ศาลเจ้าเล่งจู่เกี้ยง (ต่อ) |
ที่มา : ภาพพิธีกรรมงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดย ทศพร คณานุรักษ ์ http://www.kananurak.com/mcontents/
|
วัดที่กัปตันจีนสร้างตามจดหมายเหตุข้างต้นก็คือ วัดบางน้ำจืด ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า วัดตานีนรสโมสร |
พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) ที่มา : ภาพพิธีกรรมงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดย ทศพร คณานุรักษ ์ http://www.kananurak.com/mcontents/ |
ศาลเจ้าแห่งนี้ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ทั่วไป ผู้ใดมีเรื่องทุกข์ร้อนก็มักจะไปขอให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วย หรือถ้าต้องการทราบเรื่องเกี่ยวกับกิจการค้าขายว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็ไปเสี่ยงทายล่วงหน้าโดยวิธีเขย่าไม้เซียมซี แล้วไปดูคำทำนายในใบเซี่ยมซีซึ่งมีตัวเลขตรงกัน จะทำให้ทราบได้ว่าจะมีโชคหรือไม่ หรือถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ขอสลากยาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแล้วนำไปซื้อตัวยาจากร้านขายยามาต้มรับประทาน ได้กล่าวแล้วว่ามีการสมโภชแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวทุกปี หลังตรุษจีน ๑๔ วัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีมโนห์รา งิ้ว และร้านค้าต่างๆ มาขายของมากมายอย่างครึกครื้น แต่ก่อนวันแห่ ่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวคือในเดือน ๓ ขึ้น ๑๑, ๑๒ และ ๑๓ ค่ำ ทุกปีจะมีการสมโภชพระกวนอูกับพระเซี่ยงเต้เอี่ย ซึ่งเป็นพระประจำตระกูลคณานุรักษ์ที่หลวงสำเร็จกิจกรจางวางเมืองปัตตานี ผู้เป็นบิดาของคุณพระจีน คณานุรักษ์นำมาจากประเทศจีน ซึ่งเดิมอัญเชิญประทับไว้ที่เหมืองที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ และมีการสมโภชอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี คนงานในเหมืองแร่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนต่างก็เคารพสักการะ พระประจำตระกูลคณานุรักษ์ ภายหลังได้อัญเชิญมาประทับไว้ที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู สมัยก่อนบ้านแถวถนนปัตตานีภิรมย์ ริมน้ำตลอดถึงแถวถนนอาเนาะรูทั้งหมดเป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้แก่หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เมืองปัตตานี เมื่อครั้งทำความดีความชอบอาสาออกรบ ครั้งที่มีข้าศึกมาประชิดเมืองสงขลา (เดิมหลวงสำเร็จกิจกรฯ อยู่สงขลา) ภายหลังลูกหลาน ได้รับแบ่งปันมรดก พากันขายแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงยังคงเหลืออยู่บางช่วงของถนนปัตตานีภิรมย์และ ถนนอาเนาะรูเท่านั้น ซึ่งคนเก่าแก่รุ่นก่อนรู้ดีว่าเป็นของคนในตระกูลคณานุรักษ์ และในช่วงที่สมโภชพระกวนอูกับพระเซี่ยงเต้เอี่ยนั้นมีการอัญเชิญพระหมอ กับน้องพระหมอ และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มาประทับที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรูด้วย โดยอัญเชิญมาปีละ ๒ องค์ วิธีอัญเชิญนั้นใช้วิธีนั่งสมาธิจิตติดต่อ ปัจจุบันผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ เช่นสมมุติว่าปีนี้นั่งสมาธิจิตแล้วจะทราบว่า ๒ องค์ใดที่จะมาประทับคือ อาจเป็นพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) กับน้องสาวเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือบางปีก็อาจเป็น เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องพระหมอ (ถ้ามีการเปลี่ยนเป็นองค์อื่นซึ่งไม่ตรงกับที่คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ นั่งสมาธิจิตติดต่อจะไม่มา เคยมีการพิสูจน์มาแล้ว นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์จริงๆ) มีมโนห์ราเล่นที่หน้าบ้าน ให้พระทั้ง ๔ องค์ชมพอถึงเดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำก็จะย้ายมโนห์ราจากบ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู ู มาเล่นที่หน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เดิมเล่นกันนานเพราะมีการแก้บนโดยใช้มโหราห์แสดง ถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัจจุบันกำหนดให้เล่นต่อเนื่องกันเพียง ๘ คืนเท่านั้น พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เป็นพระผู้ใหญ่ที่สุดในศาลเจ้าเล่งจู่เกี้ยง เดิมในงานสมโภชแห่ ่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีการแสดงอภินิหารเดินไต่บันไดดาบ ซึ่งหวาดเสียวมาก ภายหลังทางราชการขอร้องให้ระงับ คงเหลือแต่พิธีลุยน้ำและลุยไฟเท่านั้น ในงานดังกล่าวจะมีประชาชนจากทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงที่เคารพนับถือศรัทธา ในองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หลั่งไหลมาเคารพสักการะและเฝ้าชมบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พิธีเริ่มตั้งแต่ ่เวลาเช้าประมาณ ๐๖.๐๐ น. โดยมีชายหนุ่มชาวจังหวัดปัตตานีหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งประทับบนเกี้ยวจำนวน ๔ คน ออกจากศาลเจ้าพร้อมกับพระองค์อื่นๆ ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ ออกไปแห่ทั่วเมืองปัตตานี พร้อมกับริ้วขบวนที่มีเด็กสาวชาวเมืองปัตตานีวัยต่างๆ เดินถือธูป หาบกระเช้าดอกไม้ และถือธงขนาดใหญ่ มีเด็กชายวัยรุ่นเล็กตีฉิ่ง ตีกลอง และถือธงขนาดเล็ก แทบทุกคนที่เป็นผู้ชาย เมื่อยังเล็กๆ ก็มักจะถือธงวิ่งตามพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) พอโตหน่อยขนาดหามพระได้ก็มักจะหามพระเข้าในขบวนแห่กันจนเป็นประเพณีของชายหนุ่มที่นี่ (จังหวัดปัตตานี) ในระหว่างการแห่นี้พระจะลงลุยน้ำโดยลงน้ำทั้งคนหามและพระลอยไปข้าม แม่น้ำปัตตานีได้โดยไม่จม (แม้ว่าคนหามจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม) เมื่อเสร็จจากการลุยน้ำแล้วก็จะแห่พระ ต่อไปรอบเมือง โดยแวะเข้าไปในบ้านที่ตั้งโต๊ะกระถางธูปเทียนไว้หน้าบ้าน เพราะถ้าบ้านใดตั้งโต๊ะไว้เช่นนี้แสดงว่าต้องการอัญเชิญพระเข้าไปในบ้าน เพื่อความสิริมงคลทำมาค้าขึ้น หลังจากนั้นก็จะกลับศาลเจ้าเพื่อทำพิธีลุยไฟการลุยไฟ ก็คือการที่คนหามทั้ง ๔ เชิญพระซึ่งอยู่บนเกี้ยวเดินลุย เข้าไปในกองไฟใหญ่ ที่ได้นำถ่านไฟมาก่อจำนวนประมาณ ๒๗ กระสอบ (กระสอบข้าวสาร) มาประกอบพิธีที่บริเวณหน้าศาลเจ้า เจ้าหน้าที่ก่อไฟให้ไฟติดถ่านจนร้อนแดงจัด แล้วอัญเชิญพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เข้าลุยไฟเป็นองค์แรก โดยมีพระองค์อื่นๆ ลุยไฟตาม การลุยไฟนี้พระองค์หนึ่งๆ จะลุยไฟกี่เที่ยวก็ได้ คนหามพระสามารถเดินเหยียบผ่านบนกองไฟที่ลุกโชนท่วมศีรษะได้โดยไม่ไหม้ นับเป็นปาฎิหาริย์ที่อัศจรรย์ยิ่ง คนที่จะหามพระลุยไฟได้ต้องมีข้อแม้ว่า ร่างกายจะต้องสะอาด งดเว้นข้องเกี่ยวกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด บางคนจึงมานอนค้างที่ศาลเจ้าโดยนอนเฝ้าคานหามตลอดคืนเพื่อให้ร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง