนละรุ่น ในการออกรบลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวแต่งกายเป็นผู้ชาย ส่วนลิ้มโต๊ะเคี่ยมแต่งกายแบบไทยมุสลิม และเป็นเวลากลางคืน ต่างฝ่ายต่างจำกันไม่ได้ เมื่อรบกันเป็นเวลานานไม่มีใครแพ้ชนะ อีกทั้งยังสงสัยว่าทำไมเพลงดาบจึงเหมือนกัน จึงได้เอ่ยถามกันขึ้นตามแบบธรรมเนียมจีน จึงได้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน และได้สั่งให้ยุติการรบชวนกันเข้าไปพบเจ้าเมืองกรือเซะ เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบก็ยินดีจัดงานเลี้ยงต้อนรับ
ฝ่ายลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวพำนักอยู่ในเมืองกรือเซะเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ชวนลิ้มโต๊ะเคี่ยมพี่ชายกลับประเทศจีน เพราะมารดาคิดถึง แต่ถูกพี่ชายปฏิเสธทั้งๆ ที่ได้รบเร้าแล้วหลายครั้งจึงทำให้แค้นใจและน้อยใจในตัวพี่ชาย และมองเห็นแล้วว่าพี่ชายคงไม่ยอมกลับแน่นอน ซึ่งในช่วงระยะนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมกำลังเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดอยู่ด้วย ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ตัดสินใจสละชีวิตตนเองประท้วงพี่ชาย โดยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ โดยก่อนตายได้สาปแช่งไว้ว่า ขอให้การสร้างมัสยิดที่พี่ชายทำอยู่ไม่มีวันสำเร็จ ส่วนน้องสาวลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อเห็นพี่สาวฆ่าตัวตายก็เลยฆ่าตัวตายตาม และลูกเรือที่มาด้วยทั้งหมด เห็นนายฆ่าตัวตายก็พากันฆ่าตัวตายตามนาย โดยวิธีลงเรือแล่นออกไปในทะเลแล้วกระโดดน้ำตายหมดทุกคน เหลือทิ้งไว้แต่เรือสำเภา ๙ ลำ ลอยอยู่ในทะเล ซึ่งเมื่อขาดการดูแลก็ชำรุดและจมทะเลคงเหลือไว้แต่เสากระโดงเรือ ซึ่งทำด้วยต้นสนชูอยู่เหนือน้ำทะเล ๙ ต้น บริเวณดังกล่าวต่อมาได้ชื่อว่า "รูสะมิแล" เป็นภาษามลายู ซึ่งได้มาจาก "รู" แปลว่า "สน" "สะมิแล" แปลว่า "เก้า" รวมความแปลว่า สนเก้าต้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ฝ่ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชาย เมื่อรู้ว่าต้องสูญเสียน้องสาวทั้ง ๒ คนไปเพราะตนเองก็โศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก และได้จัดพิธีศพตามประเพณีจีนอย่างสมเกียรติให้ โดยทำเป็นฮวงซุ้ย อยู่ที่บ้านกรือเซะ ปัจจุบันมีการบูรณะเฉพาะฮวงซุ้ยของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันี้ เมื่อเสร็จงานพิธีศพน้องสาวแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ได้ก่อสร้างมัสยิดที่สร้างค้างต่อไป พอสร้างจวนจะสำเร็จเหลือยอดโดมก็ถูกฟ้าผ่ายอดโดมพังทลายหมด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ยังไม่ยอมแพ้เพียรพยายามสร้างต่ออีก ๓ ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายทุกครั้ง ในที่สุดจึงยอมแพ้หมดความพยายามที่จะสร้างต่อไป แม้แต่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็บังเกิดความกลัวในอภินิหารตามคำสาปแช่งจนไม่มีใครกล้าสร้างต่อจนถึงปัจจุบันนี้ และปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว มัสยิดแห่งนี้สร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบันก็เกือบสามร้อยปีแล้ว

หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยวสิ้นชีวิตแล้ว ได้เกิดอภินิหารที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย ด้วยวิญญาณของลิ้มกอเหนี่ยวได้สิงสถิตอยู่ที่นั่น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานที่นั่นก็จะหายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามใหม่ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนับแต่นั้นมา
คลิกชมวีดิทัศน์"ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว"

PREVIOUS      NEXT