สถานภาพของมะโย่งในปัจจุบัน
                สถานภาพของมะโย่งในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นมะโย่งในรัฐกลันตันหรือในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย 
ต่างก็อยู่ในสภาพรอเวลาเตรียมพร้อมที่จะหายตายไปจากสังคม  โอกาสที่จะมีการสืบสานรับช่วงถ่ายทอดต่อไปนั้น
ดูจะว่างเปล่า  ด้วยปัจจัยหลาย ๆ  อย่างในสภาพสังคมปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้การละเล่นชนิดนี้อยู่รอดต่อไปได้อย่าง
สง่างาม  ปัจจัยดังกล่าวคือ
                ๑.  ความเชื่อในศาสนาอิสลาม  เมื่อหลายปีมานี้การละเล่นมะโย่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเล่นที่ขัดกับ
หลักคำสอนในศาสนาอิสลามทำให้นักวิชาการและนักวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซียต้องจัดการสัมมนาทางวิชาการ
หาข้อพิสูจน์ว่ามะโย่งขัดกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลามจริงเท็จมากน้อยเพียงใด  คำกล่าวหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นใน
บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน  แต่ไม่รุนแรงมากเท่ากับในรัฐกลันตันของมาเลเซีย  แต่มีผลต่อการคงอยู่
ของการละเล่นชนิดนี้ด้วยเช่นกัน  ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจัดงานแสดงหรืองานการละเล่นภายในหมู่บ้าน  หรืออำเภอ 
เพราะเกรงว่าจะถูกครหาว่าไม่สนใจ คำสอนในศาสนาอิสลามที่ห้ามไม่ให้มีการละเล่น  การแสดงมะโย่งทุกวันนี้
จึงไม่มีการป่าวประกาศให้ทราบว่าจะมีการแสดงเกิดขึ้น  การแสดงจึงอยู่ในสภาพหลบ ๆ  ซ่อน ๆ  และที่แสดงกัน
อย่างเปิดเผยก็จะเป็นการแสดงเพื่อการสาธิตให้ชม ข้อถกเถียงกันว่ามะโย่งขัดกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลามนั้น
มีส่วนถูกต้องแต่ไม่ใช่ทั้งหมด  และยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังหาบทสรุปไม่ได้  แต่ที่แน่ ๆ  คือศาสนาอิสลามมิได้ห้าม
ไม่ให้มนุษย์สร้างวัฒนธรรมเพราะวัฒนธรรมและศาสนาเป็นสองสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว  แยกออกจากกันไม่ได้
  และมนุษย์ต้องการความสุขสมบูรณ์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ  หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปการดำรงชีวิตก็ลำบาก
  ดังคำอธิบายของคุณซีดี  ฆาซัลบา (๑๐)   (Sidi Gazalba)  ว่า  ในการดำรงชีวิตของอิสลามนั้นอันดับแรกคือ
  ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน  นั่นคือวัฒนธรรม  ศาสนามุ่งหาความสงบสุขที่เป็นนิรันดร์
ในโลกหน้า  และวัฒนธรรมสร้างความสงบสุขในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้  แต่การปฏิบัติตามวัฒนธรรม
ในโลกนี้จะส่งผลถึงโลกหน้าด้วย  ศาสนาและวัฒนธรรมจึงเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้
                พระเจ้าเป็นผู้สร้างศาสนาอิสลาม  และได้วางหลักการกฎระเบียบได้ปฏิบัติโดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิ์แก้ไข 
แต่วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามค่านิยม
ของสังคมได้ตลอดเวลา  แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายในกรอบของศาสนาด้วย  เช่นอิสลามกำหนดให้สตรีแต่งกายให้มิดชิด  แต่อิสลามไม่ได้กำหนดแบบเสื้อให้มนุษย์เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของตนเองโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนา
เช่นเดียวกันกับการมีชีวิตอยู่ในสังคม  หากมุสลิมทุกคนมุ่งใฝ่หาความสุขแต่ในโลกหน้าอย่างเดียว  โดยไม่สนใจวัฒนธรรมซึ่งเป็นกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการคนในสังคมให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
และอยู่เป็นสังคม  หากละเลยจุดนี้ไปเท่ากับว่าอยู่โดยลำพังอย่างผู้โดดเดี่ยวไร้ความสุข
                เนื่องจากการศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายมลายูคือการศึกษาศาสนาอิสลามที่พวกเขานับถือ 
ตลอดจนความเชื่อต่าง ๆ  ที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติกันมา  ดังนั้น  การศึกษาวัฒนธรรมการละเล่นมะโย่งของพวกเขาจำเป็น
จะต้องเข้าใจบริบทเหล่านี้ด้วย  จึงจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดความคงอยู่ของการละเล่นมะโย่งในปัจจุบัน
มีแนวโน้มที่จะสูญสลายไป  ศาสนาอิสลามมีส่วนทำลายศิลปะนี้ด้วยอย่างไร  มากน้อยเพียงใด  ที่น่าสนใจคือ  การแสดงมะโย่งถูกโจมตีว่าขัดแย้งกับศาสนาอิสลามในประเด็นต่อไปนี้
          ๑.๑  การใช้คาถาในพิธีกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามแต่ไปเกี่ยวข้องกับผี  วิญญาณ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมและผสมผสานกับความเชื่อในลัทธิฮินดู  และสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  ดังที่ปรากฏในคาถา
เบิกโรงความดังนี้
                เฮอาตูตาเนาะ  ยือมาแลตาเนาะ  แมแนอากูนิง  อยาแงปูเนาะ
                อาแวติงงี  รายอดีกาปง  อยาแงออเสาะอากูนิง
                มานอตะปะคราหมะ  ฮูลู  อิเล  ยาตก  ตะนาเงะ  อยาแงละแคนะ
                กาลูอาดอสาปอ  แคนะ  มิเตาะตูรน
                ความหมาย  คือ  พระภูมิผู้เป็นเจ้าพสุธา  เทพยดาผู้เป็นใหญ่ในห้วงเวหาอากาศ  พระราชาธิราชเหนือหมู่บ้าน  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจตุรทิศการละเล่นค่ำคืนนี้  ขอได้โปรดช่วยอภิบาล  บันดาลให้บรรลุความสำเร็จอย่ามีอุปสรรคมาขัดขวาง (๑๑)      ผู้เขียนขออนุญาตแปลความหมายของคาถาบทนี้ใหม่ในมุมมองของคนมลายูว่าดังนี้
                เจ้าผีพสุธาทั้งที่มีนามว่าฮาตูตาน็อฮและฌือมาแลตาน็อฮการละเล่นของข้านี้อย่าให้เสียหายได้  อาแวติงงี 
ผีใหญ่ในหมู่บ้านนี้  อย่าได้สร้างความเสียหายให้กับการละเล่นของข้า  ที่ใดที่เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์  ทั้งที่อยู่ทางทิศเหนือ 
ทิศใต้  ทิศตะวันตก  และทิศตะวันออก  ขอจงอย่าได้ทำลายหากมีผู้ใดคิดทำลายขอให้ล้มเลิกความตั้งใจไป
                หากพิจารณาจากความหมายและน้ำเสียงของคาถาบทนี้แล้วมิได้เป็นการวิงวอนขอความคุ้มครอง  แต่เป็นการบอกกล่าวห้ามปรามไม่ให้ผีทั้งหลายที่มีแผ่นดินเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างมารบกวนหรือก่อกวนสร้างความเสียหาย
ให้กับการละเล่นมะโย่ง  ซึ่งความเชื่อเรื่องผีนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนกำเนิดของศาสนาฮินดู  และในปัจจุบันนี้ชนมลายูเชื่อว่าผีคือซาตานหรือไชตอนในศาสนาอิสลามนั่นเอง  ซึ่งคอยเป็นปฏิปักษ์กับผู้ที่นับถือ
ศาสนาอิสลามอยู่เรื่อยมา (สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. 2540, 107-110)
_____________________________

                (๑๐)  Sidi Gazalba  “Agama dan Kebudayaan : Di Mana Letaknya Baris Pemisahan in”  Dewan Budaya  11  (November 1982) p. 52-53

                (๑๑)  อนันต์  วัฒนานิกร  แลหลังเมืองตานี  (กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาการพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า  ๗๑.

 

 
<< PREVIOUS >>NEXT