และเป็นการเฝ้าคานหามมิให้ผู้อื่นแย่งไปหามก่อนตนด้วยในทุกปีที่มีการแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น ลูกหลานตระกูลคณานุรักษ์ที่อยู่ในเมืองปัตตานี หรือที่ย้ายไปประกอบอาชีพที่จังหวัดอื่นก็จะถือ โอกาสกลับมาปัตตานี ในวันดังกล่าว เพื่อมาสักการะและช่วยเหลืองานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวด้วยจิตสำนึกว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและพระหมอเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูลคณานุรักษ์ ปัจจุบันคนในตระกูลคณานุรักษ์ที่เป็นผู้ใหญ่ก็มักจะมาช่วยจัดความเรียบร้อยเกี่ยวกับการแบ่งเกี้ยว ให้หามพระเข้าลุยไฟ เป็นการป้องกันการแย่งกันหามพระเข้าลุยไฟ เพราะใครๆ ก็อยากจะหาม ไม่มีผู้จัดแบ่งและควบคุมแล้ว คนที่หามอยู่แล้วจะไม่ยอมแบ่งให้ผู้อื่นหามเลย ผู้ชายชาวปัตตานีทุกคนต่างถือเป็นหน้าที่โดยศรัทธาว่าจะต้องมาหามพระโดยไม่มีการกะเกณฑ์ ขอร้อง หรือบังคับจ้างวานแต่ประการใด ได้กล่าวแล้วว่าเด็กชายอายุระหว่าง ๑๐-๑๕ ปี จะทำหน้าที่ถือธง นำหน้าพระและตีม้าล่อ พอโตเป็นหนุ่มก็จะหามพระ คนที่เคยหามแล้วพอมีอายุมากก็จะทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยงคอยแนะนำรุ่นน้องต่อไป ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จะช่วยเหลือด้านพิธีการต่างๆ ไม่ว่าผู้ใดจะ ไปประกอบอาชีพอะไร ที่ไหน เมื่อถึงวันสำคัญดังกล่าวนี้จะต้องกลับมาที่จังหวัดปัตตานีเพื่อร่วมพิธีนี้ให้ได้ ในงานสมโภชนี้จะมีผู้คนมาทำบุญกันมาก บ้างก็มายืมเงินเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปเป็นเงินก้นถุงสำหรับทำการค้าขาย เช่นปีนี้มาขอยืมไป ๕๐ บาท ปีหน้าก็เอาเงินมาคืน ๑๐๐ บาท เป็นต้น บ้างก็นำของไปถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เช่น ส้ม องุ่น ขนมเต่า ฯลฯ บางคนก็ทำบุญโดยมาขอซื้อขนมหรือของที่มีผู้นำมาถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไป เพื่อเป็นสิริมงคล ในการซื้อของต่างๆ เหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ทอดลูกเบี้ยถามราคา เช่น ขนมเต่าตัวนี้ ี้ราคา ๑๐๐ บาท ได้ไหม หากเป็นคนจนอาจลดราคาลงเป็น ๕๐ บาท แต่ถ้าเป็นคนรวยอาจเพิ่มเป็น ๑๒๐ บาท แต่อาจมีบางคนที่มีฐานะยากจนมาช่วยเหลือและรับใช้งานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เมื่อขอขนมหรือผลไม้เอาไป รับประทาน เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็ให้ไปโดยไม่คิดเงิน บางคนเจ็บป่วยไม่สบายได้บนบานไว้ เมื่อหายแล้วจะแก้บน เป็นสร้อยคอ แหวน ซึ่งเป็นทองคำแท้ๆ เริ่มตั้งแต่คุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างศาลเจ้าเพื่อให้พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับนั้น มีคนในตระกูล คณานุรักษ์เป็นผู้ดูแลจัดการศาลเจ้าแห่งนี้ตลอดมา โดยเริ่มแรกก็เป็นคุณพระจีนคณานุรักษ์เอง ต่อมามอบให้บุตรชายคนที่สาม คือ ขุนพิทักษ์รายาเป็นผู้ดูแล ภายหลังขุนพิทักษ์รายามอบให้ ้นายดิเรก คณานุรักษ์ผู้เป็นบุตรดูแล และปัจจุบันนายสมพร วัฒนายากร ซึ่งมีมารดาเป็นเชื้อสายคณานุรักษ์ และเป็นบุตรเขยของนายดิเรก คณานุรักษ์ เป็นผู้ดูแลและจัดการ โดยแบ่งหน้าที่แก่กรรมการฝ่ายต่างๆ ช่วยจัดการอีกต่อหนึ่ง นั่นคือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจังหวัดปัตตานี ซึ่งต้นตระกูลคณานุรักษ์เป็นผู้สร้าง ยังคงอยู่ในความดูแลรักษา ของคนในตระกูลคณานุรักษ์อยู่ และปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเอาใจใส่จากทางราชการในจังหวัดปัตตานีเป็นอย่างดี |