ที่มา : มัลลิกา คณานุรักษ์. 2530.ไม่ปรากฎเลขหน้า

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ปัตตานีมา ตั้งแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซูก๋ง" ตามหลักฐานที่จารึกอยู่ในศาลเจ้า ปรากฏว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันชัยมงคล ปีบวนเละที่ ๒ ศักราชราชวงศ์เหม็ง ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด 

 

ครั้งหนึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ หัวหน้าคนจีนในเมืองปัตตานี ได้ป่วยด้วยโรคอย่างหนึ่งรักษากับหมอหลวงมานานก็ไม่หาย ไมว่าจะเปลี่ยนหมอกี่คนมาแล้วก็ตาม เมื่อหมดหนทางจึงได้กราบไหว้ถามพระเซ๋าซูกง หรือที่รู้จักกันในนามว่า พระหมอ ซึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ ได้สร้างศาลเจ้าเล็กๆ ให้ประทับอยู่ใกล้ๆ บ้านของท่านที่หัวตลาด (ปัจจุบันคือ ที่ถนนอาเนาะรู) พระเซ๋าซูกงได้บอกคุณพระจีนคณานุรักษ์ว่าต้องไปขอให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วยรักษาจึงจะหายป่วย
เกี่ยวกับประวัติของพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) นั้นสันนิษฐานว่าคงจะได้รับเชิญมาจากประเทศจีน โดยพ่อค้าจีนที่เดินทางมาค้าขายทางเรือสำเภาระหว่างประเทศจีน กับสิงคโปร์และไทย และเรือสำเภาที่อัญเชิญพระเซ๋าซูกงมาคงจะถูกพายุพัดอับปางแถวปากอ่าวปัตตานี พระเซ๋าซูกงซึ่งทำด้วยแก่นไม้จึงได้ลอยเข้ามาในแม่น้ำปัตตานี และมีผู้พบท่านที่คลองอาเนาะซูงา ซึ่งเป็นคลองในตัวเมืองปัตตานี ใกล้กับสะพานปูนซีเมนต์ในตลาดปัตตานี โดยวันหนึ่งมีชายไทยมุสลิมพายเรือผ่านมาพบเข้าเห็นพระเซ๋าซูกงลอยอยู่ในน้ำประกอบกับองค์ของพระเซ๋าซูกงมีสีดำสนิท ชายคนนั้นจึงเข้าใจว่าเป็นท่อนไม้ ต้องการนำติดมือไปหวังจะใช้เป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร จึงได้เอามีดขอฟันลงบนศีรษะของพระเซ๋าซูกง ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาทันที และทันใดนั้นพระเซ๋าซูกงได้ประทับทรงชายไทยมุสลิมคนนั้น ชายไทยมุสลิมคนนั้นจึงได้กระโดดลงไปในน้ำแล้วอุ้มองค์เซ๋าซูกงขึ้นมา
ภายหลังคุณพระจีนคณานุรักษ์ทราบข่าวจึงได้มาอัญเชิญพระเซ๋าซูกงไปประทับในศาลเจ้าที่คุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างไว้ที่หัวตลาดใกล้บ้าน เป็นที่เลื่องลือในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเซ๋าซูกง เจ้าพิธีการไต่บันไดดาบในอดีตและเจ้าพิธีลุยน้ำลุยไฟในปัจจุบัน
ในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ - ๔ ในปราสาทพระเทพบิดรและสุมนชาตินิพนธ์ (หน้า ๑๑๗ - ๑๑๘) (ผู้เขียนได้เอกสารจดหมายเหตุรายวันฯ จากคุณจำเริญ วัฒนายากร ผู้เป็นญาติ) ได้กล่าวถึงคุณพระจีนคณานุรักษ์ และพระเซ๋าซูกง ไว้ดังนี้
"( วันจันทร์ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ เวลาสี่โมงเช้าเรือทอดสมอที่หน้าเมืองตานี เจ้าเมืองกรมการเมืองตานีมาคอยรับเสด็จถึงเรือโดยเร็ว เสด็จไปประทับที่เรือเวสาตรี ทรงครึ่งยศทหาร เราก็แต่งครึ่งยศตามเสด็จไป ผู้ที่มานั้น พระยาตานีตาย พระศรีบุรีรัฐพินิต ๑ พระพิพิธ ๑ เมืองยิริ่ง ๑ พระโยธานุประดิษฐ์ ๑ เมืองสาย พระยาสาย ๑ พระวิเศษวังชา ๑ ประทานตราภัทราภรณ์ ผู้ช่วยทั้งสี่คนคนละดวง แล้วเสด็จกลับเรืออุบล วันนี้เป็นวันคล้ายกับวันประสูติสมเด็จแม่ ที่เรือเวสาตรีได้ยิงสลุต ๒๑ นัด )
สองโมงเศษเสด็จขึ้นเมืองตานี เมื่อถึงท่าเขาลงมาคอยรับเสด็จทั้งผู้ชายผู้หญิง ทรงพระดำเนินไปตามตลาดจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้รับเสด็จ ทำดี ดูเข้าใจไทยมาก การรับรองแข็งแรง ของถวายก็มาก ข้างใน พวกผู้หญิงก็มาถวายของมาก มีฝนตกเล็กน้อย แล้วเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งมาประทับที่วัดของจีนจูหลาย กัปตันจีนสร้าง มีพระสงฆ์อยู่ ๑๔ รูป โบสถ์ทำอย่างจีน พระเข้าบ้านแขกไม่ได้ รับสั่งให้นิมนต์มาถวายเงิน สมเด็จแม่ก็ถวายด้วย แล้วประทานเงินกัปตันจีนไว้ห้าชั่ง ให้ทำศาลาการเปรียญ เป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือ ให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำด้วย
เสด็จกลับจากวัด ล่องมาประทับที่แพที่ช่วยกันปลูกไว้รับเสด็จ เป็นพลับพลาหน้าบ้านกัปตันจีน เสด็จเข้าประตูบ้านจีน ทรงพระดำเนินไปจนถึงศาลเจ้าซูก๋อง แล้วเสด็จไปตามตลาด จะเสด็จไปทางไหนคนตามดูแน่น กัปตันจีนดูรับรองแข็งแรง พี่สาว (คือนางเม่งจู โกวิทยา) ก็เดินตามอยู่เสมอ ทูลหม่อมจะทรงซื้ออะไรเป็นไม่ยอมให้ทรงซื้อ ถวายร่ำไป เย็นเสด็จกลับต้องเข็นเรือตามร่องน้ำ อุตส่าห์ออกมาขุดร่องน้ำไว้ เรือมาถึงเรือพระที่นั่ง มีควันแต่ไม่มาก วันนี้ประทานสัญญาบัตรจีนจูหลายซึ่งเป็นกัปตันจีนในเมืองตานีเป็นหลวงจีนคณานุรักษ์ หัวหน้าจีนในเมืองตานี พวกเจ้าเมืองกรมการตามส่งเรือพระที่นั่ง "

PREVIOUS       NEXT