กำเนิดของมะโย่ง
                มะโย่ง  (Mak Yong)  คือศิลปะการละครร่ายรำมลายูชนิดหนึ่ง  ที่มีลักษณะของการผสมผสานทางพิธีกรรม  ความเชื่อ  การละคร  นาฏศิลป์ และดนตรีเข้าด้วยกัน  มีความกลมกลืนจนเป็นศิลปะขั้นเลิศของมลายู  มะโย่งจัดเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นมลายู  ที่สามารถชมกันได้ในรัฐกลันตัน  ตรังกานู  และเคดาห์  (ไทรบุรี)  ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย  บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย  คือ  ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  ไกลจนถึงเกาะสุมาตราเหนือของประเทศอินโดนีเซียคนไทยเชื้อสายมาลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกการละเล่นมะโย่งว่า  “เมาะโย่ง”  ตามสำเนียงภาษามลายูถิ่นปัตตานี
                การละเล่นมะโย่งเชื่อว่ามีกำเนิดมาจากความเชื่อในเรื่องของพระเจ้า  และแรงบันดาลใจ  ตามแนวทฤษฎีนิรุกติศาสตร์คำว่า  “มะโย่ง”  มาจากคำว่า  “มะฮียัง” (๒)   (Mak Hiang)  ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของแม่โพสพ  ซึ่งตรงกับชื่อของแม่โพสพของชาวฮินดู-ขาว  ว่า  เทวีศรี”  (๓)       (Dewi Seri)  ทำให้เกิดการสันนิษฐานว่ามะโย่งเป็นการละเล่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมบูชาธรรมชาติ  เป็นการบูชาแม่โพสพ  หรือบูชาขวัญข้าว  (Semangat padi)  ชาวกลันตันเชื่อว่ามะโย่งมีกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งสมัยของท่านนบีอาดัมผู้เป็นบรรพบุรุษของมนุษยชาติ  บางกระแสเชื่อว่ามะโย่งมีกำเนิดมาจากลัทธิความเชื่อในภูตผีวิญญาณ  (animism)  และแนวทางการรักษาโรคด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์เพราะพบว่ามีการว่าจ้างคณะมะโย่งไปแสดงเพื่อการรักษาโรคที่บ้านของผู้ป่วย

ภาพการแสดงมะโย่งของชาวอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) .
ที่มา : มะโยง หรือเมาะโย่ง
http://www.geocities.com/banchengkao/07.html

ในทางประวัติศาสตร์นั้น  มะโย่งเป็นศิลปะการละครรำมลายูที่ไม่อาจจะระบุให้ชัดเจนได้ว่าเป็นวัฒนธรรมหลวงหรือเป็นวัฒนธรรมราษฎร์สเวเตนแฮม (๔)      (Swettenham)  เชื่อว่ามะโย่งไม่ได้มีกำเนิดมาจากราชสำนักและการแสดงมะโย่งมีขึ้นในคริสต์สตวรรษที่  ๑๙  ในขณะที่นักวิชาการของมาเลเซียหลายคนเชื่อว่ามะโย่งมีแสดงอยู่ในราชสำนักอาณาจักรปัตตานีในคริสต์ศตวรรษที่  ๑๗  ทั้ง ๆ  ที่ในหนังสือฮิกายัตปัตตานี  (Hikayat Patani)  หรือพงศาวดารปัตตานี  ตามคำบอกเล่าของนายปีเตอร์  ฟลอริส  (Peter Flores) 
ไม่ได้ระบุว่าการแสดงที่เขาได้รับชมในอาณาจักรปัตตานีสมัยพระนางเจ้าฮีเฌา (Raja Hijau)  ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗  นั้นเป็นการแสดงมะโย่งแต่อย่างใดเพียงแต่บอกว่าเป็นการแสดงที่ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน  สำหรับหลักฐานที่มีอยู่ในปัตตานีปัจจุบันเป็นแต่เพียงคำบอกเล่าจากคณะมะโย่ง  ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามะโย่งมีกำเนิดมาจากหมู่เกาะชวาโดยชนเผ่าบาตั๊กปูเต็ฮ  (Batak Putih)  เป็นเจ้าของการเล่นชนิดนี้  แล้วแพร่สู่อาณาจักรปัตตานี
_____________________________

                (๒)  Mubin Sheppard, Taman Indera : Malay Decorative Arts and Pastimes (Kuaia Lumper : Oxford University Press, 1977), p. 58.
                (๓)  Ghulam Sarwar Yousof,  “Drama-tari Mak Yong Dari Kelantan-Satu Pengenaian”  Dewan Budaya 9  (September 1979), p. 31.
                (๔)  เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๓๑.