ประวัติความเป็นมามโนราห์ (ต่อ )
ที่มา : ทะเลสาบสงขลา : มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรม. 2543, 159
โนราห์   (วิทยาลัยครูสงขลา)
                โนราห์  เป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ทีมีมาไม่น้อยกว่า  ๔๐๐  ปี  ตามตำนานเล่าว่ามีเมืองเมืองหนึ่ง  เจ้าเมืองชื่อว่าพระยาสายฟ้าฟาด  มเหสีชื่อว่าแม่ศรีมาลา  มีลูกสาวชื่อว่านางนวลทองสำลี  คืนหนึ่งนางนวลทองสำลีฝันว่านางเทวดามาบอกท่ารำ  และเครื่องประโคม  ซึ่งได้แก่  ปี่  ทับ  กลอง  โหม่ง  ฉิ่ง  กรับ  พอตื่นนอนนางก็จำได้ทั้งหมด  สั่งให้ทหารสร้างเครื่องประโคม  แล้วนางก็ทดลองรำก็รำได้ตามที่ฝัน  แล้วก็ฝึกให้นางพี่เลี้ยงรำด้วย  เรียกรำชนิดนี้ว่า  โนราห์
                อยู่มาวันหนึ่ง  นางอยากเสวยเม็ดบัว  ครั้นเสวยแล้วก็ตั้งครรภ์  ครั้นพระราชบิดาทรงทราบก็เรียกไปถาม  แต่นางไม่สามารถบอกได้ว่าสามีคือใคร  พระราชบิดาโกรธมาก  จึงจับนางและพี่เลี้ยงลอยแพ  แพก็ลอยไปถึงเกาะกะชัง  (ปัจจุบันเป็นตำบลกะชังอยู่ในเกาะสี่เกาะห้าในทะเลสาบสงขลา) เทวดาก็มาเนรมิตที่พักอาศัยให้  ครั้งถ้วนทศมาส  นางก็คลอดลูกเป็นชาย  ครั้นกุมารโตนางก็สอนให้รำโนราห์  และเมื่อกุมารเกือบเป็นหนุ่มก็ลามารดาจากเกาะเที่ยวรำโนราห์จนทราบข่าวถึงพระยาสายฟ้าฟาด  จึงได้เข้ารำหน้าพระที่นั่ง  ในที่สุดพระยาสายฟ้าฟาดก็รู้ว่าเป็นหลานตน  จึงประทานนามว่าขุนศรัทธา  และประทานเครื่องทรงให้  ไดแก่ เทริด  ทับทรวง  สังวาล  ห้อยหน้า  ห้อยข้าง  ปั้นแหน่ง  สนับเพลา  แล้วพระยาสายฟ้าฟาดสั่งให้อำมาตย์ไปเชิญนางนวลทองสำลีกลับเมือง  แต่นางไม่ยอมกลับเพราะถือว่าบิดาเนรเทศแล้ว  พระยาสายฟ้าฟาดสั่งให้อำมาตย์ไปเชิญอีกครั้งหนึ่ง  และสั่งว่าถ้าไม่กลับให้จับมา
                นางนวลทองสำลีพอรู้ข่าวว่าอำมาตย์มาเชิญอีกก็หนีไปอยู่กับฝูงกินรี  อำมาตย์ตามไปจนพบแต่นางไม่ยอมกลับ  อำมาตย์จึงไล่จับมัด  จึงเกิดท่ารำขึ้นชนิดหนึ่งเรียกว่า  “รำคล้องหงส์”  (ซึ่งจะเป็นการรำชุดที่ ๔   ในครั้งนี้)
                เมื่อจับนางได้แล้วก็พาลงเรือ  ครั้นมาถึงปากอ่าว  จระเข้ก็ขึ้นขวางเรือ  อำมาตย์จึงต้องฆ่าจระเข้  จึงเกิดท่ารำอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า  “รำแทงจระเข้” ( ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด. 2529,50-51 )

มโนราห์กฤตชัย สินธุ์สาย

มโนห์รา
               มโนห์ราเป็นการละเล่นพื้นเมืองซึ่งมีลีลาในการเล่นน่าดูมาก  ผู้แสดงจะต้องมีความสามารถในการรำ  การร้องเป็นอย่างดี  ร่างกายทุกส่วนอ่อนโยน  มีจังหวะสม่ำเสมอ
                แต่เดิมใช้ผู้แสดงราว  13  คน  คือฝ่ายชายมีตัวแสดงเป็นพระสุธน  และนายพราน  11  คน  ฝ่ายหญิงมีนางมโนห์รา  กับนางรำอย่างต่ำ  3  คน  และไม่เกิน  6  คน  ตัวประกอบตามสมควร  ลูกคู่  5  คน  แต่เดี่ยวนี้มโนห์ราคณะหนึ่งมีถึง  30  คนก็มี
                ขนาดของโรงมโนห์ราที่ใช้แสดง  5  คูณ  8  เมตร  ไม้กั้นฝาปล่อยโล่งทั้งสี่ด้าน  ไม่ต้องยกพื้นใช้กระดานปูติดพื้นดินแล้วใช้เสื่อปูบ้าง  แต่ในปัจจุบันนี้ยักย้ายถ่ายเทลูกโรงไม่ถูกตามแบบเดิมกันเสียมาก  การแต่งตัวก็มิได้แต่งเครื่องกษัตริย์อย่างแบบเก่า  กลับแต่งคล้ายลิเกไป
                เมื่อโหมโรงพอสมควร  ก็จะมีผู้รำออกมารำ  ติดต่อกันแล้วแต่จะกำหนดกันในคราวหนึ่ง ๆ  ว่ากี่คนแล้วก็แสดงเรื่อง  อาจจะเป็นวรรณคดีหรือเรื่องที่ประพันธ์ขึ้นใหม่  บางทีก็แล้วแต่ผู้ว่าจ้างต้องการจะให้แสดงเรื่องอะไรก็ได้
                ระยะเวลาการแสดงขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างและคณะมโนห์ราตกลงกัน  ถ้าเป็นการประชันโรงจะแสดงกันจนตลอดคืนทีเดียว
                ตัวอย่างกลอนมโนห์รา
                                                ฤกษ์งามยามดีปานี้ชอบยามพระเวลา
                                ชอบฤกษ์ร้องเชิญตำเหนินราชครูถ้วนหน้า
                                ราชครูของน้องลอยแล้วให้ล่องเข้ามา
                                ราชครูของข้ามาแล้วพ่อย่าไป
(วิเชียร ณ นคร. 2523,81)

<<< Previous >>> Next