ตามตำนานกล่าวว่า  เครื่องดนตรีหรือเครื่องประโคมที่ใช้ประกอบการแสดงมโนห์รานั้น  เทพยดาได้เนรมิตให้แก่เทพสิงหร  เครื่องดนตรีดังกล่าวได้แก่

๑.  ปี่  ตัวปี่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง  เช่นไม้รัก  ไม้มะปริง  ไม้มะม่วง  หรือไม้ประดู่  รูปร่างมีลักษณะเหมือนปีไฉน  หัวปี่ที่ทำให้เกิดเสียงนั้นทำด้ยใบโตนด  ชาวปักษ์ใต้เรียกหัวปี่ชนิดนี้ว่า  “พวดปี่”  เสียงปี่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้รำ  สามารถรำท่าต่าง ๆ  ได้อย่างอ่อนช้อย  และทำให้ผู้ชมหรือผู้ฟังเกิดความจับใจได้มาก

๒.  กลอง  กลองมโนห์ราชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “กลองชาตรี”  รูปร่างคล้ายกลองทัด  แต่มีขนาดเล็กกว่า  ตัวกลองทำด้ยแก่นของไม้ขนุน  เส้นผ่าศูนย์กลางของหน้ากลองประมาณ  ๑๐-๑๒  นิ้ว  ส่วนสูงประมาณ  ๑๘  นิ้ว  ส่วนสูงประมาณ  ๑๘  นิ้ว  หน้ากลองหุ้มด้วยหนังลูกวัว  หรือลูกความ  บางท้องถิ่นใช้หนังค่างมาหุ้มก็มี  ใช้หมุดไม้หรือที่ชาวบ้านภาคใต้เรียกว่า  “ลูกสัก”  มาตอกยึดหนังให้ตึงทั้งสองหน้า  ไม่ตีกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง  (กลองนี้ตามตำนานเรียก  “กลองเภรีสุวรรณโลก”)

๓.  ทับ  ตัวทับส่วนใหญ่ทำด้วยแก่นไม้ขนุน  กลึงจนได้รูปสวยงามคล้ายกับกลองยาว  แต่มีขนาดเล็กกว่า  หุ้มด้วยหนังบาง ๆ  เช่นหนังลูกวัว  หนังลูกความ  หรือหนังค่าง  เช่นเดียวกับกลอง  ขึงหนังทับด้วยด้ายและเชือกหวาย  ทับที่ใช้มีสองใบ  ใบหนึ่งมีเสียงทุ้ม  อีกใบหนึ่งมีเสียงแหลม  มีชื่อเรียกตามตำนานว่า  “น้ำตาตก”  และ  “นกเขาขัน”  นับเป็นเครื่องกำกับจังหวะที่สำคัญที่สุด  เพราะทุกครั้งที่จะเปลี่ยนจังหวะ  ต้องใช้เสียงทับเป็นหลัก

๔.  โหม่ง  แต่เดิมใช้โหม่งฟาก  ซึ่งทำด้วยแผ่นโลหะสองแผ่น  มีขนาด  ๔x๘  นิ้วแขวนตรึงในรางไม้ด้วยเชือกหนังวัว  ปัจจุบันใช้โหม่งซึ่งทำด้วยโลหะผสม  รูปร่างคล้ายฆ้องแต่มีขนาดเล็กกว่า  แขวนอยู่ภายในรูปไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีฝาปิดคล้ายหีบ  เพื่อให้นำติดตัวไปมาได้สะดวก  ไม้สำหรับตีโหม่ง  ตรงปลายหุ้มด้วยยาง  หรือถักด้วยด้ายดิบ  โหม่งลูกหนึ่งมีเสียงแหลม  อีกลูกหนึ่งเสียงทุ้ม

๕.  ฉิ่ง  ทำด้วยโลหะผสม  มีหลายขนาด  ที่นิยมใช้ในการแสดงมโนห์ราเป็นฉิ่งขนาดใหญ่  เป็นเครื่องกำกับจังหวะในการขับบท  และบรรเลงเครื่องประโคมอื่น ๆ

๖.  กรับ  บางแห่งเรียกกรับว่า  “แกระ”  แต่เดิมเป็นกรับพวง  ซึ่งใช้แผ่นไม้ที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน  มาผูกซ้อนกันด้วยเชือก  มีแกนกลางที่ร้อยรับทำด้วยโลหะ  แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้แผ่นไม้สองอัน  ขนาด  ๑x๓  นิ้ว  หนาประมาณ  ๑  นิ้วแทน  ใช้เป็นเครื่องเน้นจังหวะเช่นกัน
ภาพเครื่องดนตรีโนรา ที่มา : โนรา http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_Nakhonsri/โนราห์/music_nora.html
 

<<< Previous >>> Next