ขนบนิยมของการแสดงละครรำมะโย่ง
                ๑.  โอกาสที่แสดง  จากการศึกษากำเนิดของมะโย่งที่มีที่มาจากการบูชาขวัญข้าวหรือแม่โพสพ  ทำให้การแสดงมะโย่งมีขึ้นเนื่องในโอกาสประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ  เช่นในงานพิธีกรรมบูชาขวัญข้าว  (ยกเลิกไปแล้ว)  งานแก้บนสะเดาะเคราะห์  และเนื่องในงานประเพณีเทศกาลเฉลิมฉลองและงานรื่นเริง  เช่น  ประเพณีงานแต่งงาน  งานเข้าสุนัด  งานเมาลิด  งานฮารีรายา  งานเทศกาลประจำปีของจังหวัด  งานต้อนรับบุคคลสำคัญระดับประเทศ  (ปัจจุบันไม่ใคร่มี)
                ๒.  โรงละครมะโย่ง  มะโย่งจะแสดงในโรงละครที่สร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ  เรียกว่า  บังซัล  (Bangsal)  หรือ  ปังงง  (Panggung)  ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสาและหลังคาโรง  ใช้จากมุงหลังคาเพื่อกันแดดกันน้ำค้าง  พื้นเวทียกสูงจากพื้นเล็กน้อยและปูด้วยเสื่อจักสาน  เพื่อเป็นที่นั่งของนักแสดง  และนักดนตรี  แต่ในปัจจุบันจะสร้างเวทียกพื้นสูงมากเพื่อให้ผู้ชมได้ชมกันอย่างทั่วถึง  เป็นโรงละครเปิดกลางแจ้ง  โรงละครจัดเป็นสถานที่ ๆ  สำคัญก่อนเปิดการแสดงทุกครั้งจะต้องเริ่มต้นกระทำพิธีกรรมการเบิกโรงที่เรียกว่า  “กูกา  ปังงง”  (Buka panggung)  ในภาษามลายูกลาง  เป็นพิธีกรรมที่ขาดมิได้  เพราะเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตของผู้แสดงและผู้ชมได้  เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงทุกครั้งจะต้องกระทำพิธีกรรมปิดโรงด้วยอีกเช่นกัน  ในการแสดงแต่ละครั้ง  โรงละครจะทำหน้าที่เป็นสถานที่อยู่อาศัยของตัวละครในแต่ละฉาก  อาจจะเป็นพระราชวัง  สวนดอกไม้  ป่าเขา  หรือกระท่อมแตกต่างกันไป

ป้าเขียว (บทเจ้าเงาะ) และเพื่อนตัวละครเอกที่มีชื่อประจำคณะโรงเจ้าพระยานคร
ที่มา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548,245

๓.  เครื่องดนตรีประกอบการแสดง  ในการแสดงมะโย่งแต่ละครั้งแต่ละคณะจะต้องมีเครื่องดนตรีที่เป็นหัวใจของการแสดง  คือ  รือบับ  (Rebab)  จำนวน  ๑  คัน  คนไทยเรียกว่าซอสามสาย  ฆง  (gong)  หรือฆ้องขนาดใหญ่  ๑  คู่  กึนดังมลายู  (gendang Melayu)  หรือกลองมลายู  ๑  คู่  และจือแระ  (Cerek)  แตระหรือกรับอย่างน้อย  ๒  คู่  การบรรเลงจะไม่มีการอ่านตัวโน้ตจะเล่นโดยอาศัยการจดจำเป็นหลัก  และเครื่องดนตรีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและทำหน้าที่ต่าง ๆ  กันคือ
                   ๓.๑  รือบะ  หรือ  ซอสามสาย  ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดใช้บรรเลงเพื่อแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า  การแสดงมะโย่งกำลังจะเริ่มขึ้น  เป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้ชม                                  ๓.๒เครื่องดนตรีทุกชิ้นทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมสร้างบรรยากาศสร้างอารมณ์ในแต่ละองก์ของการแสดงให้เป็นธรรมชาติ  ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตามบทละครได้ง่าย
                   ๓.๓  เป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการแสดงในแต่ละองก์  บอกจังหวะการเข้าออกของตัวละคร
                นักดนตรีคนสำคัญของการแสดงมะโย่ง  คือ  ผู้เล่นซอสามสาย  ที่นอกจากจะสีซอแล้วบางครั้งยังทำหน้าที่เป็นโต๊ะโบโม็ฮหรือครูหมอประจำคณะมะโย่ง  บางคณะจะรับบทเป็นนักแสดงเสียเองด้วยก็มี  มักจะเป็นตัวตลก

นักบรรเลงเครื่องดนตรีประกอบมะโย่ง ที่มา : เมาะโย่ง  ศิลปะการแสดงมลายูในแดนใต้ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=100872

                  ๔.  ตัวละครสำคัญ ๆ  ในการแสดงมะโย่ง  ประกอบด้วย
                      - ปะโย่ง  (Pak Yong)  ตัวละครเอกฝ่ายชายรับบทเป็นพระราชาผู้ครองนคร  เป็นตัวชูโรง  บางครั้งเรียกว่า  ‘ปะโย่ง  ตูวา’
                     - ปะโย่ง  มูดา  (Pak Yong Muda)  พระเอกของเรื่องเป็นเจ้าชายเป็นโอรสของปะโย่ง  ซึ่งเป็นพระราชา
                     -  มะโย่ง  (Mak Yong)  ตัวละครเอกฝ่ายหญิง  รับบทเป้นพระมเหสีของพระราชา
                     -  ปูตรีมะโย่ง  (Puteri Mak Yong)  นางเอกของเรื่อง  รับบทเป็นเจ้าหญิงพระธิดา

                    -  พราน  (Peran)  ตัวตลกของเรื่องคนสำคัญที่มีบทบาทเหนือกว่าตัวตลกธรรมดา  เพราะนอกจากจะเป็นพี่เลี้ยงของพระราชาแล้วบางครั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับพระราชาด้วย
                    - ดายัง-ดายัง  (Dayang-dayang)  เป็นตัวประกอบฝ่ายหญิงทำหน้าที่เป็นนางข้าหลวง  หรืออีนัง-อีนัง  (Inang-inang)  ของมะโย่งและปูตรีมะโย่ง  อีกทั้งยังเป็นนางรำและนักร้องประสานเสียงให้กับคณะดนตรีประกอบการแสดงมะโย่งด้วย

 
<< PREVIOUS >> NEXT